สหภาพฯ รฟท.ผนึกองค์กรผู้บริโภคบุกคมนาคมยื่นทบทวนย้ายรถไฟทางไกล ชี้ประชาชนเดือดร้อนและเป็นคำสั่งรัฐที่กระทบสิทธิขั้นพื้นฐานตามรัฐธรรมนูญ
นายสราวุธ สราญวงศ์ ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทย (สร.รฟท) เปิดเผยว่า วันที่ 16 ม.ค. 2566 เวลา 10.00 น. สหภาพฯรฟท. พร้อมด้วยสมาพันธ์คนงานรถไฟ กลุ่มพนักงานรถไฟและครอบครัว สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) สภาองค์กรของผู้บริโภค (สอบ.) จะเดินทางไปที่กระทรวงคมนาคม
เพื่อเสนอปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม (นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ) และขอให้ระงับนโยบายที่มีผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของประชาชน และให้เปิดรับฟังความคิดเห็นตามรัฐธรรมนูญ กรณีที่กระทรวงคมนาคมมีนโยบายย้ายขบวนรถไฟเชิงพาณิชย์จำนวน 52 ขบวน มาออกต้นทางที่สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ (สถานีกลางบางซื่อ) ตั้งแต่วันที่ 19 ม.ค. 2566
ก่อนหน้านี้สหภาพฯ รฟท.ได้ยื่นหนังสือต่อ นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย ไปแล้ว เนื่องจาก รฟท.ยังไม่มีความพร้อมในด้านการปฏิบัติการและให้บริการที่สถานีกลางบางซื่อ ได้แก่ รถโดยสารไม่พร้อมกับการบริการ และมีจำนวนไม่เพียงพอต่อการหมุนเวียนให้บริการ ห้องน้ำยังเป็นระบบเปิด รถขนส่งสาธารณะต่างๆ ไม่พร้อม รฟท.มีอัตรากำลังบุคลากรไม่เพียงพอในการให้บริการ 2 แห่ง และงานเพิ่มมากขึ้น
จากที่สหภาพฯ รฟท.ได้ลงพื้นที่สอบถามความเห็นของผู้ใช้บริการจริงพบว่า ประชาชนต้องการให้รถไฟยังคงเข้าถึงหัวลำโพง ไม่ใช่หยุดแค่สถานีกลางบางซื่อ ขณะที่คำสั่งของกระทรวงคมนาคมที่ให้รฟท.จัดรถ Shuttle bus เพื่อรองรับผู้โดยสารที่ต้องการเดินทางเข้าหัวลำโพงนั้น พบว่าแผนงานดังกล่าวไม่มีความชัดเจน โดยจากการสอบถามได้รับคำตอบว่ารถ Shuttle bus จะออกจากบางซื่อ จากนั้นจะขึ้นทางด่วนไปลงหัวลำโพง เท่ากับว่าประชาชนที่ต้องการลงสถานีสามเสน รพ.รามาธิบดี ยมราช ซึ่งเดิมเป็นสถานีตามเส้นทางรถไฟ ระหว่างบางซื่อ ถึงหัวลำโพง จะใช้บริการไม่ได้ และทำให้ประชาชนต้องลำบาก เดือดร้อน เสียเวลา เสียค่าใช้จ่ายมากขึ้น แนวทางแก้ปัญหานี้ จึงไม่ตอบโจทย์และไม่ได้แก้ปัญหาเดือดร้อนของประชาชน
“สหภาพฯ ขอให้กระทรวงคมนาคมทบทวนการย้ายรถไฟทางไกลไปออกต้นทาง-ปลายทาง ที่สถานีกลางบางซื่อ โดยเลื่อนออกไปก่อน จนกว่าจะเตรียมระบบการให้บริการที่สถานีกลางบางซื่อ ให้มีความพร้อมครบทุกด้าน ไม่ใช่บังคับประชาชนแบบนี้ และที่ผ่านมาการสำรวจความเห็น ผลกระทบของประชาชน ทำผ่านออนไลน์ ประชาชนเข้าถึงไม่ทุกกลุ่ม ทั้งที่เป็นเรื่องสำคัญที่กระทบสิทธิของประชาชน จึงถือว่าเป็นคำสั่งของรัฐที่ไม่ได้ทำตามกระบวนการที่รัฐธรรมนูญกำหนด ซึ่งหากไม่ได้รับการพิจารณาจากกระทรวงคมนาคม จะไปยื่นร้องเรียนตามสิทธิของรัฐธรรมนูญต่อไป”