xs
xsm
sm
md
lg

ไมโครซอฟท์ยันเดินหน้าซื้อติ๊กต็อก หลังคุยกับ ‘ทรัมป์’ ขณะ ‘จีน’ โวยถูกบังคับขาย

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เอเจนซีส์ - ไมโครซอฟท์ยันเดินหน้าเจรจาซื้อติ๊กต็อก หลังเข้าพบทรัมป์เพื่ออธิบายให้คลายกังวล พร้อมกับย้ำต้องการปิดดีลให้ได้ภายในกลางเดือนหน้า อย่างไรก็ตาม มีเสียงโวยจากฝ่ายจีนว่ากำลังถูกสหรัฐฯใช้เรื่องการเมืองมาบังคับให้ยอมขายของดีๆ ในราคาถูก

ไมโครซอฟท์แถลงในวันอาทิตย์ (2 ส.ค.) ว่า จะเดินหน้าเจรจากับบริษัท ไบต์แดนซ์ ของจีน เพื่อเข้าซื้อกิจการซึ่งอยู่ในอเมริกาของ “ติ๊กต็อก” ต่อไป โดยมีเป้าหมายบรรลุข้อตกลงไม่เกินวันที่ 15 กันยายน

ทางไมโครซอฟท์แถลงเรื่องนี้ ภายหลัง สัตยา นาเดลลา ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหาร (ซีอีโอ) ของบริษัท เข้าพบประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ และยอมรับว่า เป็นการหารือเพื่อมุ่งคลายข้อกังวลของทรัมป์เกี่ยวกับความมั่นคงของชาติเป็นสิ่งสำคัญ

คำแถลงของยักษ์ใหญ่เทคอเมริกันรายนี้มีขึ้น หลังจากทรัมป์ประกาศในวันศุกร์ (31 ก.ค.) ว่า จะสั่งห้ามติ๊กต็อก แอปป์แพลตฟอร์มวิดีโอสั้นที่ได้รับความนิยมอย่างมากโดยเฉพาะในหมู่วัยรุ่นหนุ่มสาว และมีผู้ใช้ราว 1,000 ล้านคนทั่วโลก

วันอาทิตย์เช่นกัน สตีเวน มนูชิน รัฐมนตรีคลังสหรัฐฯ ให้สัมภาษณ์เครือข่ายโทรทัศน์เอบีซี ว่า ติ๊กต็อกซึ่งไบต์แดนซ์ผู้เป็นเจ้าของเป็นบริษัทจีนนั้น ควรต้องขายกิจการหรือไม่เช่นนั้นก็ควรต้องถูกสกัดไม่ให้ใช้งานกันในอเมริกา ขณะที่ ไมค์ พอมเพโอ รัฐมนตรีต่างประเทศ บอกกับ ฟ็อกซ์ นิวส์ ว่า ทรัมป์จะ “จัดการ” ในไม่กี่วันนี้เกี่ยวกับความเสี่ยงด้านความมั่นคงของชาติจากพวกซอฟต์แวร์ที่เชื่อมโยงกับพรรคคอมมิวนิสต์จีน ซึ่งก็รวมถึงติ๊กต็อกด้วย

ด้านติ๊กต็อกปฏิเสธว่า ไม่ได้เป็นเครื่องมือสอดแนมของรัฐบาลจีน โดย วาเนสซา ปัปปาส ผู้จัดการใหญ่ในอเมริกา ประกาศเมื่อวันเสาร์ (1) ว่า บริษัทไม่มีแผนย้ายไปที่อื่น พร้อมทั้งให้สัญญาสร้างงาน 10,000 ตำแหน่ง ในอเมริกาในช่วง 3 ปี เพิ่มเติมจากพนักงาน 1,500 คนที่มีอยู่เดิม

ทว่า ปีเตอร์ นาวาร์โร ที่ปรึกษาอาวุโสของทรัมป์ และเป็นขาประจำวิจารณ์จีนอย่างดุเดือด รวมทั้งยังมีบทบาทสำคัญในการทำสงครามการค้ากับปักกิ่ง เตือนไม่ให้หลงกลติ๊กต็อก และอ้างว่า จีนว่าจ้างล็อบบี้ยิสต์อเมริกันจำนวนมาก บางคนรับหน้าที่เป็นซีอีโอหุ่นให้ ซึ่งเท่ากับพาดพิงถึง เควิน เมเยอร์ อดีตผู้บริหารดิสนีย์ที่ได้รับแต่งตั้งเป็นซีอีโอหรือประธานเจ้าหน้าที่บริหารติ๊กต็อกเมื่อเดือนพฤษภาคม

ด้าน แดเนียล คาสโตร รองประธานกลุ่มคลังสมอง อินฟอร์เมชัน แอนด์ อินโนเวชัน ฟาวน์เดชัน กล่าวเมื่อวันเสาร์ ว่า อเมริกาคือผู้ที่จะต้องสูญเสียมากที่สุดถ้าแบนติ๊กต็อก และสำทับว่า ศูนย์ข้อมูลทั้งหมดของติ๊กต็อกนั้นอยู่นอกจีน และอเมริกาไม่มีหลักฐานว่า บริษัทแห่งนี้เป็นภัยคุกคามความมั่นคงของชาติแต่อย่างใด

ทรัมป์นั้นประกาศว่า จะใช้คำสั่งฝ่ายบริหารแบนติ๊กต็อก หรืออาจใช้กฎหมายอำนาจทางเศรษฐกิจฉุกเฉินระหว่างประเทศที่ให้อำนาจประธานาธิบดีจัดการการค้าระหว่างประเทศในกรณีที่มีภัยคุกคามที่ไม่ปกติจากภายนอกต่อนโยบายต่างประเทศ ความมั่นคงของชาติ หรือเศรษฐกิจของอเมริกา

ทรัมป์ยังบอกในวันศุกร์ ว่า ไม่เห็นด้วยที่บริษัทอเมริกันจะเข้าเทกโอเวอร์ติ๊กต็อก ขณะที่หลายฝ่ายที่เกี่ยวข้อง รวมถึงไบต์แดนซ์เอง คิดว่าเป็นทางออกที่ดีสำหรับเรื่องนี้

อเล็กซ์ สเตมอส อดีตหัวหน้านักวิจัยฝ่ายรักษาความปลอดภัยของเฟซบุ๊กและปัจจุบันเป็นนักวิจัยของมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ทวีตว่า เรื่องนี้ชักจะประหลาด เพราะการขายหุ้น 100% ให้บริษัทอเมริกันจะคลายความกังวลเกี่ยวกับการปกป้องข้อมูลอย่างเหมาะสม และถ้าทำเนียบขาวขัดขวางการขายติ๊กต็อกก็เป็นที่ชัดเจนว่า กรณีนี้ไม่ใช่เรื่องความมั่นคงของชาติ

อย่างไรก็ดี คำขู่ของทรัมป์สร้างความกังวลอย่างมากต่อผู้ใช้ติ๊กต็อก โดยเฉพาะพวกผู้สร้างเนื้อหาที่ทำเงินจากแพลตฟอร์มนี้ ซึ่งหลายคนโพสต์ลิงก์ไปยังบัญชีอินสตาแกรมหรือยูทูบของตนเอง เพื่อไม่ให้สูญเสียผู้ติดตามหากติ๊กต็อกถูกแบน

ในคำแถลงวันอาทิตย์ ไมโครซอฟท์เผยว่า มีแผนต่อยอดจากประสบการณ์ผู้ใช้ติ๊กต็อก และเพิ่มการรักษาความปลอดภัย การปกป้องความเป็นส่วนตัวและความปลอดภัยระบบดิจิทัลระดับโลก

การซื้อติ๊กต็อกจะเปิดโอกาสให้ไมโครซอฟท์บุกตลาดเครือข่ายสังคม จากปัจจุบันที่เป็นเจ้าของแพล็ตฟอร์มเครือข่ายมืออาชีพ ลิงก์อิน และทีมส์ รวมทั้งบริการรับส่งข้อความภายในสำหรับองค์กร

ขณะเดียวกัน หนังสือพิมพ์เดอะ ซัน ของอังกฤษรายงานเมื่อวันจันทร์ (3) ว่า ผู้ก่อตั้งไบต์แดนซ์จะประกาศแผนย้ายสำนักงานใหญ่จากปักกิ่งไปยังลอนดอนภายใต้ข้อตกลงที่ได้รับอนุมัติจากรัฐมนตรีอังกฤษ เร็วๆ นี้ และสำทับว่า การเคลื่อนไหวนี้มีแนวโน้มสร้างความไม่พอใจให้ทรัมป์ที่กำลังพิจารณาแบนติ๊กต็อกในอเมริกา


ทางด้านจีนนั้น จาง อี้หมิง ผู้ก่อตั้งไบต์แดนซ์ เมื่อวันจันทร์ (3) ได้เขียนข้อความส่งถึงพนักงานทั้งหมดของบริษัทโดยระบุว่า
“ในสภาพแวดล้อมปัจจุบัน เราเผชิญหน้ากับความเป็นไปได้อย่างแท้จริงของการถูกบังคับให้ขายธุรกิจในสหรัฐฯของติ๊กต็อก... หรือเจอกับคำสั่งฝ่ายบริหาร (ของทรัมป์) สั่งแบนแอปป์ตัวนี้”  แพนเดลี่ ซึ่งเป็นสื่อด้านข่าวเทคโนโลยีรายงาน

“ขณะเดียวกัน  เรากำลังเผชิญกับความสลับซับซ้อนที่เพิ่มสูงขึ้นทุกทีในทั่วทั้งภูมิทัศน์ทางด้านภูมิรัฐศาสตร์ ตลอดจนแรงกดดันจากภายนอกอันสำคัญยิ่ง พวกทีมงานตอบโต้ของเรากำลังทำงานตลอด 24 ชั่วโมง และกำลังสละทิ้งช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ของพวกเขาในระยะสองสามสัปดาห์ที่ผ่านมาเพื่อทำให้เกิดความมั่นใจว่าจะเกิดผลลัพธ์ที่ดีที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้” ข้อความของจางกล่าวต่อ

จางบอกด้วยว่า  เขาไม่เห็นด้วยเลยกับการถูกบังคับให้ติ๊กต็อกต้องทิ้งบริการในสหรัฐฯไป “เรามีความมุ่งมั่นผูกพันเสมอมาในเรื่องความปลอดภัยของยูสเซอร์, ความเป็นกลางของแพลตฟอร์ม และความโปร่งใส อย่างไรก็ตาม เราเข้าใจการตัดสินใจของพวกเขาในสภาพแวดล้อมทางมหภาคในปัจจุบัน” จางกล่าว

ขณะที่ เฟรด หู ประธานของกลุ่มพรีมาเวรา แคปิตอล กรุ๊ป ซึ่งเป็นผู้ลงทุนรายหนึ่งในไบต์แดนซ์ และเป็นกลุ่มลงทุนในพวกบริษัทนอกตลาดหุ้นกลุ่มหนึ่งที่เป็นที่รู้จักกันดีของจีน กล่าวแสดงความคิดเห็นว่า “การทำดีลแบบที่ฝ่ายวอชิงตันถือปืนจ้องบีบบังคับ อาจเปิดทางให้เกิดการฟ้องร้องค้าความกันอย่างไม่มีที่สิ้นสุด ถ้าหากผลของมันออกมาในทางที่ไม่เป็นผลดีต่อพวกผู้ถือหุ้นภาคเอกชนในปัจจุบัน(ของไบต์แดนซ์)”

เขากล่าวว่า ไมโครซอฟท์นั้นเป็นผู้ซื้อที่น่าเชื่อถือ แต่เขาตั้งคำถามว่าการที่ขายการดำเนินงานส่วนใหญ่ๆ ของติ๊กต็อกออกไป
ในระยะเวลาต้นๆ ที่ติ๊กต็อกกำลังเจริญเติบโตเช่นนี้ จะเป็นผลดีต่อไบต์แดนซ์ไปได้อย่างไร

“มันไม่สมเหตุสมผลเอาเลย ไบต์แดนซ์เป็นเหยื่อผู้บริสุทธิ์ของการเมืองแบบบ้าคลั่งและภูมิรัฐศาสตร์แบบบ้าคลั่งมันเป็นผลลัพธ์ที่น่าเศร้าสำหรับไบต์แดนซ์สำหรับทุนนิยมแห่งผู้ประกอบการ และสำหรับอนาคตของการพาณิชย์ทั่วโลก” หู บอก

ส่วนทางภาครัฐหวัง เหวินปิน โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีน แถลงในวันจันทร์ (3) โดยมุ่งตอบโต้คำแถลงของรัฐมนตรีต่างประเทศพอมเพโอของสหรัฐฯ โดยกล่าวว่าจีนคัดค้านการกระทำใดๆ ของสหรัฐฯที่มุ่งเล่นงานพวกบริษัทซอฟท์แวร์ของแดนมังกรและจีนหวังว่าสหรัฐฯจะสามารถยุตินโยบายแบบเลือกปฏิบัติเช่นนี้
กำลังโหลดความคิดเห็น