xs
xsm
sm
md
lg

ปตท.-ORยันไม่มีเอี่ยวละเมิดสิทธิมนุษยชนในเมียนมา ย้ำเบรกสร้างคลังน้ำมัน-ห้ามจ่ายเงินผู้ที่ติดใน Sanctions list

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ปตท.และOR ออกโรงแจงกรณีกองทุนถอนการลงทุนตอกย้ำยึดถือดำเนินการตามแนวทางที่จะไม่มีส่วนเกี่ยวข้องในการสนับสนุนความรุนแรง และการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างเคร่งครัด ด้านORเผยเบรกสร้างคลังน้ำมันในเมียนมาและห้ามบริษัทร่วมทุนจ่ายเงินผู้ที่ติดอยู่ใน Sanctions list

นายดิษทัต ปันยารชุน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก (OR) เปิดเผยกรณีกองทุนประกาศถอนการลงทุนในOR ระบุว่าการลงทุนในเมียนมาของบริษัทฯ มีส่วนเกี่ยวข้องกับการสนับสนุนความรุนแรง และการละเมิดสิทธิมนุษยชนนั้น ORยืนยันว่าการเข้าร่วมลงทุนในบริษัทร่วมทุน Brighter Energy (BE) ในปี 2562 โดยถือหุ้น 35% เพื่อประกอบธุรกิจค้าส่งและคลังเก็บผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม โดยอยู่ในระหว่างการดำเนินการก่อสร้างคลังเก็บผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม เพื่อดำเนินกิจการในเมียนมา โดยการลงทุนดังกล่าวมุ่งสร้าง และยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับประชาชนชาวเมียนมา


แต่ในปี 2564 ได้เกิดเหตุการณ์ความรุนแรงและความไม่สงบในเมียนมา รวมทั้งมีมาตรการคว่ำบาตร (Sanctions) จากหลายประเทศ OR ได้แสดงเจตนารมณ์ในฐานะผู้ถือหุ้นข้างน้อยให้ BE หยุดการดำเนินการก่อสร้างคลัง โดย OR จะไม่ชำระเงินทุนเพิ่มเติม และ BE จะต้องไม่ชำระเงินให้แก่บุคคลใดๆ ที่อยู่ใน Sanctions list โดยเด็ดขาด


ทั้งนี้ OR ได้ยึดถือและดำเนินการตามแนวทางและนโยบายอย่างเคร่งครัดที่จะไม่มีส่วนเกี่ยวข้องในการสนับสนุนความรุนแรง และการละเมิดสิทธิมนุษยชน จากการดำเนินกิจการของ BE ในเมียนมา OR ได้ยึดมั่นในการปฏิบัติตามแนวนโยบายการบริหารจัดการด้านความยั่งยืนซึ่งประกอบด้วยด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และการดำเนินธุรกิจอย่างมีธรรมาภิบาลโดยปฏิบัติตามกฎหมาย ข้อกำหนด รวมถึงปฏิบัติตามหลักการเคารพสิทธิมนุษยชนตามหลักสากล

ด้านนายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ. ปตท. (PTT) กล่าวว่า ตามที่กองทุนได้ประกาศถอนการลงทุนในปตท. และบริษัทในกลุ่มเนื่องจากประเด็นด้านสิทธิมนุษยชนในเมียนมานั้น ปตท. ขอชี้แจงว่าในการดำเนินธุรกิจของ ปตท. ทั้งในส่วนที่ปตท.ดำเนินการเอง และลงทุนผ่านบริษัทในกลุ่มปตท. ได้ปฎิบัติตามแนวปฎิบัติด้านความยั่งยืน ซึ่งประกอบด้วย มิติสิ่งแวดล้อม มิติสังคม และมิติการกำกับดูแล โดยมีการบูรณาการหลักสิทธิมนุษยชน ครอบคลุมสายโซ่อุปทานของบริษัทตั้งแต่การตรวจสอบอย่างรอบด้าน การบริหารจัดการ ตลอดจนส่งเสริมปกป้อง และให้ความเคารพด้านสิทธิมนุษยชนให้สอดคล้องกับแนวปฏิบัติสากลอย่างเคร่งครัดนอกจากนี้นังมุ่งมั่นเน้นการสร้างความสัมพันธ์อันดีกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกกลุ่มอย่างสมดุล

ทั้งนี้ในการพิจารณาการลงทุนของปตท.นั้นได้ปฏิบัติตามกฎหมาย และกฎระเบียบที่มีการบังคับใช้ รวมถึงมีการตรวจสอบและวิเคราะห์สถานะของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องอย่างละเอียดถี่ถ้วนแล้ว

ปตท.ยึดถือการเคารพสิทธิมนุษยชนเป็นหนึ่งแนวปฏิบัติขั้นพื้นฐานและมีความกังวลเป็นอย่างมาก เกี่ยวกับเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในเมียนมาภายหลังการรัฐประหารปี 2564 โดยสนับสนุนการแก้ไขปัญหาวิกฤตอย่างสันติ และเข้มงวดในการปฏิบัติตามกฎหมายแนวปฏิบัติสากลในทุกพื้นที่ปฏิบัติการรวมถึงการติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เพื่อปรับปรุงกระบวนในการตัดสินใจ และการบริหารจัดการ เพื่อให้แน่ใจว่าการลงทุนดังกล่าวเป็นการส่งเสริมเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนช่วยเพิ่มศักยภาพในการเข้าถึงแหล่งพลังงานได้อย่างเท่าเทียม ปตท.หวังเป็นอย่างยิ่งว่าสถานการณ์ในเมียนมาจะคลี่คลายและกลับคืนสู่สภาวะปกติในเร็ววัน


กำลังโหลดความคิดเห็น