สหภาพฯ รฟท.ยื่น "ศักดิ์สยาม" ทบทวนย้ายรถไฟทางไกล ชี้ปัญหาเพียบทำประชาชนเดือดร้อน แนะย้ายเฉพาะขบวนที่มีความพร้อมก่อน ชี้ยกเลิกรถไฟเข้าหัวลำโพงหมดก็แก้รถติดไม่ได้ ด้านคมนาคมยัน 19 ม.ค.ย้าย 52 ขบวนตามแผน
วันที่ 16 ม.ค. 2566 สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทย (สร.รฟท.) พร้อมด้วยองค์กรเครือข่าย เช่น สมาพันธ์คนงานรถไฟ กลุ่มพนักงานรถไฟและครอบครัว สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) สภาองค์กรของผู้บริโภค (สอบ.) นำโดยนายสราวุธ สราญวงศ์ ประธานสหภาพฯ รฟท. พร้อมด้วย นางรสนา โตสิตระกูล และนายสาวิทย์ แก้วหวาน ได้รวมตัวที่กระทรวงคมนาคม เพื่อยื่นหนังสือต่อนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ขอให้ตรวจสอบและทบทวนการดำเนินการย้ายขบวนรถไฟเชิงพาณิชย์ (รถไฟทางไกล) จำนวน 52 ขบวน มาออกต้นทางที่สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ เพื่อไม่ให้เกิดความเดือดร้อนต่อประชาชน โดยมีนางสุขสมรวย วันทนียกุล เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นผู้รับหนังสือแทนและมีการหารือร่วมกัน
ทั้งนี้ สหภาพฯ รฟท.ได้ระบุหนังสือว่า ตามนโยบายดังกล่าว ทำให้ตั้งแต่วันที่ 19 ม.ค. 2566 เป็นต้นไปขบวนรถไฟสายเหนือ สายตะวันออกเฉียงเหนือ ทุกขบวนจะวิ่งบนโครงสร้างยกระดับของรถไฟสายสีแดง ตั้งแต่บางซื่อจนถึงสถานีดอนเมือง ส่วนขบวนรถสายใต้จะวิ่งบนโครงสร้างยกระดับของรถไฟสายสีแดงตั้งแต่บางซื่อถึงตลิ่งชันเช่นกัน ส่วนขบวนรถไฟเชิงพาณิชย์ (รถไฟทางไกล) จะมีต้นทางที่ สถานีกลางบางซื่อ ไม่เข้าถึงหัวลำโพง ด้วยเหตุผลหลักเพื่อลดปัญหาจราจรในพื้นที่กรุงเทพชั้นใน เนื่องจากมีขบวนรถไฟต้องเข้าสถานีกรุงเทพมากกว่า 100 ขบวนต่อวัน
สหภาพฯ รฟท.ได้ลงพื้นที่สำรวจความคิดเห็นและข้อเสนอแนะของประชาชนที่ใช้บริการรถไฟที่สถานีหัวลำโพงในช่วงเทศกาลปีใหม่ได้รับเสียงสะท้อนถึงความเดือดร้อนของผู้โดยสารในความไม่สะดวกที่จะย้ายรถไฟทางไกลทั้งหมดมาออกที่สถานีกลางบางซื่อ เนื่องจากปัจจุบันสถานีกลางบางซื่อยังไม่มีความพร้อมที่สมบูรณ์ในการให้บริการผู้โดยสาร
เช่น ระบบฟีดเดอร์ รองรับการเดินทางการเชื่อมต่อระหว่างสถานีกลางบางซื่อ-หัวลำโพง นอกจากนี้ รถไฟสายสีแดงส่วนต่อขยายช่วงบางซื่อถึงหัวลำโพง (Missing Link) ยังไม่ได้ก่อสร้าง, ความพร้อมของรถจักร (ระบบ ATP) และความเพียงพอของรถโดยสารที่มีห้องน้ำระบบปิดในการรองรับการเดินรถบนทางยกระดับ, ระบบสนับสนุนในการเดินรถ โดยเฉพาะพื้นที่ซ่อมบำรุงเตรียมความพร้อมของขบวนรถประจำวัน, อัตรากำลังผู้ปฏิบัติงาน, อะไหล่วัสดุอุปกรณ์ในการซ่อมบำรุงที่พักในการเตรียมความพร้อมของพนักงานขบวนรถ เป็นต้น
ทั้งนี้ สหภาพฯ ยื่นข้อเสนอพร้อมแนวทางในการแก้ปัญหา
1. ขอให้สั่งการตรวจสอบและทบทวนกำหนดการเปิดสถานีกลางบางซื่อและแผนการปรับย้ายขบวนรถไฟเชิงพาณิชย์ (รถไฟทางไกล) จากสถานีกรุงเทพ (หัวลำโพง) ย้ายมาสถานีกลางบางซื่อที่จะดำเนินการในวันที่ 19 ม.ค. 2566 โดยเร่งด่วน
2. ในระหว่างการตรวจสอบสำหรับขบวนรถไฟเชิงพาณิชย์ ขอให้ยังคงสถานีต้นทาง-ปลายทางอยู่ที่สถานีหัวลำโพงไว้ก่อน
3. ขอให้ดำเนินการเปิดรับฟังความคิดเห็นโดยเร่งด่วนให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ตามรัฐธรรมนูญเพื่อให้ได้ข้อมูลที่เป็นจริงจากผู้บริโภคและประชาชนทุกกลุ่มที่ได้รับผลกระทบที่ใช้บริการตามนโยบายของกระทรวง และข้อเสนอแนะของสภาองค์กรของผู้บริโภคเพื่อเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาระบบขนส่งทางรางของประเทศอย่างยั่งยืน
ภายหลังการหารือ นายสราวุธกล่าวว่า สหภาพฯ รฟท.มีข้อห่วงใยจึงต้องการให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมตรวจสอบและทบทวนนโยบายการออกรถไฟเชิงพาณิชย์ที่สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ โดยเร่งด่วน ก่อนที่จะถึงวันที่ 19 ม.ค.นี้
โดยขอให้พิจารณาแบ่งขบวนรถที่มีความพร้อมไปออกที่สถานีกลางบางซื่อ ส่วนขบวนที่ยังไม่พร้อมให้เข้าที่สถานีหัวลำโพงเช่นเดิม จนกว่าจะปรับปรุงแก้ปัญหา จนมีความพร้อมรองรับการบริการ ที่ไม่ทำให้ประชาชนเดือดร้อน
ด้าน นางสุขสมรวย เลขานุการฯรมว.คมนาคม กล่าวว่า ที่ผ่านมาหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ชี้แจงคำถามและข้อสงสัยไปแล้ว ส่วนข้อเรียกร้องของสหภาพฯ รฟท.จะเสนอ รมว.คมนาคมพิจารณาเพื่อสั่งการให้ผู้ว่าฯ รฟท.เร่งดำเนินการตามข้อห่วงใยต่อไป
ทั้งนี้ ยืนยันว่าวันที่ 19 ม.ค. 2566 ไม่สามารถหยุดการย้ายขบวนรถไฟทางไกล 52 ขบวนไปที่สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ ได้ เนื่องจากได้ดำเนินการไปแล้ว ทั้งการขายตั๋วโดยสารและประชาสัมพันธ์