รายการ “ถอนหมุดข่าว” เผยแพร่ทางแอปพลิเคชั่น SONDHI APP และสถานีโทรทัศน์ NEWS1 โดย นพรัฐ พรวนสุข บก.ข่าวการเมืองและกระบวนการยุติธรรม เครือผู้จัดการ วันพุธที่ 4 มกราคม 2566 นำเสนอรายงานพิเศษ หน้ากาก “กูรูระบบราง” สามารถ ราชพลสิทธิ์ ปัญหาจุดยืนเลื่อนลอย?
ตั้งตัวเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการคมนาคมขนส่ง เกาะติดทุกประเด็นที่เกี่ยวกับเรื่องล้อ ราง เรือ เครื่องบิน รายของ นายสามารถ ราชพลสิทธิ์ อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ และอดีตรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร แห่งพรรคประชาธิปัตย์
ระยะหลังเป็นที่น่าสังเกตว่า นายสามารถ ที่ไม่ได้มีตำแหน่งแห่งที่อะไร และสถาปนาตัวเองเป็น “กูรูระบบราง” ดูจะให้ความสนใจกับโครงการสัมปทานก่อสร้าง “รถไฟฟ้าสายสีส้ม” ช่วงตะวันตก (บางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย) ที่พ่วงสัมปทานเดินรถไฟฟ้าสายสีส้มตลอดสาย “เป็นพิเศษ”
จนกลายเป็น “ขาประจำ” ตามเวทีที่มีการจัดการเสวนาเรื่องนี้ พร้อมกับขาประจำรายอื่นๆ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง หัวหน้า และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชาติ, นายสุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล, นายมานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการองค์กรต้านคอร์รัปชัน (ACT)
และ พ.ต.อ.สุชาติ วงศ์อนันต์ชัย ที่ปรึกษาประธานกรรมการบริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งรายหลังชัดเจนว่าเป็น “คนของบีทีเอส”
ซึ่งเวลาขึ้นเวทีในประเด็นรถไฟฟ้าสายสีส้ม ทั้ง นายสามารถ และบุคคลมีชื่อที่ไล่เรียงมาข้างต้นต่างก็มีความเห็นในทิศทางเดียวกัน และจะ “ประสานเสียง” รุมขย่มกระทรวงคมนาคม การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศ (รฟม.) ตลอดจนเอกชนที่ชนะการประกวดราคาอย่างเผ็ดร้อน เมามัน
โดยจะมีคีย์เวิร์ดสำคัญที่ว่า โครงการนี้มี “ส่วนต่าง” ถึง 6.8 หมื่นล้านบาท พร้อมทั้งประเคนข้อหา “ทุจริตคอร์รัปชัน” ให้ด้วย
ราวกับท่องสคริปต์มาฉบับเดียวกัน ที่บังเอิญเป็นตัวเลขที่ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC บริษัทลูกของ บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ BTS ระบุใน “เอกสารข่าวประชาสัมพันธ์” เมื่อวันที่ 17 ก.ย.2565 ว่า “ในการประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้มฯ ครั้งแรก ในช่วงปี 2563 กลุ่มบริษัท BTSC ได้เข้าประมูลและขอรับเงินสนับสนุนจากภาครัฐเพียง 9,676 ล้านบาทเท่านั้น”
เมื่อนำตัวเลข 78,287 ล้านบาทของเอกชนผู้ชนะประมูล เป็นตัวตั้ง ลบด้วย 9,676 ล้านบาท ก็จะตกที่ราว 6.8 หมื่นล้านบาทนั่นเอง
ทั้งที่ตัวเลข 9,676 ล้านบาทของกลุ่มบริษัท BTSC ไม่น่าจะใช้อ้างอิงได้ เพราะเป็นตัวเลขที่ยังไม่ผ่านการเปิดซอง ที่เท่ากับว่า ยังไม่มีการรับรองอย่างเป็นทางการ ทว่ากลับมีการนำตัวเลขที่ว่ามาวิพากษ์โครงการกันเป็นคุ้งเป็นแคว
ไม่เว้นแม้แต่ นายสามารถ ซึ่งถือเป็นรายเดียวในกลุ่ม ที่เคยผ่านบทบาทผู้รับผิดชอบการประมูลงานด้านคมนาคมขนส่งของภาครัฐมาก่อนในสมัยเป็นรองผู้ว่าฯกทม. ที่เห็นดีเห็นงามกับตัวเลขส่วนต่าง 6.8 หมื่นล้านบาท และล่าสุดยังโพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กอีกว่า ส่วนต่าง “บวม” ไปถึง 7.5 หมื่นล้านบาทแล้ว
ทั้งที่ย้อนกลับสมัย “ผู้ว่าฯสุขุมพันธุ์” ช่วงปี 2562 ที่ “ชายหมู” ระหองระแหงกับพรรคประชาธิปัตย์แล้ว ก็มีประเด็นว่าจ้าง BTS เดินรถส่วนต่อขยายมูลค่ากว่า 1.76 แสนล้านบาท ก็เป็น นายสามารนถ ที่ออกมาคัดค้านโดยระบุว่า ราคาแพงมากเมื่อเทียบกับรถไฟฟ้าสายอื่นที่ รฟม.ดำเนินการอยู่ และจะทำให้รัฐเกิดความเสียหาย ควรทบทวนสัญญาใหม่
มาวันนี้ นายสามารถ กลับมายืนอยู่ข้าง เอกชนรายเดิม ที่ตัวเองเคยวิพากษ์ว่าโขกค่าจ้างแบบแพงหูฉี่ ไม่เท่านั้น นายสามารถ ยังใช้หน้ากาก “กูรูระบบราง” ออกมาสนับสนุนให้รัฐเจรจากับ BTS เพื่อต่อสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว โดยอ้างว่า จะทำค่าโดยสารถูกลงอีกต่างหาก
ทำเอาผู้ที่ติดตามบทบาท นายสามารถ มาโดยตลอด ถึงกับต้องแปลกใจกับการเปลี่ยนจุดยืนของ “กูรูระบบราง” คนนี้.
--------------------------------
**หมายเหตุ
ดาวโหลดแอป Sondhi App ได้แล้ว
ระบบ iOS ไปที่ AppStore : https://apps.apple.com/th/app/sondhi-app/id1588046647
ระบบ android ไปที่ Google Play : https://play.google.com/store/apps/details?id=com.sondhitalk.asia.android
สมัครสมาชิกได้แล้ววันนี้
รายเดือนเพียง เดือนละ 99 บาท
รายปี 990 บาท (10 เดือน แถม 2 เดือน )
ถ้ามีปัญหาการใช้งาน app หรือการสมัครสมาชิกใน app ติดต่อสอบถามได้ที่ Line id : @sondhitalk หรือ https://lin.ee/Skns1k1