xs
xsm
sm
md
lg

บอร์ด รฟท.เคลียร์ปมงานโยธาไฮสปีด "ไทย-จีน" สั่งเร่งต่อรองรับเหมา 2 สัญญาลุยตอกเข็ม เป้าเสร็จปลายปี 69

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



รฟท.เคลียร์งานโยธารถไฟไทย-จีน บอร์ดสั่งต่อรองราคาสัญญา 4-5 เพิ่ม ส่วน 3-1 จ่อเซ็น ITD หลังศาล ปค.สูงสุดมีคำพิพากษา ลุ้นบอร์ดอีอีซีเคาะแก้สัญญาร่วมทุนฯ "ไฮสปีด 3 สนามบิน" เร่งตอกเข็มช่วงทับซ้อน ปักธงเสร็จปลายปี 69

นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) รฟท.ที่มีนายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก (ขบ. ) เป็นประธาน เมื่อวันที่ 26 ม.ค. 2566 รฟท.ได้รายงานความคืบหน้าโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ระยะที่ 1 เส้นทางกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ระยะทาง 250.77 กม. สัญญาที่ 4-5 ช่วงบ้านโพ-พระแก้ว ระยะทาง 13.3 กม. โดยเสนอขออนุมัติสั่งจ้างผู้เสนอราคาลำดับที่ 3 คือ บริษัท บุญชัยพาณิชย์ (1979) จำกัด (เครือ บมจ.ซีวิลเอนจิเนียริ่ง) ก่อสร้างงานโยธา เนื่องจากผู้เสนอราคาลำดับที่ 1 และ 2 ไม่ยืนราคา โดยจะดำเนินการภายใต้รายงาน EIA ฉบับเดิมที่ได้รับอนุมัติแล้ว เพื่อก่อสร้างโครงสร้างทางวิ่งได้ก่อน ในช่วงรอข้อสรุปสถานีอยุธยาซึ่งอยู่ระหว่างศึกษาจัดทำรายงานผลกระทบด้านทรัพย์สินทางวัฒนธรรม (HIA) ของแหล่งมรดกโลก นครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา เพื่อไม่ให้สัญญาในภาพรวมล่าช้า

รฟท.ได้หารือกรมบัญชีกลาง สำนักงานอัยการสูงสุด ถึงกรณีจัดจ้างผู้เสนอราคา โดยมีเงื่อนไขสัญญาว่า ให้ก่อสร้างทางวิ่งก่อน ส่วนสถานีอยุธยาจะก่อสร้างเมื่อ HIA ศึกษาแล้วเสร็จ ซึ่งระบุว่า รฟท.สามารถทำได้ ขณะที่ รฟท.ได้เปรียบเทียบ หากยกเลิกและเปิดประมูลใหม่ เพื่อรอผลศึกษา HIA นั้น นอกจากจะต้องทำราคากลางใหม่ ซึ่งวงเงินอาจปรับเปลี่ยนไปจากปัจจุบันแล้ว ยังจะต้องใช้เวลาดำเนินการอีกอย่างน้อย 16 เดือน


ทั้งนี้ บอร์ด รฟท.พิจารณาแนวทางที่ รฟท.เสนอแล้ว แต่ยังไม่อนุมัติให้สั่งจ้าง บริษัท บุญชัยพาณิชย์ (1979) จำกัด (เครือ บมจ.ซีวิลเอนจิเนียริ่ง) โดยบอร์ดให้ รฟท.ไปเจรจาต่อรองราคาเพิ่มเติม และให้นำผลกลับมาเสนอบอร์ด รฟท.ในการประชุมเดือน ก.พ. 2566 ซึ่งหากได้รับการอนุมัติพร้อมลงนามสัญญาได้ในเดือนก.พ.-มี.ค. 2566

สำหรับสัญญาที่ 4-5 ช่วงบ้านโพ-พระแก้ว ระยะทาง 13.3 กม. ราคากลางที่ 11,801 ล้านบาท โดย บมจ. อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ หรือ ITD เสนอราคาต่ำสุดที่ 9,913 ล้านบาท ไม่ยืนราคา และผู้เสนอราคาในลำดับที่ 2 ไม่ยืนราคาเช่นกัน ส่วน บริษัท บุญชัยพาณิชย์ (1979) จำกัด ราคาที่ 3 เสนอราคาที่ 10,325 ล้านบาท


@สัญญา 4-5 ศาล ปค.สูงสุดชี้ขาดแล้ว คาดเร่งเซ็นจ้าง ITD

นอกจากนี้ ได้รายงานบอร์ดรับทราบความคืบหน้า กรณีศาลปกครองสูงสุดได้มีคำสั่ง ข้อพิพาทสัญญาที่ 3-1 ช่วงแก่งคอย-กลางดง และปางอโศก-บันไดม้า ระยะทาง 30.21 กม. วงเงิน 9,348 ล้านบาท โดยอยู่ระหว่างรอคำพิพากษาอย่างเป็นทางการ เพื่อจะดำเนินการตามคำสั่งศาล โดยแนวทางคือ เจรจากับ บมจ.อิตาเลียนไทยฯ ภายใต้ชื่อ กิจการร่วมค้า ITD-CREC No.10 JV ที่ได้รับการคัดเลือก ทั้งประเด็นการยืนราคาและเจรจาต่อรองราคาตามขั้นตอน เพื่อเร่งสรุปและจะนำเสนอบอร์ดอนุมัติต่อไป


ส่วนความคืบหน้าโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน (สุวรรณภูมิ-ดอนเมือง-อู่ตะเภา) การแก้ปัญหาการทับซ้อนของโครงการฯ และโครงการรถไฟไทย-จีน สัญญา 4-1 ช่วงบางซื่อ-ดอนเมือง และการแก้ปัญหาผลกระทบจากโควิด-19 ประเด็นการชำระเงินค่าสิทธิเอกชนร่วมลงทุนในโครงการรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์ ช่วงพญาไท-สนามบินสุวรรณภูมิ นั้นอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของคณะทำงานที่มี นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ปลัดกระทรวงการคลัง เป็นประธาน หลังมีข้อสรุปต้องเสนอคณะอนุกรรมการบริหารการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กบอ.) ที่มี นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธาน และเสนอคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ที่มี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานพิจารณาอนุมัติต่อไป จากนั้นจึงจะลงนามแก้ไขสัญญา

นายนิรุฒกล่าวว่า รฟท.พร้อมส่งมอบพื้นที่ตามขอบเขตก่อสร้าง ให้บริษัท เอเชีย เอรา วัน (เอกชนคู่สัญญา) รถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน โดยได้เร่งรัดการรื้อย้ายสาธารณูปโภค การเวนคืน ช่วงพญาไท -ดอนเมือง โดยเฉพาะพื้นที่ของบ้านราชวิถี โดยรฟท.ได้เข้าไปเจรจาการดูแลต่างๆ เพื่อเร่งรัดเร็วกว่าแผน คาดจะเรียบร้อยภายในเดือน มิ.ย. 2566 ดังนั้นเรื่องส่งมอบพื้นที่ไม่มีปัญหา แต่ทั้งนี้ เงื่อนไขในการออก NTP ให้เริ่มงานนั้น นอกจากต้องแก้ไขสัญญาร่วมลงทุนฯ แล้วส่งมอบพื้นที่ ส่วนเอกชนยังต้องรับส่งเสริมการลงทุน (BOI) ให้เรียบร้อยก่อนด้วย

“งานโยธารถไฟไทย-จีน 2 สัญญาถือว่ามีความชัดเจน หลังจากที่หยุดชะงักไประยะหนึ่ง ส่วนช่วงทับซ้อนกับรถไฟเชื่อม 3 สนามบินอยู่ในขั้นตอนพิจารณาแก้ไขสัญญา ซึ่งน่าจะมีความชัดเจนเร็วๆ นี้ และเชื่อว่าการก่อสร้างงานโยธารถไฟไทย-จีน จะแล้วเสร็จและสามารถเริ่มทดสอบระบบการเดินรถได้ในปลายปี 2569“



กำลังโหลดความคิดเห็น