เอเจนซีส์ - ทรัมป์ขีดเส้นตาย บังคับ “ไบต์แดนซ์” ต้องขายธุรกิจ “ติ๊กต็อก” ในอเมริกาให้บริษัทอเมริกันภายใน 6 สัปดาห์ เพื่อหลีกเลี่ยงการถูกแบน พร้อมดกับขอ “ค่าแป๊ะเจี๊ยะ” จากดีลนี้เข้าคลัง ขณะที่เหล่าสาวกติ๊กต็อกลั่นจะไม่ยอมนิ่งดูดายให้ผู้นำสหรัฐฯ แบนแอปสุดโปรดของตัวเอง
ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศในวันจันทร์ (3 ส.ค.) ว่า อเมริกาไม่อยากมีปัญหาความมั่นคง เพราะฉะนั้น ติ๊กต็อกจึงต้องถูกโอนมาเป็นกิจการของบริษัทอเมริกัน และเสริมว่า ไมโครซอฟท์กำลังเจรจากับไบต์แดนซ์เพื่อขอซื้อติ๊กต็อกในอเมริกาในขณะนี้
ติ๊กต็อก แอปวิดีโอสั้นที่มีคนใช้ทั่วโลกถึง 1,000 ล้านคน ถูกเจ้าหน้าที่สหรัฐฯ เพ่งเล็งว่า เป็นความเสี่ยงต่อความมั่นคงของชาติเนื่องจากสามารถแชร์ข้อมูลส่วนตัวของชาวอเมริกันนับล้านคนให้หน่วยข่าวกรองจีน แต่ก็ที่ทรัมป์พร้อมกับเจ้าหน้าที่อเมริกันคนอื่นๆ ออกมากดดันเช่นนี้ ก็ทำให้ทางฝ่ายจีนมองว่านี่เป็นการบีบบังคับเพื่อเข้าซื้อผลิตภัณ
ฑ์ดีอนาคตไกลในราคาถูกๆ
ทรัมป์ยังบอกอีกว่า จะให้เวลาไบต์แดนซ์ บริษัทแม่ของติ๊กต็อกจนถึงกลางเดือนหน้าในการบรรลุข้อตกลงขายกิจการ ไม่เช่นนั้นอเมริกาจะแบนแอปติ๊กต็อก พร้อมสำทับว่า กระทรวงการคลังจะต้องได้ส่วนแบ่งจากการซื้อขายกิจการครั้งนี้เนื่องจากรัฐบาลเป็นผู้จัดการให้เกิดดีลนี้ขึ้น
ประธานาธิบดีสหรัฐฯ เปรียบเทียบดีลนี้ว่า เหมือนกับการที่ผู้เช่าใหม่ต้องจ่าย “ค่าแป๊ะเจี๊ยะ” ให้เจ้าของที่ดิน ซึ่งเป็นวิธีปฏิบัติที่ผิดกฎหมายในหลายรัฐ รวมถึงนิวยอร์ก ที่ตั้งอาณาจักรอสังหาริมทรัพย์ของทรัมป์
ทั้งนี้เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา (2) ไมโครซอฟท์ออกแถลงการณ์ยืนยันว่า บริษัทยังคงมุ่งมั่นในการซื้อติ๊กต็อก โดยเป็นไปภายใต้การพิจารณาตรวจสอบด้านความปลอดภัยอย่างสมบูรณ์ และให้ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่เหมาะสมต่ออเมริกา ซึ่งรวมถึงกระทรวงการคลัง
ขณะเดียวกัน รอยเตอร์รายงานว่า ไมโครซอฟท์และไบต์แดนซ์ได้ส่งหนังสือแสดงเจตจำนงต่อรัฐบาลสหรัฐฯ ในการศึกษาข้อเสนอขั้นต้นที่ไมโครซอฟท์จะเข้าซื้อบริการของติ๊กต็อกในอเมริกา แคนาดา ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์
ความกดดันให้ขายธุรกิจของติ๊กต็อกในอเมริกาและประเทศอื่นๆ ทำให้ไบต์แดนซ์ต้องคิดหนัก เพราะหากไม่ยอมขายและถูกแบนจะเท่ากับเป็นการผลักไสผู้ใช้ให้ย้ายไปหาคู่แข่ง โดยบริษัทที่จะได้อานิสงส์มากที่สุดคือ สแนปแชต, เฟซบุ๊ก และทวิตเตอร์
เมื่อวันจันทร์ จาง อี้หมิง ผู้ก่อตั้งไบแดนซ์ ยอมรับว่ากำลังเผชิญหน้ากับการถูกบังคับให้ขายกิจการของติ๊กต็อกในอเมริกา ในข้อความที่ส่งถึงพนักงาน เขายืนยันว่า บริษัทกำลังเร่งหาทางออกที่ดีที่สุด พร้อมยืนยันว่า บริษัทมุ่งมั่นรับประกันความปลอดภัยของข้อมูลลูกค้า ควบคู่กับการทำให้ติ๊กต็อกมีความเป็นกลางและโปร่งใส
ติ๊กต็อกกลายเป็นเป้าหมายล่าสุดของทรัมป์ในสงครามการค้าและการเมืองกับปักกิ่ง โดยแอปนี้ถูกตรวจสอบอย่างเป็นทางการภายใต้เหตุผลด้านความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐฯ เนื่องจากมีการเก็บข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ใช้ทั้งหมด ถึงแม้ติ๊กต็อกบอกว่าข้อมูลของผู้ใช้ที่อยู่นอกประเทศจีนได้ถูกเก็บเอาไว้ในประเทศอื่นๆ แต่พวกนักวิจารณ์บอกว่าตามกฎหมายของจีน ติ๊กต็อกยังมีหน้าที่ในการแบ่งปันข้อมูลหากรัฐบาลจีนเรียกร้อง
วันอังคาร กระทรวงการต่างประเทศจีนโจมตีวอชิงตันว่า ข่มเหงรังแกกันอย่างโจ่งแจ้งไม่มีการปิดบัง
หวัง เหวินปิน โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีนกล่าวหาว่า อเมริกาใช้ข้ออ้างไร้สาระเรื่องความมั่นคงแห่งชาติโดยไม่มีหลักฐานมาทึกทักว่ากระทำผิด ซ้ำยังข่มขู่บริษัทอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งขัดต่อหลักการเศรษฐกิจระบบตลาด และเข้าข่ายสองมาตรฐานกับจุดยืนในการรักษาความเป็นธรรมและเสรีภาพของอเมริกา
ขณะเดียวกัน บรรดาผู้ใช้ติ๊กต็อกในอเมริกาต่างไม่พอใจที่ทรัมป์ขู่แบนแพลตฟอร์มโปรดนี้ บางคนประกาศว่าจะไม่ยอมนิ่งเฉยให้ผู้นำสหรัฐฯ ทำแบบนั้น โดยอ้างอิงบทบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญฉบับที่ 1 ที่ห้ามรัฐบาลปิดกั้นการแสดงความคิดเห็นอย่างเสรี
ทางด้าน 20 ผู้สร้างเนื้อหาบนติ๊กต็อกที่มีผู้ติดตามเกิน 100 ล้านคน โพสต์จดหมายเปิดผนึกบนเว็บมีเดียม คัดค้านการแบนแอปนี้ และเสนอให้แตกกิจการติ๊กต็อกในอเมริกาด้วยการนำหุ้นออกขายให้สาธารณชนหรือขายกิจการให้บริษัทอเมริกันแทน เพื่อให้ระบอบทุนนิยมแก้ปัญหาแทนการใช้อำนาจรัฐ
ผู้ใช้บางคนสงสัยว่า ที่ทรัมป์ไล่เบี้ยติ๊กต็อกเป็นเพราะแพล็ตฟอร์มนี้ได้รับความนิยมในหมู่นักเคลื่อนไหว เช่น กลุ่มผู้ประท้วงต่อต้านการเหยียดเชื้อชาติ
นอกจากนั้น เหล่าแฟนคลับเค-ป็อปและผู้ใช้ติ๊กต็อกยังเคยทำให้การหาเสียงของทรัมป์ที่เมืองทัลซา รัฐโอกลาโฮมา เมื่อเดือนมิถุนายน “กร่อย” มาแล้ว ด้วยการเข้าไปจองตั๋วกั๊กไว้แต่ไม่ไปจริง ทำให้มีคนเข้าฟังการปราศรัยของทรัมป์แค่ไม่กี่พันคน จากที่ผู้จัดการแคมเปญของทรัมป์ทวีตอวดว่ามีคนขอตั๋วเข้าฟังปราศรัยกว่าล้านใบ