xs
xsm
sm
md
lg

กสม.ชี้ ละเมิดสิทธิ ปมที่ดินตาบอดครอบครัวผู้สูงอายุย่านบางเขน เข้าไม่ถึงน้ำประปา ประสานช่วย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“วสันต์” เผย กสม. ชี้ กรณีที่ดินตาบอดครอบครัวผู้สูงอายุย่านบางเขน ที่เข้าไม่ถึงน้ำประปา เป็นการละเมิดสิทธิ ประสาน กทม.จัดหามาตรการอำนวยความสะดวก มท.แก้ กม.ที่ดิน

วันนี้ (12 ม.ค.) นายวสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปิดเผยว่า ตามที่กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้รับแจ้งเรื่องร้องเรียนเมื่อเดือนตุลาคม 2564 ระบุว่า ผู้ร้องเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินและสร้างบ้านพักอาศัยอยู่ในเขตบางเขน กรุงเทพมหานคร ต่อมาเมื่อประมาณปี 2531 เป็นต้นมา ได้มีบริษัทเอกชนเข้ามาก่อสร้างหมู่บ้านจัดสรรจำนวน 3 แห่ง ติดกับที่ดินของผู้ร้อง โดยปิดล้อมแนวเขตที่ดินทั้ง 4 ด้าน รวมทั้งสร้างกำแพงกั้นแนวเขต ทำให้ที่ดินของผู้ร้องเป็นที่ดินตาบอด ไม่มีทางเข้าออก ต้องปีนกำแพงของหมู่บ้านจัดสรรที่อยู่ข้างเคียง เพื่อออกไปสู่ทางสาธารณะ และยังไม่มีสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน ได้แก่ ไฟฟ้า และน้ำประปา เนื่องจากหน่วยงานในพื้นที่ไม่สามารถเข้าไปดำเนินการติดตั้งระบบไฟฟ้าและวางท่อประปาผ่านหมู่บ้านจัดสรรเพื่อเข้าไปยังบ้านของผู้ร้องได้ อีกทั้งผู้ร้องและครอบครัวเป็นผู้สูงอายุทำให้ได้รับความลำบากในการดำเนินชีวิตอย่างมาก โดยก่อนหน้านี้ กสม. ได้ประสานการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนเพื่อให้เกิดการแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วนไปยังกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อพิจารณาดำเนินการแล้ว แต่ยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาตามการร้องเรียนได้ จึงขอให้ตรวจสอบ

กสม. พิจารณาแล้วเห็นว่า เรื่องดังกล่าวเกี่ยวกับสิทธิของบุคคลในทรัพย์สินและสิทธิในการเข้าถึงสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน อันเป็นสิทธิที่ได้รับรองไว้ในรัฐธรรมนูญ 2560 และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม (ICESCR) ที่กำหนดหน้าที่ของรัฐในการจัดหรือดำเนินการให้มีสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตของประชาชนอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม โดยคำนึงถึงมาตรฐานการครองชีพที่เพียงพอสำหรับตนเองและครอบครัว อันรวมถึงการมีที่อยู่อาศัยที่เพียงพอ และความพร้อมของบริการสาธารณูปโภคพื้นฐานที่จำเป็นต่อการดำรงชีพ จากการตรวจสอบ ปรากฏข้อเท็จจริง

1. กรณีที่ดินของผู้ร้องไม่มีทางเข้าออกสู่สาธารณะ เป็นเรื่องระหว่างเอกชนด้วยกัน และมีกฎหมายกำหนดวิธีการแก้ไขปัญหาไว้แล้ว โดยผู้ร้องเคยฟ้องต่อศาลเพื่อขอเปิดทางจำเป็นแล้ว และล่าสุดเมื่อเดือน พ.ย. 65 ผู้ร้องได้ยื่นคำร้องต่อศาลจังหวัดมีนบุรีเพื่อขอเปิดทางจำเป็นอีกครั้ง โดยศาลมีกำหนดนัดพิจารณาในเดือน ก.พ. 66 แต่อย่างไรก็ตาม เนื่องจากผู้ร้องยังต้องใช้บันไดพาดกำแพงของหมู่บ้านเพื่อใช้เป็นทางเข้าออกไปสู่ทางสาธารณะ โดยที่ผู้ร้องและครอบครัวเป็นผู้สูงอายุ อาจจะส่งผลต่อการเข้าถึงสิทธิในการได้รับบริการสาธารณสุขในกรณีที่เกิดเหตุฉุกเฉิน หรือการใช้สิทธิอื่น หรือการใช้บริการของรัฐ อันอาจเกิดจากอุปสรรคในการเข้าออกที่ดิน จึงเห็นควรมีข้อเสนอแนะในการป้องกันหรือแก้ไขปัญหาไปยังสำนักงานเขตบางเขนในฐานะผู้ถูกร้อง

2. ปัญหาการเข้าถึงสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานไฟฟ้าและประปา ปรากฏว่า การไฟฟ้านครหลวงเขตบางเขน ได้เข้าติดตั้งเสาและสายไฟฟ้าให้แก่ผู้ร้อง โดยพาดผ่านหมู่บ้านจัดสรร เมื่อเดือน พ.ย. 64 แล้ว ปัจจุบันผู้ร้องจึงสามารถเข้าถึงและใช้ไฟฟ้าได้ ส่วนการเข้าถึงน้ำประปานั้น พบว่า การประปานครหลวงเขตบางเขน ไม่สามารถติดตั้งระบบน้ำประปาให้แก่ผู้ร้องได้ เนื่องจากต้องดำเนินการผ่านพื้นที่ส่วนกลางของหมู่บ้านจัดสรร และต้องได้รับความยินยอมจากเอกชนเป็นรายกรณี อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณา พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2528 ที่บัญญัติให้ กทม. มีอำนาจหน้าที่ในการดำเนินการเกี่ยวกับการสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานให้แก่ประชาชนในพื้นที่ ซึ่งกรณีนี้ สำนักงานเขตบางเขนเป็นหน่วยงานในสังกัดของ กทม. จึงต้องมีหน้าที่และอำนาจดำเนินการดังกล่าวด้วย แม้ว่าผู้ถูกร้องจะได้ประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อขอให้แก้ไขปัญหาแล้ว แต่ก็ยังไม่อาจเข้าถึงระบบประปาเพื่ออุปโภคบริโภคอย่างเพียงพออันเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานในการดำรงชีพได้ กรณีนี้จึงเป็นการกระทำหรือละเลยการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน ดังนั้น ที่ประชุม กสม. เมื่อวันที่ 9 ม.ค. 66 จึงเห็นควรมีข้อเสนอแนะในการแก้ไขปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนไปยังสำนักงานเขตบางเขน กทม.โดยให้ประสานกับการประปานครหลวงเขตบางเขน หรือบุคคลที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ผู้ร้องเข้าถึงระบบประปา หรือน้ำสะอาดสำหรับการอุปโภคบริโภคได้อย่างเพียงพอ และให้จัดหามาตรการเพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้ร้องเข้าถึงสิทธิในการได้รับบริการสาธารณสุขได้อย่างรวดเร็ว รวมทั้งการเข้าถึงสิทธิอื่น หรือบริการของรัฐ อันอาจเกิดจากข้อจำกัดในการเข้าออกที่ดินของผู้ร้อง ทั้งนี้ ภายใน 90 วันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งรายงานผลการตรวจสอบนี้

นอกจากนี้ ยังมีข้อเสนอแนะให้ กระทรวงมหาดไทย โดยกรมที่ดิน แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.การจัดสรรที่ดิน 2543 เพื่อแก้ไขปัญหากรณีมีที่ดินซึ่งถูกที่ดินจัดสรรที่ได้รับอนุญาตตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 286 ลงวันที่ 24 พ.ย. 15 และพระราชบัญญัตินี้ปิดล้อมอยู่ จนไม่มีทางออกไปสู่ทางสาธารณะได้ และเป็นอุปสรรคต่อการเข้าถึงสิทธิในสาธารณูปโภคซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานในการดำรงชีพ รวมทั้งแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.การจัดสรรที่ดิน พ.ศ. 2543 หรือกฎหมายลำดับรองที่เกี่ยวข้อง เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนหรือชุมชนที่อาศัยอยู่โดยรอบได้มีส่วนร่วมในกระบวนการขออนุญาตจัดสรรที่ดิน และให้ผู้จัดสรรที่ดินคำนึงถึงมิติการคุ้มครองและเคารพสิทธิมนุษยชนภายใต้หลักการชี้แนะว่าด้วยธุรกิจและสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (UNGPs) โดยหลีกเลี่ยงการกระทำหรือการมีส่วนที่จะทำให้เกิดผลกระทบด้านสิทธิมนุษยชน


กำลังโหลดความคิดเห็น