xs
xsm
sm
md
lg

“คมนาคม”เปิดวิ่งรถเมล์ไฟฟ้าแล้ว122 เส้นทาง 1,250 คัน ‘ไทยสมายล์บัส’ ทุ่ม 2.4 หมื่นล้านปี 66 เพิ่มเป็น เป็น 3,500 คัน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



คมนาคมลุยรถเมล์ไฟฟ้าปี 65 วิ่งแล้ว 1,250 คัน“ไทยสมายล์บัส-ผู้ประกอบการเอกชน วิ่ง 122 เส้นทาง พร้อมเปิดใช้บัตร Hop ตั๋วเหมา 50 บาท/วัน รถเมล์ไฟฟ้าเชื่อมเรือไฟฟ้าไม่จำกัดเที่ยว พร้อมลงทุน 2.4 หมื่นล้านบาท ปี 66 เพิ่มเป็น 3,500 คัน
 
นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานในพิธีเปิดงาน Thai Smile Happy Gift : Start to Connect ส่งความสุขปีกระต่ายทอง จากไทยสมายส์ กรุ๊ป ว่า บริษัท ไทย สมายล์ บัส จำกัด ผู้ประกอบการเดินรถโดยสารประจำทาง ได้มีการเปิดให้บริการรถโดยสารพลังงานไฟฟ้า (รถเมล์อีวี) หรือ EV Bus เป็นครั้งที่ 5 แล้ว และยังมีการเชื่อมโยงการเดินทางและการชำระค่าโดยสารของรถโดยสารพลังงานไฟฟ้ากับเรือโดยสารพลังงานไฟฟ้าของไทยสมายล์กรุ๊ปทั้งหมด เพื่อเพิ่มความสะดวกให้ประชาชนหันมาใช้บริการรถโดยสารสาธารณะ

โดยกระทรวงฯและกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) ได้ร่วมกับ ไทยสมายล์กรุ๊ปได้มอบของขวัญมอบให้กับผู้โดยสารในช่วงเทศกาลปีใหม่ ตามนโยบายของกระทรวงคมนาคม ที่มีเป้าหมายจะบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายในการเดินทางของประชาชนในเขตกรุงเทพมหานครและจังหวัดที่มีเขตพื้นที่ต่อเนื่องกัน โดยนำระบบการชำระค่าโดยสารด้วยบัตรฮ๊อบ หรือ Hop card ผ่านเครื่อง E60 เริ่มใช้ได้ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ซึ่ง เป็นการอำนวยความสะดวกด้วยระบบสังคมไร้เงินสด (Cashless Society) โดยมี 2 แพ็คเกจ คือ 1. ค่าโดยสารไม่เกิน 40 บาทต่อวัน (Daily max fare) โดยไม่จำกัดสาย และไม่จำกัดจำนวนเที่ยวต่อวัน สำหรับการเดินทางด้วยรถโดยสารพลังงานไฟฟ้าในโครงข่ายของไทยสมายล์กรุ๊ปกว่า 120 เส้นทาง 2. คิดราคาค่าโดยสารสูงสุด 50 บาทต่อวัน โดยไม่จำกัดสาย และไม่จำกัดจำนวนเที่ยวต่อวัน สำหรับการเดินทางด้วยรถโดยสารพลังงานไฟฟ้าและเรือโดยสารพลังงานไฟฟ้า
 
ปัจจุบัน มีการเปิดให้บริการรถโดยสารพลังงานไฟฟ้าแล้ว 122 เส้นทาง มีรถให้บริการ 1,250 คัน ครบตามเป้าหมายในปี 2565 มีการเชื่อมโยงการเดินทางที่ตอบโจทย์ประชาชน โดยจากสถิติการเดินทางพบว่ามีผู้นิยมใช้บริการในแต่ละวันเฉลี่ยมากกว่า 10,000 คน และปี 2566 ตั้งเป้าเพิ่มรถโดยสารพลังงานไฟฟ้า เป็น 3,500 คัน เพื่อให้บริการอย่างเต็มที่แก่ผู้โดยสารในเขตกรุงเทพฯ

“กระทรวงคมนาคมยังอยู่ระหว่างการเร่งพัฒนาโครงข่ายรถไฟฟ้า ซึ่งในปี 2572 โครงข่ายจะมีความสมบูรณ์มากขึ้น ดังนั้นจะต้องมีระบบฟีดเดอร์ ในการเชื่อมต่อกับสถานีรถไฟฟ้าให้เกิดความสะดวกที่สุด ซึ่งการพัฒนายกระดับการบริการรถโดยสารพลังงานไฟฟ้าแล้ว ที่สะดวก สะอาด ปลอดภัย ราคาสมเหตุสมผล จึงช่วยจูงใจให้ประชาชนลดการใช้รถยนต์ส่วนตัวมาใช้ขนส่งสาธารณะ และแก้ปัญหาการจราจรในกทม.”นายชยธรรม์กล่าว


นายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) กล่าวว่า ตามแผนปฎิรูปเส้นทางรถเมล์ที่ขบ.เปิดหาผู้ประกอบการรายใหม่ 77 เส้นทางนั้น เป็นของบริษัท ไทย สมายล์ บัส จำนวน 71 เส้นทาง และยังมีผู้ประกอบการเอกชนอีก 2 ราย ที่ได้รับอนุญาตอีก 6 เส้นทาง โดยมีรถโดยสารพลังงานไฟฟ้าจำนวน 800 คัน นอกจากนี้ยังมีผู้ประกอบการตามใบอนุญาตเดิมอีกจำนวน 53 เส้นทาง ซึ่งทางไทย สมายล์ บัส ได้เข้าไปร่วมบูรณาการกับผู้ประกอบการเดิม ประมาณ 45 เส้นทาง ช่วยจัดหารถโดยสารพลังงานไฟฟ้ามาวิ่งให้บริการ ประมาณ 450 คัน เพื่อให้เป็นตามเงื่อนไขการปฎิรูปรถเมล์ของ ขบ. ในช่วงเปลี่ยนผ่าน ทำให้ปัจจุบัน มีรถโดยสารพลังงานไฟฟ้าให้บริการแล้วประมาณ 1,250 คัน ให้บริการ 122 เส้นทาง

สำหรับองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) จำนวนมี 107 เส้นทาง ขบ.มีการกำหนดมาตรฐาน การให้บริการทั้งตัวรถ และการบริการของพนักงาน เช่นเดียวกัน ซึ่งขสมก.ต้องพัฒนาปรับปรุงบริการ รวมถึงจัดหารถใหม่เช่นกัน


ด้านนางสาวกุลพรภัสร์ วงศ์มาจารภิญญา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของบริษัท ไทย สมายล์ บัส จำกัด ได้ประกาศความสำเร็จของบริษัทในปี 2565 ว่า บริษัทและบริษัทในกลุ่มไทยสมายล์กรุ๊ปสามารถเปิดให้บริการรถโดยสารประจำทางแล้วกว่า 120 เส้นทาง หรือกว่า 1,250 คัน และยังทำระบบเชื่อมโยงการเดินทางและการชำระค่าโดยสารของรถโดยสารพลังงานไฟฟ้ากับเรือโดยสารพลังงานไฟฟ้าของไทยสมายล์กรุ๊ปทั้งหมดเข้าด้วยกัน ด้วยระบบโครงข่ายเดียว (Single Network) จนมีศักยภาพที่จะรองรับความต้องการเดินทางของประชาชนได้มากกว่า 3 ล้านคน อีกทั้งมีแผนขยายการลงทุนเพิ่มเติมในอนาคตเพื่อจัดรถโดยสารพลังงานไฟฟ้าเพิ่มเติมอีกจนมีจำนวนรวมไม่น้อยกว่า 3,500 คัน ด้วยงบประมาณการลงทุนสูงถึงกว่า 24,000 ล้านบาท ซึ่งนอกจากจะเป็นการลงทุนเพื่อให้บริการอย่างเต็มที่แก่ผู้โดยสารในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลแล้ว ยังช่วยสร้างงาน สร้างอาชีพ ให้กับพี่น้องประชาชน มากกว่า 7,500 ตำแหน่งอีกด้วย

“บริษัทได้กำหนดแผนงานและจัดเตรียมงบประมาณไว้อย่างเพียงพอ เพื่อที่จะนำยานยนต์ไฟฟ้าทั้งทางบกและทางน้ำมาให้บริการแก่ประชาชน ด้วยคุณภาพของการให้บริการที่ดี ไม่สร้างมลภาวะต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะครอบคลุมพื้นที่ที่ได้รับอนุญาตทั้งหมด 7 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสาคร นครปฐม และฉะเชิงเทรา”นางสาวกุลพรภัสร์กล่าว




กำลังโหลดความคิดเห็น