กทพ.เปิดฟังความเห็นประชาชน ศึกษาทบทวน EIA ปรับแนวทางด่วน "ฉลองรัช" จากจตุโชติ-ถ.วงแหวนรอบที่ 3 (MR 10) วงเงินลงทุนรวม 3.3 หมื่นล้านบาท เผยมีค่าเวนคืนกว่า 7.3 พันล้านบาท เตรียมสรุปเสนอ ครม.ใน ก.พ.นี้ จ่อเปิดประมูลกลางปี กทพ.โยกเงิน TFF บวกออกพันธบัตรก่อสร้าง
นายสุรเชษฐ์ เหล่าพูลสุข ผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ครั้งที่ 2 งานศึกษาและจัดทำรายงานการขอเปลี่ยนแปลงรายละเอียดโครงการในรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม โครงการทางพิเศษสายฉลองรัช-นครนายก-สระบุรี ช่วงจตุโชติ-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร รอบที่ 3 (MR 10) ว่า เป็นการนำเสนอผลการศึกษา ร่างมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม และร่างมาตรการติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อมของโครงการฯ ให้ผู้ที่เกี่ยวข้องได้รับทราบ ซึ่งเป็นไปตามที่กระทรวงคมนาคมได้มอบหมายให้ กทพ. และกรมทางหลวง (ทล.) บูรณาการโครงการทางด่วน สายฉลองรัช-นครนายก-สระบุรี และโครงการ MR10 เพื่อแก้ไขปัญหาการคมนาคมขนส่งอย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพทั้ง 2 โครงข่าย
ทั้งนี้ ตามการศึกษาเดิมตั้งแต่ปี 2557 ซึ่ง คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ(กก.วล.) เห็นชอบรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) แล้ว และนำเสนอโครงการต่อกระทรวงคมนาคมเพื่อเสนอ ครม.แล้ว แต่เพื่อให้เป็นไปตามนโยบายการบูรณาการและโครงการทางด่วนและถนนวงแหวนรอบนอก ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงแนวทางด่วน สายฉลองรัช-นครนายก-สระบุรี จากเดิม ที่ กม.11+040 ให้แนวสายทางเชื่อมกับถนนวงแหวนรอบ 3 (MR10) และยังสามารถเชื่อมกับโครงการถนนมอเตอร์เวย์ กาญจนบุรี-สระแก้ว (MR6) จึงต้องปรับปรุงการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) ใหม่
สำหรับโครงการทางพิเศษสายฉลองรัช-นครนายก-สระบุรี ช่วงจตุโชติ-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร รอบที่ 3 (MR10) มีจุดเริ่มต้นบริเวณทางพิเศษฉลองรัชที่ด่านจตุโชติ ยกระดับข้ามถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันออก (ถนนกาญจนาภิเษก) ไปทางทิศตะวันออก ถนนหทัยราษฎร์ ถนนนิมิตใหม่ จากนั้นจะลดระดับลงสู่พื้นที่บริการทางพิเศษ (Rest Area) ในระดับดินที่ กม. 11+040 ของโครงการฯ จากนั้นจะเริ่มยกระดับอีกครั้งผ่านถนนคลองเก้า และเลี้ยวไปทางทิศเหนือเชื่อมต่อถนนลำลูกกาบริเวณใกล้คลองหกวาสายล่าง ปทุมธานี และสิ้นสุดโครงการฯ โดยเชื่อมต่อ MR10 ที่บริเวณแขวงคลองสิบ เขตหนองจอก กรุงเทพมหานคร และโครงการฯ สามารถเชื่อมต่อโครงการ MR6 กาญจนบุรี (ด่านพุน้ำร้อน) - สระแก้ว (ด่านอรัญประเทศ) ของ ทล.ได้ในอนาคต ระยะทางโครงการฯ ประมาณ 19 กิโลเมตร
ประเมินมูลค่าโครงการประมาณ 33,400 ล้านบาท เป็นค่าก่อสร้าง 26,100 ล้านบาท ค่าเวนคืนประมาณ 7,300 ล้านบาท มีมูลค่าปัจจุบันสุทธิ (NPV) 29,471.49 ล้านบาท มีผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ (EIRR) 19.57% โดยใช้เงินจากกองทุน TFF คงเหลือเงินประมาณ 14,000 ล้านบาท ซึ่งโยกมาจากโครงการทางด่วนขั้นที่ 3 ตอน N2 ร่วมกับการออกพันธบัตร
การศึกษาทบทวนผลการศึกษาความเหมาะสมและจัดทำรายงาน EIA มีระยะเวลา 12 เดือน (31 พ.ค. 2565-25 พ.ค. 2566) คาดว่า ครม.จะพิจารณาอนุมัติโครงการได้ภายในเดือน ก.พ.นี้ คู่ขนานกับการเสนอรายงาน EIA และดำเนินการประกวดราคาก่อสร้างภายในปี 2566 และดำเนินการจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน 24 เดือน (ปี 2567-2569) พร้อมกับเริ่มก่อสร้างโครงการ ใช้เวลา 36 เดือน แล้วเสร็จปี 2570 ทั้งนี้ โครงการนี้ กทพ.จะบริหารจัดการเองทั้งหมด เนื่องจากเป็นโครงการต่อเนื่องทางพิเศษฉลองรัชของ กทพ. สำหรับค่าผ่านทางคิดตามระยะทาง อัตรา 25-45 บาท สำหรับรถ 4 ล้อ