xs
xsm
sm
md
lg

“ศักดิ์สยาม” ย้ำไม่มีแทรกแซงสอบเปลี่ยนป้าย 33 ล้าน คณะ กก.มีอิสระเต็มที่ เชื่อผลสอบโปร่งใส

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



"ศักดิ์สยาม" ย้ำไม่มีแทรกแซง ให้อิสระคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงเปลี่ยนป้าย "สถานีบางซื่อ" อย่างเต็มที่ รอผล 20 ม.ค.มั่นใจโปร่งใส ขณะที่ ก.พ.นี้ชง ครม.ขออนุมัติรถไฟทางคู่ "ขอนแก่น-หนองคาย" และชุมทางจิระ-อุบลฯ วงเงิน 6.6 หมื่นล้านบาท

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวถึงกรณีมีการตั้งข้อสังเกตโครงการก่อสร้างปรับปรุงป้ายชื่อสถานีกลางบางซื่อ เป็นสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์และตราสัญลักษณ์ของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ว่า ขณะนี้กระทรวงคมนาคมได้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้วเมื่อวันที่ 5 ม.ค. 2566 ให้เวลา 15 วัน โดยคณะกรรมการฯ ประชุมนัดแรกแล้วเมื่อวันที่ 10 ม.ค.ที่ผ่านมา และรายงานผลให้ทราบภายในวันที่ 20 ม.ค. 2566 ซึ่งมีกรอบการดำเนินงานแล้ว

ทั้งนี้ คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงที่ตั้งขึ้นเป็นบุคลากรที่มีความรู้ ความสามารถ เชื่อถือได้ ทั้งรองปลัดกระทรวงคมนาคม อธิบดีกรมการขนส่งทางราง ผู้แทนภายนอกจากสภาวิศวกร วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย สภาวิศวกร และกรมบัญชีกลาง ที่จะมาดูเรื่องราคากลาง หากไม่เชื่อบุคคลเหล่านี้ตนก็ไม่รู้จะหาบุคคลจากไหนมาตรวจสอบแล้ว ขอให้รอผล 15 วัน ขอให้คณะกรรมการฯ ได้ทำหน้าที่อย่างอิสระ ซึ่งผมไม่ได้เข้าไปแทรกแซงใดๆ ทั้งสิ้น เมื่อผลออกมาอย่างไร จึงจะพิจารณาต่อไป

ส่วนกรณี นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการ รฟท. ได้ทำหนังสือถึงผู้รับจ้างให้ระงับการรื้อย้ายปรับปรุงป้ายฯ ก่อน เป็นเรื่องดุลยพินิจ เพื่อให้เกิดความโปร่งใส รอการตรวจสอบให้มีผลออกมาชัดเจนก่อน ตนเชื่อว่าไม่มีอะไรต้องปิดบัง แต่การดำเนินการจะให้ไปทันใจกับบางคนที่บอกว่าตัวเองรู้ทุกเรื่อง คงทำไม่ได้ ผมเชื่อว่าหากตรวจสอบตามกระบวนการ โดยบุคลากรที่เชี่ยวชาญและมีการดำเนินการที่เป็นกลางจะตอบสังคมได้


@ “ศักดิ์สยาม” เผย ก.พ.นี้ชง ครม.ขออนุมัติรถไฟทางคู่ 2 เส้นทาง และรถไฟสีแดงต่อขยาย

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม กล่าวว่า ขณะนี้ได้สรุปแผนการพัฒนาโครงการรถไฟทางคู่ ระยะที่ 2 จำนวน 2 เส้นทาง คือ ขอนแก่น-หนองคาย ระยะทาง 167 กม. มูลค่าโครงการ 29,748 ล้านบาท และเส้นทางชุมทางถนนจิระ-อุบลราชธานี ระยะทาง 308 กม. วงเงิน 36,683 ล้านบาท คาดนำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาอนุมัติได้ภายในเดือน ก.พ. 2566

รวมถึงโครงการสายสีแดง ส่วนต่อขยาย 5 เส้นทาง วงเงินรวมกว่า 6.8 หมื่นล้านบาท คือ ช่วงรังสิต-มธ.รังสิต ระยะทาง 8.84 กม. ช่วงบางซื่อ-หัวลำโพง ระยะทาง 5.76 กม. ช่วงบางซื่อ-มักกะสัน-หัวหมาก ระยะทาง 20.14 กม. ช่วงตลิ่งชัน-ศาลายา ระยะทาง 14.80 กม. ช่วงตลิ่งชัน-ศิริราช ระยะทาง 5.70 กม. และคาดว่าจะเปิดประกวดราคาในปี 2566

@เดินหน้ารถไฟไทย-จีน สัญญา 3-1 หลังศาล ปค.สูงสุดมีคำสั่งชี้ขาดแล้ว

สำหรับโครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทย และรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนในการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงเพื่อเชื่อมโยงภูมิภาค ช่วงกรุงเทพมหานคร-หนองคาย (ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพมหานคร-นครราชสีมา) งานสัญญาที่ 3-1 งานโยธาสำหรับช่วง แก่งคอย-กลางดง และช่วงปางอโศก-บันไดม้า ที่ล่าสุดศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษายืนตามศาลปกครองชั้นต้นยืน “บีพีเอ็นพี” ไม่มีคุณสมบัติเข้าประกวดราคานั้น นายศักดิ์สยามกล่าวว่า คำวินิจฉัยของศาลถือว่าเป็นที่สุดแล้ว ขั้นตอนจากนี้ของ รฟท.คือเรียกบริษัทรายต่อไปมาเจรจาเพื่อให้เกิดความโปร่งใสตามขั้นตอน ตนเห็นว่าเมื่อมีข้อสงสัยก็มีการตรวจสอบกัน อาจจะเสียเวลาบ้าง แต่ก็ถือว่าดี เป็นการดำเนินการตามขั้นตอนกฎหมายให้เกิดความชัดเจน

สำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) จะเดินหน้าอย่างไร นายศักดิ์สยามกล่าวว่า ตนพูดเป็นรอบที่พันแล้วว่าเรื่องนี้ต้องรอศาลพิจารณาตัดสินให้ถึงที่สุดถึงจะดำเนินการได้ ซึ่งตนเคารพศาล ดังนั้นอย่าฟังคนอื่น ที่ไม่ได้เป็นผู้รับผิดชอบ กระทรวงคมนาคมและตนเองจะดำเนินการอะไร ต้องยึดระเบียบ กฎหมาย และหลักธรรมาภิบาล ไม่มีการทำอะไรที่ผิดจากระเบียบและไม่มีอะไรเหนือศาลได้ ส่วน คณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 แห่งพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) (คณะกรรมการคัดเลือกฯ) ขณะนี้ทราบว่ายังไม่มีการดำเนินการใดๆ เพราะต้องรอศาลเหมือนกัน


กำลังโหลดความคิดเห็น