xs
xsm
sm
md
lg

13 บริษัทบิ๊กเนมตบเท้าซื้อซอง ทางด่วน "กะทู้-ป่าตอง" จับตายื่นซอง เม.ย.นี้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



13 บริษัทไทย-เทศซื้อซองประมูลทางด่วน "กะทู้-ป่าตอง" มูลค่า 1.78 หมื่นล้าน เอกชนบิ๊กเนมไทยไม่พลาด "ช.การช่าง-ITD-ซิโน-ไทย-ยูนิค-BEM-BTS-DMT" จับตายื่นซอง 7 เม.ย.

รายงานข่าวจากการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เปิดเผยว่า จากที่ กทพ.ได้ออกประกาศเชิญชวนการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน โครงการทางพิเศษสายกะทู้-ป่าตอง จังหวัดภูเก็ต ระยะทางรวม 3.98 กิโลเมตร โดยขายเอกสารสำหรับคัดเลือกเอกชน (RFP) ตั้งแต่วันที่ 26 ธ.ค. 2565 ถึงวันที่ 25 ม.ค. 2566 ปรากฏว่ามีบริษัทเข้าซื้อซอง RFP รวมทั้งสิ้น 13 ราย ได้แก่

1. บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STEC
2. บริษัท ไชน่า ฮาร์เบอร์ เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด
3. บริษัทอิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) หรือ ITD
4. บริษัท ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ UNIQ
5. บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM
6. บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ BTS
7. บริษัท เนาวรัตน์พัฒนาการ จำกัด (มหาชน) หรือ NWR
8. บริษัท ไร้ท์ทันเน็ลลิ่ง จำกัด (มหาชน) หรือ RT
9. บริษัท ช การช่าง จำกัด (มหาชน) หรือ CK
10. บริษัท ทางยกระดับดอนเมือง จำกัด (มหาชน) หรือ DMT
11. บริษัท EGIS
12. SRGB Bridge Engineering
13. ไชน่า เรลเวย์ 20 บิวโร กรุ๊ป (ไทยแลนด์) จำกัด

ทั้งนี้ กทพ.กำหนดให้เวลาในการจัดทำข้อเสนอประมาณ 3 เดือน โดยกำหนดรับซองเอกสารข้อเสนอในวันที่ 7 เม.ย. 2566 เวลา 09.00-15.00 น. เบื้องต้นจะเริ่มเปิดซองที่ 1 ในวันที่ 28 เม.ย. 2566 เวลา 09.00 น. และคาดหมายว่าจะได้ตัวผู้รับงานในปลายปี 2566 เพื่อดำเนินการก่อสร้างรวม 5 ปี และเปิดให้บริการปี 2570 ตามแผน เพื่อรองรับการจัดงาน World Specialised Expo 2028 ที่จังหวัดภูเก็ต  
 
สำหรับโครงการทางพิเศษสายกะทู้-ป่าตอง จังหวัดภูเก็ต ระยะทางรวม 3.98 กิโลเมตร มีวงเงินลงทุน 17,811 ล้านบาท ประกอบด้วย ค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินและชดเชยสิ่งปลูกสร้าง 5,792 ล้านบาท ค่าก่อสร้าง วงเงิน 8,678 ล้านบาท ค่าควบคุมงานก่อสร้าง 215 ล้านบาท ค่าดำเนินงานและบำรุงรักษา 3,142 ล้านบาท โดยเป็นทางพิเศษขนาด 4 ช่องจราจรต่อทิศทาง (สำหรับรถยนต์ 2 ช่องจราจร รถจักรยานยนต์ 2 ช่องจราจร) มีทางยกระดับข้ามถนนพิศิษฐ์กรณีย์ ระยะทาง 0.9 กม. และมีอุโมงค์ลอดเขานาคเกิด ระยะทาง 1.85 กม. จากนั้นมีทางยกระดับอีก 1.23 กม.  
           
คุณสมบัติด้านเทคนิค ได้แก่ ต้องมีประสบการณ์ด้านการก่อสร้างงานโยธา มีผลงานแล้วเสร็จที่เป็นคู่สัญญาโดยตรงกับหน่วยงานรัฐบาลไทย ก่อสร้างทางยกระดับที่เป็นถนน หรือทางรถไฟ หรือรถไฟฟ้า มูลค่าไม่น้อยกว่า 500 ล้านบาท ออกแบบและก่อสร้างงานอุโมงค์สำหรับถนน หรือทางรถไฟ รถไฟฟ้า หรืองานสาธารณูปโภคอื่น มูลค่าไม่น้อยกว่า 1,000 ล้านบาท ต้องมีประสบการณ์ด้านดำเนินงานบริหารจัดการและบำรุงรักษา (O&M) ทางพิเศษ ระยะเวลาไม่น้อยกว่า 5 ปี ภายในระยะเวลา 25 ปี  
           
ผู้ยื่นข้อเสนอ 5 ซอง ได้แก่ 1. ซองไม่ปิดผนึก 2. ข้อเสนอด้านคุณสมบัติ 3. ข้อเสนอด้านเทคนิค 4. ข้อเสนอด้านการลงทุนและผลตอบแทน 5. ข้อเสนออื่นๆ เป็นประโยชน์ต่อการให้บริการและการดำเนินงานของ กทพ.  

การพิจารณาข้อเสนอซองที่ 1 ด้านคุณสมบัติ จะเป็นการประเมินแบบผ่าน/ไม่ผ่าน, ข้อเสนอซองที่ 2 ด้านเทคนิค ประเมินแบบคะแนน ประกอบด้วย ความพร้อม การสนับสนุนและความสามารถทางการเงิน 15 คะแนน, ประสบการณ์และผลงานที่เคยดำเนินการตลอดทั้งความน่าเชื่อถือ 5 คะแนน, โครงสร้างและความสามารถของบุคลากรในการบริหารงาน 10 คะแนน,  แนวทางและวิธีการดำเนินงานสำหรับงานระยะที่ 1 จำนวน 40 คะแนน, แนวทางและวิธีการดำเนินงานสำหรับงานระยะที่ 2 จำนวน 30 คะแนน  

โดยต้องได้รับคะแนนการประเมินแต่ละข้อไม่น้อยกว่าร้อยละ 85 และต้องได้รับคำแนนรวมทุกข้อไม่น้อยกว่าร้อยละ 90 จึงจะถือว่าผ่าน และการพิจารณาข้อเสนอซองที่ 3 ด้านการลงทุนและผลตอบแทน จะพิจารณาจากมูลค่าปัจจุบัน (PV) ของผลตอบแทนที่ผู้ยื่นข้อเสนอจะเสนอให้ กทพ.สูงที่สุด และการพิจารณาข้อเสนอซองที่ 4 ข้อเสนออื่นๆ เป็นประโยชน์ต่อการให้บริการและการดำเนินงานของ กทพ.จะสงวนสิทธิ์พิจารณาหรือไม่ก็ได้  

ลักษณะการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (PPP) ในรูปแบบ PPP Net Cost โดยภาครัฐรับผิดชอบการจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน และภาคเอกชนรับผิดชอบงานส่วนที่เหลือทั้งหมด ได้แก่ การออกแบบ รายละเอียดและการก่อสร้าง และการดำเนินงานและบำรุงรักษา (Operation and Maintenance : O&M) ระยะเวลาสัมปทาน 35 ปี
 


กำลังโหลดความคิดเห็น