สหภาพฯ รฟท.ค้านย้ายไป "บางซื่อ" เหตุยังไม่พร้อม ชี้ทำให้ประชาชนเดือดร้อน เดินทางลำบาก ส่วนพนักงาน การปฏิบัติงานลำบาก เตรียมผนึกภาคประชาชน สภาผู้บริโภค ขับเคลื่อนเพื่อค้านนโยบาย
วันที่ 5 ม.ค. 2566 ที่การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทย (สร.รฟท.) นำโดยนายสราวุธ สราญวงศ์ ประธาน สร.รฟท. ได้ยื่นหนังสือต่อ นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย คัดค้านนโยบายการย้ายขบวนรถไฟเชิงพาณิชย์ (รถไฟทางไกล) จำนวน 52 ขบวน มาออกต้นทางที่สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ เพื่อไม่ให้เกิดความเดือดร้อนต่อประชาชน พร้อมทั้งร่วมหารือถึงรายละเอียดต่างๆ โดยมี นายสุจิตต์ เชาว์ศิริกุล รองผู้ว่าฯ รฟท. รับหนังสือแทน
สหภาพฯ รฟท.ระบุว่า จากแผนการดำเนินงานของการรถไฟฯ ในการย้ายขบวนรถไฟเชิงพาณิชย์จำนวน 52 ขบวน มาออกต้นทางที่สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ (สถานีกลางบางซื่อ) ซึ่งสหภาพฯ รฟท.ได้ลงพื้นที่สำรวจความคิดเห็นและข้อเสนอแนะของพี่น้องประชาชนที่ใช้บริการรถไฟบริเวณสถานีกรุงเทพ เมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2565 และวันที่ 3 มกราคม 2566 ซึ่งเป็นช่วงเวลาเทศกาลที่ประชาชนใช้บริการเดินทางโดยรถไฟเป็นจำนวนมาก โดยได้รับฟังเสียงสะท้อนผลกระทบความเดือดร้อนของผู้โดยสารที่ไม่ได้รับความสะดวกในการเดินทางหากการรถไฟฯ จะย้ายขบวนรถทางไกลทั้งหมดออกมาที่สถานีกลางบางซื่อ และมีข้อเสนอแนะให้การรถไฟฯ ทบทวนยกเลิกการดำเนินการตามนโยบายดังกล่าว เพื่อไม่ให้เกิดความเดือดร้อนแก่ประชาชนที่ใช้บริการ
นอกจากนั้น จากการลงพื้นที่บริเวณสถานีกลางบางซื่อ สำรวจความพร้อมในด้านต่างๆ ที่เกี่ยวข้องพบว่ายังไม่มีความพร้อมที่สมบูรณ์ในการให้บริการแก่ผู้โดยสาร เช่น ระบบ Feeder ที่รองรับการเดินทางมายังสถานีกลางบางซื่อ หรือการเดินทางจากพื้นที่บริเวณใกล้สถานีกรุงเทพ ต้องมาที่สถานีกลางบางซื่อ
ทั้งนี้ เนื่องจากโครงการรถไฟสายสีแดงช่วงต่อขยาย บางซื่อ-หัวลำโพง (Missing Link) ยังไม่มีการก่อสร้าง, ความพร้อมของรถจักร (ระบบ ATP) และจำนวนขบวนรถโดยสาร (ระบบสุขาแบบปิด) ที่จะรองรับในการเดินขบวนรถบนเส้นทางยกระดับ, ระบบสนับสนุนในด้านการเดินขบวนรถ (พื้นที่จุดซ่อมบำรุงเตรียมความพร้อมของขบวนรถประจำวันที่เกี่ยวข้องกับเรื่องของอัตรากำลังผู้ปฏิบัติงาน อะไหล่ วัสดุอุปกรณ์ในซ่อมบำรุง และที่พักเตรียมความพร้อมของพนักงานขบวนรถ) รวมทั้งการเตรียมความพร้อมในการทำงานตามระบบการเดินรถรูปแบบใหม่ที่ผู้ปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดยังไม่ได้รับการอบรมและซักซ้อมทำความเข้าใจในการปฏิบัติงานอย่างครบถ้วน และเป็นการเปลี่ยนแปลงสภาพการทำงานที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับข้อตกลงสภาพการจ้างในการเปลี่ยนแปลงข้อตกลงสภาพการจ้างต้องทำความตกลงกับสหภาพแรงงานก่อน
โดยที่ผ่านมาผู้เกี่ยวข้องยังไม่มีการหารือ หรือตกลงกับ สร.รฟท.แต่อย่างใด ซึ่งความไม่พร้อมทั้งหมดนี้มีส่วนเกี่ยวข้องกับความปลอดภัยในการเดินรถซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด หากการรถไฟฯ มีการดำเนินการตามแผนนโยบายดังกล่าว จะส่งผลกระทบต่อการให้บริการการเดินทางโดยรถไฟกับประชาชน และกระทบต่อภาพลักษณ์ขององค์กรในการทำหน้าที่ให้บริการระบบขนส่งสาธารณูปโภค รวมถึงกระทบต่อขวัญกำลังใจของผู้ปฏิบัติงาน
นายสราวุธ สราญวงศ์ ประธานสหภาพฯ รฟท.ยืนยันที่จะเดินหน้าคัดค้านนโยบายในการย้ายขบวนรถไฟเชิงพาณิชย์ (รถไฟทางไกล) ทั้งหมดมาออกต้นทางที่สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ เพราะขณะนี้ยังไม่มีความพร้อมและจะทำให้เกิดความเดือดร้อนและละเมิดสิทธิของประชาชน รวมทั้งการขัดต่อข้อตกลงสภาพการจ้างในการเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างของผู้ปฏิบัติงานที่เป็นสมาชิกของสหภาพแรงงาน เสนอให้การรถไฟฯยังคงให้มีขบวนรถไฟเชิงพาณิชย์ทุกขบวนออกต้นทางที่สถานีกรุงเทพ (หัวลำโพง) และดำเนินการให้เป็นตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 และพระราชบัญญัติแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. 2543 เพื่อประโยชน์สูงสุดของประเทศชาติและประชาชน รวมถึงรักษาภาพลักษณ์ในการบริการประชาชนของการรถไฟแห่งประเทศไทย และสร้างแรงงานสัมพันธ์ที่ดีในองค์กรเพื่อเป็นขวัญกำลังใจแก่ผู้ปฏิบัติต่อไป
โดยหลังหารือกับผู้บริหาร รฟท.ระบุว่า กำหนดวันที่ 19 ม.ค. 2566 ไปแล้ว คงไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ เพราะผู้โดยสารจะสับสน ซึ่งทางสหภาพฯ รฟท.จะร่วมกับภาคประชาชนและสภาผู้บริโภคขับเคลื่อนการคัดค้านนโยบายนี้ต่อไป