ครม.ไฟเขียวร่าง พ.ร.ฎ.เวนคืนที่ดิน ตำบลป่าตอง และตำบลกะทู้ จังหวัดภูเก็ต 192 แปลง และสิ่งปลูกสร้าง 222 หลัง เพื่อก่อสร้างทางด่วน "กะทู้-ป่าตอง" อาคารศูนย์บริหารทางพิเศษ จุดพักรถ ด้านกทพ.เปิดประมูล PPP วงเงิน 1.7 หมื่นล้าน ล่าสุดเอกชนซื้อซองแล้ว 8 ราย
รายงานข่าวเปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 17 ม.ค. 2566 มีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินที่จะเวนคืนในท้องที่ ตำบลป่าตอง และตำบลกะทู้ อำเภอกะทู้ จังหวัดภูเก็ต พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอและให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้วดำเนินการต่อไปได้ และให้กระทรวงคมนาคมรับความเห็นของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย
ทั้งนี้ ร่างพระราชกฤษฎีกาฯ ที่กระทรวงคมนาคมเสนอเป็นการกำหนดเขตที่ดินที่จะเวนคืนในท้องที่ตำบลป่าตอง และตำบลกะทู้ อำเภอกะทู้ จังหวัดภูเก็ต เพื่อก่อสร้างทางพิเศษสายกะทู้-ป่าตอง จังหวัดภูเก็ต และอาคารศูนย์บริหารทางพิเศษ จุดพักรถ (Rest Area) และสิ่งจำเป็นอื่น ตามโครงการทางพิเศษสายกะทู้-ป่าตอง จังหวัดภูเก็ต ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติโครงการดังกล่าวแล้ว (มติคณะรัฐมนตรีวันที่ 18 มกราคม 2565) โดยร่างพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวมีกำหนดใช้บังคับ 5 ปี และให้เริ่มต้นเข้าสำรวจที่ดินและอสังหาริมทรัพย์ที่อยู่ภายในแนวเขตที่ดินที่จะเวนคืนภายใน 180 วัน นับแต่วันที่พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับ
โดยมีที่ดินที่ต้องเวนคืนจำนวน 192 แปลง และสิ่งปลูกสร้างจำนวน 222 หลัง ทั้งนี้ เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ใช้บริการทางพิเศษ และเพื่อนำที่ดินไปชดเชยให้เกิดความเป็นธรรมแก่เจ้าของที่ดินที่ถูกเวนคืน รวมทั้งเพื่อให้เจ้าหน้าที่หรือพนักงานเจ้าหน้าที่มีสิทธิเข้าไปสำรวจ และเพื่อให้ทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ที่จะต้องได้มาโดยแน่ชัด
และเมื่อการก่อสร้างตามโครงการดังกล่าวแล้วเสร็จ จะช่วยบรรเทาปัญหาการจราจร และอุบัติเหตุบนทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 4029 รวมทั้งสามารถใช้เป็นเส้นทางอพยพในกรณีเกิดภัยพิบัติ เช่น สึนามิ ตลอดจนอำนวยความสะดวกในการเดินทางให้แก่คนในพื้นที่ นักท่องเที่ยว อีกทั้งยังส่งเสริมการท่องเที่ยวในจังหวัดภูเก็ตมีศักยภาพในการรองรับจำนวนนักท่องเที่ยวได้มากขึ้น ซึ่งเป็นไปตามยุทธศาสตร์การพัฒนาการท่องเที่ยวกลุ่มจังหวัดสามเหลี่ยมอันดามัน (ภูเก็ต-พังงา-กระบี่) ที่จะช่วยพัฒนาพื้นที่ภาคใต้และประเทศไทยในอนาคต โดยกรมการปกครองได้ตรวจสอบแผนที่ท้ายพระราชกฤษฎีกาในเรื่องนี้แล้ว ตามมติคณะรัฐมนตรี (22 มีนาคม 2565) [เรื่อง แนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับกรณีการตราร่างกฎหมาย หรือร่างอนุบัญญัติที่ต้องจัดให้มีแผนที่ท้าย] ด้วยแล้ว และสำนักงบประมาณแจ้งว่าจะจัดสรรงบประมาณให้เมื่อร่างพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวใช้บังคับแล้ว
กระทรวงคมนาคมได้จัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้ได้รับผลกระทบตามร่างพระราชกฤษฎีกานี้แล้ว ซึ่งส่วนใหญ่เห็นด้วยกับโครงการดังกล่าวร้อยละ 70 และได้ดำเนินการตามมาตรา 27 แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 ด้วยแล้ว
สำหรับโครงการทางพิเศษสายกะทู้-ป่าตอง จังหวัดภูเก็ต ระยะทางรวม 3.98 กม. การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ได้ออกประกาศเชิญชวนการร่วมลงทุนระหว่างรัฐ โดยจะขายเอกสารสำหรับคัดเลือกเอกชน (Request for Proposal : RFP) ระหว่างวันที่ 26 ธ.ค. 2565 ถึงวันที่ 25 ม.ค. 2566 กำหนดให้ยื่นข้อเสนอประมาณเดือน เม.ย. 2566 ซึ่งล่าสุดมีเอกชนเข้าซื้อซองแล้วประมาณ 8 ราย
โดยโครงการทางพิเศษสายกะทู้-ป่าตอง จังหวัดภูเก็ต ระยะทางรวม 3.98 กม. มีวงเงินลงทุน 17,811 ล้านบาท ประกอบด้วย ค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินและชดเชยสิ่งปลูกสร้าง 5,792 ล้านบาท ค่าก่อสร้าง วงเงิน 8,678 ล้านบาท ค่าควบคุมงานก่อสร้าง 215 ล้านบาท ค่าดำเนินงานและบำรุงรักษา 3,142 ล้านบาท โดยเป็นทางพิเศษขนาด 4 ช่องจราจรต่อทิศทาง (สำหรับรถยนต์ 2 ช่องจราจร รถจักรยานยนต์ 2 ช่องจราจร) มีทางยกระดับข้ามถนนพิศิษฐ์กรณีย์ ระยะทาง 0.9 กม. และมีอุโมงค์ลอดเขานาคเกิด ระยะทาง 1.85 กม.จากนั้นมีทางยกระดับอีก 1.23 กม.
รูปแบบโครงการเป็นการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (PPP) ในรูปแบบ PPP Net Cost โดยภาครัฐรับผิดชอบการจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน และภาคเอกชนรับผิดชอบงานส่วนที่เหลือทั้งหมด ได้แก่ การออกแบบ รายละเอียดและการก่อสร้าง และการดำเนินงานและบำรุงรักษา (Operation and Maintenance : O&M) ระยะเวลาสัมปทาน 35 ปี เนื่องจากโครงสร้างจะมีทั้งทางยกระดับ และอุโมงค์ ซึ่งมีระยะเวลาก่อสร้างรวม 5 ปี เปิดให้บริการปี 2570 เพื่อรองรับการจัดงาน World Specialised Expo 2028 ที่จังหวัดภูเก็ต