“ศักดิ์สยาม” เร่งชง ครม. ม.ค. 66 เคาะบิ๊กโปรเจกต์ 5 แสนล้านบาท “รถไฟไทย-จีน” เฟส 2, สีแดงต่อขยาย, ทางคู่ เฟส 2 จำนวน 3 เส้นทาง รวมถึงขอเพิ่มงบมอเตอร์เวย์ "บางปะอิน-โคราช" 16 ตอน ปลื้มปี 65 "เปิดรถเมล์ไฟฟ้า-เรือไฟฟ้า-สายสีแดง"
นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมสัมมนาเชิงปฏิบัติการ “สรุปผลงานปี 2565 และขับเคลื่อนนโยบายไปสู่การปฏิบัติในปี 2566 และปี 2567” ว่า เป็นการติดตามผลการดำเนินการตามนโยบาย และทบทวน ถอดบทเรียนการดำเนินงาน ข้อจำกัด ปัญหา อุปสรรค ที่ผ่านมา เพื่อหาแนวทางในการผลักดันให้เกิดผลสัมฤทธิ์โดยเร็ว อันจะนำไปสู่การเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานปี 2566 และปี 2567 ร่วมกัน ซึ่งตั้งแต่เข้ารับตำแหน่งจนถึงปัจจุบันได้มอบนโยบายสำคัญและได้มีการผลักดันไปสู่การปฏิบัติในทุกมิติทั้งทางบก ทางราง ทางน้ำ และทางอากาศแล้ว จำนวน 105 นโยบาย
ในปี 2565 กระทรวงคมนาคมมี 79 นโยบาย 167 โครงการ สามารถสรุปภาพรวมได้ว่าดำเนินการแล้วเสร็จหรือเปิดให้บริการแล้ว รวม 61 โครงการ อยู่ระหว่างดำเนินการ จำนวน 64 โครงการ และอยู่ในช่วงจัดทำแผนงานหรือออกแบบ จำนวน 42 โครงการ
โดยเห็นว่างานที่ประสบความสำเร็จตามเป้าหมาย ด้านทางบก ในส่วนของการให้บริการขนส่งสาธารณะนั้น การนำรถโดยสารพลังงานไฟฟ้า (EV Bus) มาให้บริการ ทางน้ำ คือการให้บริการเรือพลังงานไฟฟ้า (EV Boat) ส่วนทางราง คือการเปิดให้บริการรถไฟชานเมืองสายสีแดง ที่เป็นรูปแบบการบริหารรถไฟฟ้าที่เป็นต้นแบบ แม้จะรอการต่อขยาย 5 เส้นทางแต่จำนวนผู้โดยสารเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และในปี 2566 จะมีการนำรถไฟพลังงานไฟฟ้า (EV on Train) มาให้บริการ ส่วนทางอากาศ คือการพัฒนาสนามบินเป็นศูนย์กลางรวบรวม กระจายสินค้าเกษตรและสินค้าเน่าเสียง่าย ที่ดำเนินการได้ตามแผน
@ ม.ค. 66 เดินหน้าชง ครม.เคาะ "รถไฟสีแดงต่อขยาย" ไฮสปีดไทย-จีนเฟส 2, เพิ่มค่าก่อสร้างมอเตอร์เวย์ "บางปะอิน"
นายศักดิ์สยามกล่าวว่า ในปี 2566 จะขับเคลื่อนโครงการต่อจากปี 2566 และผลักดันโครงการต่างๆ ให้เกิดเป็นรูปธรรม โดยภายในเดือน ม.ค.-ก.พ. 2566 กระทรวงคมนาคมมีแผนที่จะผลักดันโครงการที่มีความพร้อมนำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาอนุมัติ ได้แก่ โครงการรถไฟความเร็วสูง ไทย-จีน ระยะที่ 2 เส้นทางนครราชสีมา-หนองคาย ระยะทาง 356 กม. วงเงินลงทุน 3.2 แสนล้านบาท
โครงการสายสีแดง ส่วนต่อขยาย 5 เส้นทาง วงเงินรวมกว่า 6.8 หมื่นล้านบาท คือ ช่วงรังสิต-มธ.รังสิต ระยะทาง 8.84 กม. ช่วงบางซื่อ-หัวลำโพง ระยะทาง 5.76 กม. ช่วงบางซื่อ-มักกะสัน-หัวหมาก ระยะทาง 20.14 กม. ช่วงตลิ่งชัน-ศาลายา ระยะทาง 14.80 กม. ช่วงตลิ่งชัน-ศิริราช ระยะทาง 5.70 กม. และคาดว่าจะเปิดประกวดราคาในปี 2566
นอกจากนี้ ยังมีโครงการรถไฟทางคู่ ระยะที่ 2 เส้นทางขอนแก่น-หนองคาย ระยะทาง 167 กม. มูลค่าโครงการ 29,748 ล้านบาท เส้นทางปากน้ำโพ-เด่นชัย ระยะทาง 280.5 กม. วงเงิน 59,399.80 ล้านบาท เส้นทางชุมทางถนนจิระ-อุบลราชธานี ระยะทาง 308 กม. วงเงิน 36,683 ล้านบาท
และจะเร่งสรุปการปรับแบบและเพิ่มวงเงินค่าก่อสร้างโครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหรือมอเตอร์เวย์ (M6) สายบางปะอิน-นครราชสีมา จำนวน 16 ตอน ซึ่งขณะนี้กรมทางหลวง (ทล.) ได้สรุปรายละเอียดแล้ว กระทรวงคมนาคมจะตรวจสอบเพื่อนำเสนอ ครม.ต่อไป โดยค่างานที่เพิ่มขึ้นจะไม่เกิน 6,000 ล้านบาท ซึ่งอยู่ในกรอบวงเงินโครงการที่ยังเหลืออยู่
นอกจากนี้ ตั้งแต่เดือน ม.ค. 2566 จะมีการปรับปรุงวิธีการปฏิบัติงานของกระทรวงฯ ทุกส่วนงานทั้งหมด โดยปลัดกระทรวงคมนาคมจะออกหนังสือแจ้งไปยังทุกหน่วยงานให้รับทราบและปฏิบัติ โดยกรณีที่มีการนำเสนอเรื่องมาที่กระทรวงคมนาคมแล้วกระทรวงฯ พิจารณาเห็นว่าเรื่องยังไม่เรียบร้อย ให้หน่วยงานไปดำเนินการเพิ่มเติม จะต้องเร่งดำเนินการให้เรียบร้อยภายใน 14 วัน และเร่งเสนอกลับมากระทรวงฯ หากล่าช้าก็จะมีการพิจารณาประเมินผู้ที่มีหน้าที่รับผิดชอบ ทั้งนี้เพื่อให้การทำงานมีประสิทธิภาพ ชัดเจน รวดเร็วและโปร่งใส เพราะว่าที่ผ่านมาพบว่ามีงานตกค้างอยู่หลายจุด ตรวจสอบไม่ได้ และทำให้ต้องล่าช้า
“ในการทำงานของผม ไม่คิดเรื่องวาระ ซึ่งตั้งแต่ผมเข้ารับตำแหน่ง รมต.คมนาคมได้มีการทำงานต่อเนื่องจากรัฐมนตรีคนเก่า โดยสิ่งที่ดำเนินการจะเป็นไปตาม Action Plan ผลการศึกษาของแต่ละโครงการที่มีความพร้อม ก็เร่งนำเสนอ ครม.และเดินหน้าเต็มที่”
@เร่งเปรียบเทียบต้นทุนโครงการแลนด์บริดจ์ ชง ครม.เห็นชอบ
ส่วนความคืบหน้าโครงการสะพานเศรษฐกิจเชื่อมฝั่งทะเลอ่าวไทย-อันดามัน (แลนด์บริดจ์) ชุมพร-ระนอง คาดว่าจะนำเสนอ ครม.ได้ในเดือน ม.ค. 2566 เช่นกัน โดยอยู่ระหว่างทำตารางเปรียบเทียบการลงทุนโครงการแลนด์บริดจ์กับโครงการที่มีลักษณะใกล้เคียงกัน ทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อให้เห็นมูลค่าที่มีความเป็นไปได้ในการลงทุน ซึ่งโครงการนี้นักลงทุนต่างประเทศให้ความสนใจอย่างมาก
@ผุดแนวคิด ขยายบัตรสวัสดิการฯ ขึ้นระบบขนส่งได้ทุกประเภท
นอกจากนี้ ยังมีแนวคิดในการสนับสนุนการเดินทางด้วยระบบขนส่งมวลชน โดยการอุดหนุนค่าเดินทางในระบบขนส่งสาธารณะ สำหรับผู้มีรายได้น้อย 1,500 บาทต่อเดือน เพื่อให้ครอบคลุมการเดินทางในระบบขนส่งสาธารณะได้ทุกประเภท จากปัจจุบันวงเงิน 1,500 บาทต่อเดือนแต่จำกัดวงเงินในแต่ละระบบ คือ รถ ขสมก.และรถไฟฟ้า วงเงิน 500 บาท, รถ บขส. วงเงิน 500 บาท, รถไฟ วงเงิน 500 บาท ซึ่งเรื่องนี้เป็นแนวคิดที่กระทรวงคมนาคมจะนำเสนอเพื่อช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายให้แก่ประชาชน ทั้งนี้ ต้องดูภาระทางการเงินของกระทรวงการคลังประกอบการพิจารณด้วย
ล่าสุดที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 27 ธ.ค. 2565 มีมติเห็นชอบมาตรการช่วยเหลือเงินพิเศษแก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ โดยเพิ่มวงเงินอีก 200 บาทต่อเดือน ต้องใช้เงินกว่า 2,644 ล้านบาท โดยอนุมัติงบกลางเพื่อเป็นการช่วยเหลือและบรรเทาภาระค่าครองชีพให้แก่ผู้มีบัตรฯ จำนวน 13.2 ล้านคน เป็นระยะเวลา 1 เดือน (ประจำเดือนมกราคม 2566)