เอพี - ไมโครซอฟท์เดินหน้าเจรจาซื้อปฏิบัติการในอเมริกาของติ๊กต็อก แอปวิดีโอสั้นยอดนิยมของจีนที่กลายเป็นประเด็นด้านความมั่นคงแห่งชาติ และเป้าหมายล่าสุดของทรัมป์ โดยหากตกลงกันได้จะเป็นผลดีสำหรับทั้งคู่ เพราะไมโครซอฟท์จะกลายเป็นผู้เล่นสำคัญในวงการโซเชียลมีเดีย ส่วนติ๊กต็อกและบริษัทแม่ คือ ไบต์แดนซ์ จะมีทางออกจากวิกฤตการณ์ในขณะนี้
ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศจากเครื่องบินประจำตำแหน่ง หรือ แอร์ฟอร์ซวัน เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (31 ก.ค.) ว่า จะใช้อำนาจเศรษฐกิจฉุกเฉิน หรือคำสั่งฝ่ายบริหารแบนติ๊กต็อก และบังคับให้ไบต์แดนซ์ของจีนขายบริษัทนี้อย่างเร็วที่สุดในวันเสาร์ (1 ส.ค.)
บลูมเบิร์ก นิวส์ และวอลล์สตรีท เจอร์นัล รายงานโดยอ้างแหล่งข่าวที่ไม่เปิดเผยชื่อว่า คณะบริหารอาจประกาศการตัดสินใจสั่งให้ไบต์แดนซ์ขายหุ้นในติ๊กต็อกเร็วๆ นี้ นอกจากนี้ ยังมีรายงานว่า บริษัทไฮเทคยักษ์ใหญ่และบริษัทการเงินหลายแห่งของอเมริกาสนใจซื้อหรือลงทุนในติ๊กต็อก ขณะที่นิวยอร์ก ไทมส์ และฟ็อกซ์ บิสเนส อ้างแหล่งข่าวที่ไม่เปิดเผยตัวตน รายงานเป็นครั้งแรกเมื่อวันศุกร์ว่า ไมโครซอฟท์กำลังเจรจาซื้อติ๊กต็อก
วันเดียวกันนั้น ติ๊กต็อก ออกแถลงการณ์ว่า ไม่ขอแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับข่าวลือหรือการคาดการณ์ใดๆ แต่มั่นใจในอนาคตระยะยาวของบริษัท ถัดมาอีกวัน วาเนสซา ปัปปาส ผู้จัดการทั่วไปในอเมริกาของติ๊กต็อก โพสต์คลิปสั้นยืนยันว่า บริษัทไม่มีแผนย้ายไปที่อื่น
ไบต์แดนซ์เปิดตัวติ๊กต็อกในปี 2017 ก่อนเข้าซื้อ Musical.ly บริการวิดีโอที่ฮิตในหมู่วัยรุ่นอเมริกันและยุโรป แล้วนำทั้งสองแอปมาผสมรวมกันกลายเป็นตู้หยินที่ให้บริการสำหรับผู้ใช้จีน
วิดีโอที่สนุกสนานและใช้งานง่ายของติ๊กต็อกได้รับความนิยมอย่างมาก กระทั่งถูกบริษัทไฮเทคยักษ์ใหญ่อย่างเฟซบุ๊กและสแนปแชตมองว่า เป็นภัยคุกคามการแข่งขัน โดยติ๊กต็อกเผยว่า มีผู้ใช้ในอเมริกาหลายสิบล้านคนและหลายร้อยล้านคนทั่วโลก
การที่ไบแดนซ์เป็นบริษัทสัญชาติจีนทำให้เกิดความกังวลเกี่ยวกับการเซ็นเซอร์วิดีโอ รวมถึงมีเสียงวิจารณ์ว่า ติ๊กต็อกอาจแชร์ข้อมูลผู้ใช้กับทางการจีน
ติ๊กต็อกปฏิเสธทั้งสองข้อกล่าวหา ซ้ำว่าจ้างอดีตผู้บริหารระดับสูงของดิสนีย์มาเป็นประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหาร (ซีอีโอ) บริษัทในเครือในอเมริกา เพื่อเว้นระยะห่างจากไบต์แดนซ์
เจ้าหน้าที่ความมั่นคงแห่งชาติของอเมริกายังไม่วางใจและเข้าตรวจสอบการซื้อ Musical.ly เมื่อไม่กี่เดือนนี้ ขณะที่กองทัพอเมริกันห้ามลูกจ้างติดตั้งติ๊กต็อกในโทรศัพท์ของรัฐบาล
ความกังวลเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งชาติเหล่านี้ดำเนินควบคู่กับการเข้าจัดการบริษัทจีนหลายแห่ง ซึ่งรวมถึงหัวเว่ยและแซดทีอี โดยคณะบริหารของทรัมป์สั่งให้อเมริกายุติการส่งเสริมเงินทุนในการจัดซื้ออุปกรณ์ของบริษัทเหล่านั้นเพื่อนำไปใช้ในเครือข่ายสื่อสารของอเมริกา รวมทั้งพยายามบีบให้ชาติพันธมิตรแบนหัวเว่ยเนื่องจากกังวลว่า รัฐบาลจีนอาจเข้าถึงข้อมูลของตน แม้หัวเว่ยปฏิเสธก็ตาม
อเมริกาเคยเข้าขัดขวางหรือล้มข้อตกลงโดยอ้างอิงข้อกังวลด้านความมั่นคงแห่งชาติมาแล้ว เช่น การสกัดไม่ให้บรอดคอมของสิงคโปร์ เข้าซื้อบริษัทชิปอเมริกัน ควอลคอมม์ ด้วยราคา 117,000 ล้านดอลลาร์ในปี 2018 เพื่อให้อเมริกาคงความเป็นผู้นำในด้านโทรคมนาคม อีกทั้งยังสั่งให้คุนหลุน เทค ขายหุ้นกรายเดอร์ แอปนัดบอดเกย์ของอเมริกา ที่ซื้อไปเมื่อปี 2016
นอกจากนี้ ยังมีอีกหลายประเทศที่เล่นงานติ๊กต็อก เช่น อินเดียที่เดือนที่ผ่านมาแบนแอปจีนหลายสิบแอป รวมถึงติ๊กต็อก โดยอ้างเหตุผลด้านความเป็นส่วนตัว ขณะที่ทั้งสองประเทศมีความขัดแย้งด้านพรมแดนกัน
อเล็กซ์ สเตมอส อดีตประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายความปลอดภัยของเฟซบุ๊กที่ขณะนี้ศึกษาด้านการรักษาความปลอดภัยระบบอินเทอร์เน็ตที่มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ทวิตเมื่อวันศุกร์แสดงความกังวลที่อเมริกาบีบให้ติ๊กต็อกขายกิจการโดยที่ตัวเองยังไม่มีกฎหมายปกป้องความเป็นส่วนตัวของข้อมูล แต่สำทับว่า ไมโครซอฟท์เป็นหนึ่งในทีมที่มีมาตรการรักษาความปลอดภัยที่ดีที่สุดสำหรับเด็ก ซึ่งถือเป็นกลุ่มผู้ใช้ที่มีความเสี่ยงบนติ๊กต็อกในขณะนี้
ไมโครซอฟท์เป็นผู้เล่นในอุตสาหกรรมโฆษณาดิจิทัลอันดับ 4 รองจากกูเกิล, เฟซบุ๊ก และ แอมะซอน แต่ไม่ถูกตรวจสอบอย่างเข้มข้นจากนักการเมืองและผู้คุมกฎต่อต้านการผูกขาดตลาดของอเมริกาในขณะนี้เหมือนกับเฟซบุ๊กหรือกูเกิล ซึ่งแพทริก มัวร์เฮด นักวิเคราะห์จากมัวร์ อินไซต์ แอนด์ สเตรทเทอจี ชี้ว่า ทำให้ไมโครซอฟท์มีโอกาสมากขึ้นที่จะเข้าซื้อติ๊กต็อกสำเร็จ
รอสส์ เบเนส นักวิเคราะห์ของ อี-มาร์เก็ตเตอร์ ทิ้งท้ายว่า หากเป็นเช่นนั้น ไมโครซอฟท์ที่เคยถูกเพ่งเล็งเรื่องการต่อต้านการแข่งขันเมื่อ 20 ปีที่แล้ว จะมีระบบโฆษณาดิจิทัลที่มีศักยภาพการแข่งขันมากขึ้นในอนาคตอันใกล้