ผู้บริหาร บมจ.ยูนิคฯ เผยลงนามสัญญาการรถไฟฯ ปรับปรุงป้ายชื่อสถานีกลางบางซื่อเป็นสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ และตราสัญลักษณ์การรถไฟฯ มูลค่าโครงการ 33.16 ล้านบาท เมื่อช่วงก่อนปีใหม่ที่ผ่านมา
วันนี้ (2 ม.ค.) รายงานข่าวแจ้งว่า นายเติมพงษ์ เหมาะสุวรรณ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส บริษัท ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ UNIQ ทำหนังสือแจ้งข่าวการลงนามสัญญาจ้างก่อสร้างโครงการปรับปรุงป้ายชื่อสถานีกลางบางซื่อเป็นสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ และตราสัญลักษณ์ของการรถไฟแห่งประเทศไทย ถึงกรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ลงวันที่ 29 ธ.ค. 2565 ที่ผ่านมา ระบุว่า บริษัทฯ ได้ลงนามในสัญญาจ้างก่อสร้าง กับการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ในการก่อสร้างโครงการปรับปรุงป้ายชื่อสถานีกลางบางซื่อเป็นสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ และตราสัญลักษณ์ของการรถไฟแห่งประเทศไทย มูลค่าโครงการ 33,169,726.39 บาท (รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) จึงเรียนมาเพื่อโปรดทรายและโปรดเผยแพร่ต่อผู้ลงทุนและประชาชนต่อไป
ก่อนหน้านี้ เมื่อเดือนกันยายน 2565 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม พระราชทานชื่อสถานีกลางบางซื่อว่า “สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์” อ่านว่า “สะ-ถา-นี-กลาง-กรุง-เทบ-อะ-พิ-วัด” (Krung Thep Aphiwat Central Terminal) หมายถึง ความเจริญรุ่งเรืองยิ่งแห่งกรุงเทพมหานคร พร้อมกับพระราชทานชื่อเส้นทางรถไฟชานเมืองสายสีแดงอ่อน (บางซื่อ-ตลิ่งชัน) ระยะที่ 1 ว่า "นครวิถี" อ่านว่า “นะ-คอน-วิ-ถี” (Nakhon Withi) หมายถึง เส้นทางของเมือง และพระราชทานชื่อเส้นทางรถไฟชานเมืองสายสีแดงเข้ม (บางซื่อ-รังสิต) ระยะที่ 1 “ธานีรัถยา” อ่านว่า “ทา-นี-รัด-ถะ-ยา” (Thani Ratthaya) หมายถึง เส้นทางของเมือง
สำหรับโครงการรถไฟชานเมืองสายสีแดง คณะรัฐมนตรีอนุมัติให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ดำเนินโครงการเมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2550 โดยได้เริ่มก่อสร้างงานโยธา งานระบบไฟฟ้าเครื่องกล ช่วงบางซื่อ-รังสิต และบางซื่อ-ตลิ่งชัน โดยช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชันก่อสร้างแล้วเสร็จเมื่อปี 2555 ต่อมาในปี 2556 การรถไฟฯ ได้ลงนามสัญญาจ้างก่อสร้างงานโยธาสำหรับสถานีกลางบางซื่อและศูนย์ซ่อมบำรุง โดยปรับแบบสถานีกลางบางซื่อให้รองรับรถไฟความเร็วสูง โดยโครงการรถไฟชานเมืองสายสีแดง และสถานีกลางบางซื่อก่อสร้างแล้วเสร็จ เปิดทดลองให้บริการเมื่อวันที่ 2 ส.ค. 2564 เป็นต้นมา และในวันที่ 19 ม.ค. 2566 การรถไฟฯ จะมีการย้ายรถไฟขบวนรถเชิงพาณิชย์ 52 ขบวน จากสถานีกรุงเทพ (หัวลำโพง) ไปยังสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์