เฟซบุ๊กเพจ "โครงสร้างพื้นฐาน ประเทศไทย" แนะการรถไฟฯ เผยแพร่ และประชาสัมพันธ์การย้ายขบวนรถไฟ 52 ขบวนจากสถานีกรุงเทพ (หัวลำโพง) ไปยังสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ (สถานีกลางบางซื่อเดิม) ระบุบางขบวนไม่จอดสถานี กม.11, บางเขน และหลักสี่แล้ว แก้ปัญหาความเข้าใจผิด และตกรถไฟของประชาชน
วันนี้ (10 ธ.ค.) จากกรณีที่การประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ครั้งที่ 13/2565 เมื่อวันที่ 24 พ.ย. 2565 ได้รับทราบแผนการเตรียมความพร้อมการปรับเปลี่ยนขบวนรถไฟทางไกล และขบวนรถไฟชานเมือง ณ สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ เพื่อพัฒนาสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์เป็นสถานีหลักและลดปัญหาการจราจรติดขัดทางรถไฟในพื้นที่กรุงเทพมหานคร โดย รฟท.มีกำหนดเริ่มให้บริการรถไฟทางไกล ณ สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ตั้งแต่วันที่ 19 ม.ค. 2566 เป็นต้นไป โดยในวันดังกล่าวจะมีการเปิดเดินขบวนรถไฟเที่ยวปฐมฤกษ์ในเวลา 13.19 น. ด้วยขบวนรถดีเซลรางปรับอากาศ KIHA เดินรถจากสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์-สถานีอยุธยา ซึ่งขณะนี้ รฟท.ได้เตรียมความพร้อมในการปรับเปลี่ยนขบวนรถไฟทางไกลไปให้บริการที่สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ในทุกๆ ด้าน ซึ่งจะมีการประกาศแจ้งประชาสัมพันธ์ข้อมูลรายละเอียดต่างๆ ล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 30 วัน หรือภายในวันที่ 19 ธ.ค. 2565 นี้ เพื่อให้ประชาชนรับทราบอย่างเป็นทางการ
อ่านประกอบ : ถึงเวลา! รถไฟทางไกลบ๊ายบาย "หัวลำโพง" ดีเดย์ 19 ม.ค. 2566 เปิดหวูด 52 ขบวน ณ "สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์"
เฟซบุ๊กเพจ "โครงสร้างพื้นฐาน ประเทศไทย Thailand Infrastructure" โพสต์ข้อความระบุว่า ยืนยันแล้ว เปิดให้บริการสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ (สถานีกลางบางซื่อ) วันนี้เอาข่าวล่ามาแรงจากการรถไฟฯ ซึ่งคณะกรรมการเตรียมความพร้อมสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ (สถานีกลางบางซื่อ) ได้มีมติให้เปิดให้บริการขบวนรถไฟทางไกลจากสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ ตั้งแต่วันที่ 19 ม.ค. 2566 เป็นต้นไป โดยจะมีการจัดเดินรถไฟขบวนปฐมฤกษ์ จากสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์-สถานีอยุธยา ด้วยขบวนรถไฟดีเซลราง KIHA
โดยรถไฟทางไกลที่จะเริ่มให้บริการในวันที่ 19 ม.ค. 2566 จะมีทั้งหมด 52 ขบวนทั้ง 3 เส้นทาง ได้แก่ สายเหนือมี 18 ขบวน รถไฟทางไกลสายใต้มี 24 ขบวน และรถไฟทางไกลสายอีสานมี 24 ขบวน ซึ่งสิ่งที่การรถไฟต้องเร่งประชาสัมพันธ์มากๆ คือ รถไฟทั้ง 52 ขบวนจะไม่จอดที่ กม.11, บางเขน และหลักสี่แล้ว เพราะรถไฟจะวิ่งบนทางรถไฟยกระดับของสายสีแดง ออกจากสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ สายเหนือจะจอดแค่ดอนเมือง (ใหม่) ร่วมกับสายสีแดง และรังสิตเท่านั้น สายใต้จะจอดบางบำหรุ และตลิ่งชัน (หรืออาจจะไม่จอดตลิ่งชัน เพราะไม่มีชานชาลารถไฟทางไกลในโครงการสายสีแดง) ตรงนี้ต้องเร่งทำความเข้าใจกับประชาชนในวงกว้าง แก้ปัญหาความเข้าใจผิด และตกรถไฟของประชาชนได้
"ตอนนี้มีเวลาเตรียมตัวอีกประมาณ 1 เดือนก่อนจะเปิดให้บริการ ผมว่าเพียงพอให้เผยแพร่ และประชาสัมพันธ์แก่ประชาชนในวงกว้าง แต่ต้องทำให้จริงจัง และชัดเจน พร้อมกับเตรียมความพร้อมในทุกส่วนเพื่อให้ลดข้อผิดพลาดให้มากที่สุดครับ" เฟซบุ๊ก "โครงสร้างพื้นฐาน ประเทศไทย Thailand Infrastructure" ระบุ