xs
xsm
sm
md
lg

ถึงเวลา! รถไฟทางไกลบ๊ายบาย "หัวลำโพง" ดีเดย์ 19 ม.ค.2566 เปิดหวูด 52 ขบวน ณ "สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์"

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เป็นประเด็นที่สังคมไทยพูดถึงกันอย่างมากในช่วงที่ผ่านมา ถึงการปรับเปลี่ยนบทบาท "หัวลำโพง" หรือสถานีรถไฟกรุงเทพ ที่นับถึงปัจจุบันอยู่คู่กับคนไทยมาเป็นเวลา 106 ปีแล้ว กรณีที่จะยุติการให้บริการเป็นสถานีต้นทาง-ปลายทางเพื่อนำพื้นที่กว่า 120 ไร่ไปพัฒนาใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์แบบ "มิกซ์ยูส" ส่วนขบวนรถไฟทั้งหมดให้ย้ายไปให้บริการที่สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ (สถานีกลางบางซื่อ) ซึ่งมีเสียงคัดค้านรวมถึงความไม่พร้อมในการให้บริการ ...จึงมีการปรับเปลี่ยนแผนใหม่ เป็นการย้ายเฉพาะขบวนรถเชิงพาณิชย์ ... รถไฟทางไกล ให้บริการที่สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ เท่านั้น ส่วนรถชานเมือง ขบวนรถธรรมดา และขบวนรถนำเที่ยวทุกเส้นทาง ยังคงให้บริการต้นทาง-ปลายทางที่สถานีหัวลำโพงเช่นเดิม

@ ดีเดย์ 19 ม.ค. 2566 เปิดหวูดรถไฟทางไกล ณ "สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์" เดินรถขบวนปฐมฤกษ์ไป "อยุธยา"

ล่าสุดที่ประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ครั้งที่ 13/2565 เมื่อวันที่ 24 พ.ย. 2565 ได้รับทราบแผนการเตรียมความพร้อมการปรับเปลี่ยนขบวนรถไฟทางไกล และขบวนรถไฟชานเมือง ณ สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ เพื่อพัฒนาสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์เป็นสถานีหลักและลดปัญหาการจราจรติดขัดทางรถไฟในพื้นที่กรุงเทพมหานคร

โดย รฟท.มีกำหนดเริ่มให้บริการรถไฟทางไกล ณ สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ตั้งแต่วันที่ 19 ม.ค. 2566 เป็นต้นไป โดยในวันดังกล่าวจะมีการเปิดเดินขบวนรถไฟเที่ยวปฐมฤกษ์ในเวลา 13.19 น. ด้วยขบวนรถดีเซลรางปรับอากาศ KIHA เดินรถจากสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์-สถานีอยุธยา

ซึ่งขณะนี้ รฟท.ได้เตรียมความพร้อมในการปรับเปลี่ยนขบวนรถไฟทางไกลไปให้บริการที่สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ในทุกๆ ด้าน ซึ่งจะมีการประกาศแจ้งประชาสัมพันธ์ข้อมูลรายละเอียดต่างๆ ล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 30 วัน หรือภายในวันที่ 19 ธ.ค. 2565 นี้ เพื่อให้ประชาชนรับทราบอย่างเป็นทางการ

ขณะที่ รฟท.ได้จัดเตรียมเรื่องการจำหน่ายตั๋วโดยสารที่สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ โดยตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย. 2565 ที่ผ่านมา ได้เปิดให้บริการเคาน์เตอร์จำหน่ายตั๋วโดยสารของระบบรถไฟทางไกล ที่บริเวณชั้น 1 ฝั่งทางด้านทิศเหนือ ที่ให้บริการขบวนรถไฟทางไกล (ฝั่ง LD) และฝั่งทางด้านทิศใต้ อยู่ระหว่างระบบรถไฟชานเมืองสายสีแดง และรถไฟฟ้า MRT (ฝั่ง CT)

เป็นการอำนวยความสะดวกให้ผู้โดยสารที่มีความประสงค์ซื้อและจองตั๋วโดยสารขบวนรถไฟทางไกล สามารถซื้อตั๋วโดยสารได้ทุกขบวน ทั้งตั๋วประจำวัน ตั๋วล่วงหน้า และตั๋วขบวนรถนำเที่ยว


@รถไฟทางไกล “สายเหนือ อีสาน และใต้” 52 ขบวน โบกมือลา "หัวลำโพง"

สำหรับขบวนรถไฟทางไกลที่จะเข้าจอด ณ “สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์” ตามแผนการปรับเปลี่ยนสถานีต้นทางและปลายทาง จากสถานีกรุงเทพ (หัวลำโพง) เป็นสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ (สถานีกลางบางซื่อ) ระยะที่ 1 จะเป็นกลุ่มขบวนรถด่วนพิเศษ ขบวนรถด่วน และขบวนรถเร็วทุกสาย (ยกเว้นสายตะวันออก) ส่วนกลุ่มขบวนรถชานเมือง ขบวนรถธรรมดา และขบวนรถนำเที่ยวทุกสาย ยังคงให้บริการต้นทาง-ปลายทางที่สถานีหัวลำโพงตามเดิม

ขบวนรถไฟทางไกลเชิงพาณิชย์มีทั้งหมด 66 ขบวน แต่เนื่องจากสถานการณ์โควิดที่ผ่านมาได้มีการงดเดินรถไปจำนวนหนึ่ง ปัจจุบันทำการเดินรถบริการจำนวน 52 ขบวน ซึ่งทั้ง 52 ขบวนนี้จะเข้าให้บริการที่สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ตั้งแต่วันที่ 19 ม.ค. 2566 เป็นต้นไป ประกอบด้วย

รถไฟทางไกลสายเหนือ 14 ขบวน ได้แก่ กรุงเทพฯ-เชียงใหม่, กรุงเทพฯ-เด่นชัย ซึ่งเดิมสายเหนือมีจำนวน 18 ขบวน ปัจจุบันงดเดินรถ 4 ขบวน เช่น กรุงเทพฯ-สวรรคโลก-ศิลาอาสน์

- รถไฟทางไกลสายตะวันออกเฉียงเหนือ 18 ขบวน ได้แก่ กรุงเทพฯ-อุบลราชธานี, กรุงเทพฯ-หนองคาย ซึ่งเดิมสายอีสาน มี 24 ขบวน ปัจจุบันงดเดินรถ 4 ขบวน

- รถไฟทางไกล สายใต้ 20 ขบวน ได้แก่ กรุงเทพฯ-ชุมทางหาดใหญ่, กรุงเทพฯ-สุราษฎร์ธานี, กรุงเทพฯ-ตรัง, กรุงเทพฯ-นครศรีธรรมราช, กรุงเทพฯ-สุไหงโก-ลก ซึ่งเดิมมีจำนวน 24 ขบวน ปัจจุบันงดเดินรถ 4 ขบวน

ในการเดินรถนั้นจะปรับเส้นทางวิ่งขบวนสายเหนือ และสายอีสาน ยกขึ้นไปวิ่งบนทางยกระดับ ตั้งแต่สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ ถึงสถานีรังสิต โดยจะมีสถานีให้บริการ 3 สถานี ได้แก่ สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ สถานีดอนเมือง และสถานีรังสิต และยกเลิกรับ-ส่งผู้โดยสารที่ที่หยุดรถนิคมรถไฟ กม.11 สถานีบางเขน (สถานีระดับพื้นดิน) ที่หยุดรถทุ่งสองห้อง สถานีหลักสี่ (สถานีระดับพื้นดิน) ที่หยุดรถการเคหะ กม.19 และเปลี่ยนที่ตั้งสถานีดอนเมือง จากเดิมระดับพื้นดิน ไปยังสถานียกระดับ (ที่เดียวกับสถานีรถไฟฟ้าสายสีแดง)

ระยะที่ 2 ในอนาคต เมื่อมีการก่อสร้างโครงการระบบรถไฟชานเมืองสายสีแดง ส่วนต่อขยาย จากสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ ถึงสถานีหัวหมาก และสถานีกรุงเทพ (หัวลำโพง) จะปรับเปลี่ยนสถานีต้นทางและปลายทาง กลุ่มขบวนรถชานเมือง ขบวนรถธรรมดา และขบวนรถด่วนพิเศษสายตะวันออกบางขบวน เป็นสถานีมักกะสัน

พร้อมปรับเปลี่ยนสถานีต้นทางและปลายทาง กลุ่มขบวนรถชานเมือง ขบวนรถธรรมดา สายเหนือ สายอีสาน และสายใต้บางขบวน เป็นสถานีชุมทางบางซื่อ (สถานีระดับพื้นดิน) สถานีดอนเมือง (สถานียกระดับ) และสถานีชุมทางตลิ่งชัน


ทำความเข้าใจง่ายๆ คือ นับจากวันที่ 19 ม.ค. 2566 ขบวนรถไฟสายเหนือ สายตะวันออกเฉียงเหนือทุกขบวน จะวิ่งบนโครงสร้างทางยกระดับ เหมือนรถไฟสายสีแดง จะไม่เห็นขบวนรถไฟวิ่งบนระดับพื้นดินอีกแล้ว ตั้งแต่รังสิต-ดอนเมือง-บางเขน เมื่อยกรถไฟทุกขบวนขึ้นไปวิ่งข้างบน ก็จะไม่มีจุดตัดถนนอีกต่อไป

นอกจากนี้ จะมีการยกเลิกป้ายหยุดรถไฟ กม.11, สถานีบางเขน, ที่หยุดรถไฟทุ่งสองห้อง, สถานีหลักสี่ และที่หยุดรถการเคหะ กม.19 ที่เป็นชานชาลาระดับพื้นดินทั้งหมด

ส่วนสถานีรถไฟดอนเมือง จะเปลี่ยนไปใช้สถานีรถไฟดอนเมืองยกระดับ แทนสถานีระดับพื้นดิน

สำหรับผู้โดยสารที่เคยขึ้น-ลงสถานีรถไฟทางไกล (ระดับพื้นดิน) ที่มีการยกเลิกให้บริการรับ-ส่งไปนั้น รฟท.จะมีมาตรการช่วยเหลือ โดยผู้โดยสารในขบวนรถด่วนพิเศษ รถด่วน รถเร็ว ที่ซื้อตั๋วโดยสาร ระบุต้นทาง "สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์" ไปยังปลายทางสถานีใดๆ ตลอดเส้นทางสายเหนือ และสายอีสาน (ไม่รวมตั๋วโดยสารระบุต้นทางหรือปลายทางสถานีดอนเมือง และสถานีรังสิต) หากจะขึ้น-ลงที่สถานีบางเขน หรือสถานีหลักสี่ (ของสายสีแดง) สามารถนำตั๋วโดยสารแจ้งเจ้าหน้าที่สถานีรถไฟฟ้าสายสีแดง และเข้าใช้บริการรถไฟฟ้าสายสีแดง ที่สถานีบางเขน หรือสถานีหลักสี่ (ของสายสีแดง) ได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายเพิ่ม

ในหลักการเดียวกัน ซื้อตั๋วโดยสารจากสถานีต้นทางใดๆ ตลอดเส้นทางสายเหนือ และสายอีสาน (ไม่รวมตั๋วโดยสารระบุต้นทางหรือปลายทางสถานีดอนเมือง และสถานีรังสิต) หากจะไปลงที่สถานีบางเขน หรือสถานีหลักสี่ (ของสายสีแดง) สามารถนำตั๋วโดยสารแจ้งเจ้าหน้าที่สถานีรถไฟฟ้าสายสีแดง และเข้าใช้บริการรถไฟฟ้าสายสีแดง ไปสถานีบางเขน หรือสถานีหลักสี่ (ของสายสีแดง) ได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายเพิ่ม

สำหรับผู้ใช้บริการขบวนรถชานเมือง และขบวนรถธรรมดา สามารถใช้ตั๋วโดยสารรถไฟทางไกล ใช้บริการรถไฟฟ้าสายสีแดงได้ เฉพาะผู้โดยสารที่ซื้อตั๋วรถไฟทางไกลเท่านั้น

หากเป็นผู้โดยสารขบวนรถธรรมดาและชานเมือง ขบวนรถเที่ยวเข้ากรุงเทพฯ จากสถานีต้นทางตลอดทางสายเหนือ สายอีสาน ที่มีปลายทางสถานีดอนเมือง หรือสถานีชุมทางบางซื่อ และที่มีต้นทางสถานีดอนเมือง ไปปลายทางสถานีสามเสนตลอดทาง ถึงสถานีกรุงเทพ (รวมที่หยุดรถ) สามารถใช้ตั๋วโดยสารรถไฟทางไกลผ่านช่องทางพิเศษ เข้าสู่ระบบรถไฟฟ้าสายสีแดง ไปลงที่สถานีหลักสี่ และสถานีบางเขน (ของสายสีแดง)

หรือขึ้นรถไฟฟ้าสายสีแดง จากสถานีหลักสี่ และสถานีบางเขน (ของสายสีแดง) ไปลงที่ "สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์" เพื่อเปลี่ยนใช้บริการรถไฟทางไกลได้ที่สถานีชุมทางบางซื่อ (สถานีระดับพื้นดิน) ไปปลายทางสถานีกรุงเทพ (หัวลำโพง) ได้

ส่วนผู้โดยสารขบวนรถขาออกกรุงเทพ ที่มีตั๋วโดยสารต้นทางสถานีกรุงเทพ (หัวลำโพง) ตลอดทางถึงสถานีสามเสน สถานีชุมทางบางซื่อ (รวมที่หยุดรถ) ไปปลายทางสถานีดอนเมือง และทุกสถานีตลอดทางสายเหนือ สายอีสาน สามารถใช้ตั๋วโดยสารรถไฟทางไกลผ่านช่องทางพิเศษเข้าสู่ระบบรถไฟฟ้าสายสีแดง ที่สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ เพื่อมาลงที่สถานีจตุจักร สถานีวัดเสมียนนารี สถานีบางเขน (ของสายสีแดง) สถานีทุ่งสองห้อง สถานีหลักสี่ (ของสายสีแดง) และสถานีการเคหะได้

หรือใช้เพื่อขึ้นรถไฟฟ้าสายสีแดงที่สถานีจตุจักร สถานีวัดเสมียนนารี สถานีบางเขน (ของสายสีแดง) สถานีทุ่งสองห้อง สถานีหลักสี่ (ของสายสีแดง) และสถานีการเคหะ เพื่อลงที่สถานีดอนเมือง แล้วเปลี่ยนมาใช้บริการรถไฟทางไกลได้

โดยการรถไฟฯ จะไม่จำหน่ายตั๋วรถไฟทางไกลที่สถานีจตุจักร สถานีวัดเสมียนนารี สถานีบางเขน (ของสายสีแดง) สถานีทุ่งสองห้อง สถานีหลักสี่ (ของสายสีแดง) และสถานีการเคหะ โดยสามารถซื้อตั๋วโดยสารผ่านแอปพลิเคชัน D-Ticket หรือใช้ตั๋วโดยสารชนิดรายเดือนเท่านั้น


@เร่งเพิ่มสิ่งอำนวยความสะดวก ป้ายบอกทาง จุดพักคอย

”สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์” ให้บริการรถไฟทางไกลโซนประตู 4 เดินเข้าสู่ชานชาลาใกล้ที่สุด โดยบริเวณชั้นที่ 2 นั้นมีพื้นที่รวม 86,000 ตารางเมตร มีถึง 12 ชานชาลา โดยรองรับรถไฟทางไกล จำนวน 8 ชานชาลา และอีก 4 ชานชาลาสำหรับรองรับระบบรถไฟชานเมืองสายสีแดง

โดยในส่วนของรถไฟสายสีแดง จะใช้ชานชาลาที่ 3 และ 4 สำหรับเส้นทางบางซื่อ-รังสิต / ชานชาลาที่ 9 และ 10 สำหรับเส้นทางบางซื่อ-ตลิ่งชัน

ส่วนรถไฟทางไกล จำนวน 8 ชานชาลานั้น กำหนดชานชาลาที่ 1 และ 2 สำหรับรถไฟสายเหนือและสายอีสาน (ขาออก) / ชานชาลาที่ 5 และ 6 สำหรับรถไฟสายเหนือ และสายอีสาน (ขาเข้า)

ชานชาลาที่ 7 และ 8 สำหรับรถไฟสายใต้ (ขาออก) / ชานชาลาที่ 11 และ 12 สำหรับรถไฟสายใต้ (ขาเข้า)

รายงานข่าวจาก รฟท.เปิดเผยว่า ที่ผ่านมาได้มีการทดลองเดินรถ และมีทดสอบการนำหัวรถจักรวิ่งเข้าสู่ "สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์" ซึ่งหัวรถจักรที่มีในปัจจุบัน ทั้งหัวรถจักรดีเซลไฟฟ้า “อุลตร้าแมน” รถจักรธรรมดา และรถดีเซลราง มีประสิทธิภาพสามารถวิ่งเข้า "สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์" ได้ทั้งหมด โดยชั้นชานชาลามีระบบระบายอากาศ มีเครื่องดูดควัน อย่างครบถ้วนสมบูรณ์

อย่างไรก็ตาม ในระหว่างนี้ รฟท.จะเร่งเพิ่มเติมสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ภายในสถานี เช่น ป้ายบอกทาง ที่พักคอยสำหรับผู้โดยสาร


@ประเมินผู้โดยสารไม่ต่ำกว่า 2 หมื่นคนต่อวัน

สำหรับสถิติจำนวนผู้โดยสารรถไฟทางไกลทั้ง 52 ขบวน ในช่วงเดือน ต.ค. และเดือน พ.ย. 2565 มีประมาณ 6-7 แสนคนต่อเดือน หรือเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 2 หมื่นคนต่อวัน หากเป็นช่วงวันหยุดยาวหรือเสาร์อาทิตย์ อาจจะถึง 3 หมื่นคนต่อวัน

ทั้งนี้ เมื่อปรับการบริการมาที่ “สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์” และยังมีสถานียกระดับไปตลอดเส้นทางจนถึงรังสิต ซึ่งสถานีมีพื้นที่กว้างขวางและสะดวกสบาย ดังนั้นอาจจะมีผู้โดยสารส่วนหนึ่งใช้บริการสถานีรายทางที่ใกล้บ้าน เพราะสะดวกกว่า แทนที่จะต้องเข้ามาเริ่มต้นที่สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์

"ไม่มีปัญหาเรื่องความแออัดแน่นอน ซึ่งหลังจากเทศกาลปีใหม่ 2566 รฟท.จะประเมินจำนวนผู้โดยสารอีกครั้ง เพื่อเตรียมพร้อมรองรับการเดินทางสำหรับเทศกาลสงกรานต์"

หากย้อนไปดูสถิติการเดินทางในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ปี 2562 ก่อนเกิดสถานการณ์โควิด พบว่ามีผู้โดยสารใช้บริการรถไฟเดินทางถึงกว่า 1.2 แสนคนต่อวัน


@ยกรถไฟวิ่งลอยฟ้า หมดปัญหาจุดตัดหวังช่วยแก้รถติด รังสิต-บางซื่อ

การปรับเปลี่ยนดังกล่าว ต้องยอมรับว่าในมุมของประชาชนผู้ใช้บริการย่อมได้รับผลกระทบแน่นอน ซึ่งทุกคนต้องปรับตัว โดยรถไฟสายเหนือ และอีสานทั้งหมดจะใช้ทางยกระดับวิ่งลอยฟ้าตั้งแต่รังสิต จนถึงวัดเสมียนนารี มายัง "สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์" และสถานีบางซื่อ (ระดับดิน) ดังนั้น เท่ากับไม่มีจุดตัดทางรถไฟกับถนนตลอดทางเหมือนเดิมอีกแล้ว เชื่อว่าจะช่วยบรรเทาปัญหาการจราจรในกรุงเทพฯ ได้แน่นอน

ขณะที่ขบวนรถไฟจะตรงเวลามากขึ้นจากเดิมที่ต้องใช้เวลาจากรังสิตเข้ามาถึงหัวลำโพง 1.30 ชม.-2 ชม. จะเหลือแค่ 30 นาทีเท่านั้น เพราะไม่ต้องหยุดขบวนบริเวณจุดตัดถนน เวลาที่ลดลงไปจะส่งผลต่อความพึงพอใจของประชาชน แก้ปัญหาจราจร และยังลดมลพิษทางอากาศได้อีกทาง

สำหรับรถไฟทางไกล 52 ขบวน ที่จะใช้สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ เป็นต้นทาง-ปลายทาง จะทำใหขบวนรถเข้าสถานีหัวลำโพงที่มีกว่า 100 ขบวนต่อวัน ลดลงไปครึ่งหนึ่ง ลดปัญหาจุดตัดทางรถไฟกับถนนในพื้นที่ชั้นใน ลดอุบัติเหตุ และจะเป็นก้าวสำคัญของ "สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์" สู่เป้าหมาย...ศูนย์กลางคมนาคมของไทย และศูนย์กลางธุรกิจ...ที่เชื่อมระบบรางไทยสู่อาเซียน!!!


กำลังโหลดความคิดเห็น