xs
xsm
sm
md
lg

สิงคโปร์-จีนยื่นให้สัตยาบัน RCEP ไทยเร่งปรับกฎระเบียบก่อนร่วมวง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศเผยสิงคโปร์และจีนยื่นให้สัตยาบัน RCEP แล้ว สมาชิกอื่นอยู่ระหว่างดำเนินกระบวนการภายใน ส่วนไทย 3 หน่วยงานกำลังออกกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง คาดแล้วเสร็จและยื่นให้สำนักงานเลขาธิการอาเซียนได้ภายใน ต.ค. ตั้งเป้าบังคับใช้ได้ทันภายในปีนี้ ยืนยันไทยจะได้ประโยชน์ชัดเจน เหตุเกาหลี ญี่ปุ่น จีน เปิดตลาดเพิ่มเติมเพียบ

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า ขณะนี้สิงคโปร์ และจีนได้ยื่นให้สัตยาบันความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ต่อสำนักเลขาธิการอาเซียนแล้ว ส่วนประเทศสมาชิกที่เหลือ รวมทั้งไทย กำลังอยู่ระหว่างเร่งดำเนินกระบวนการภายในเพื่อให้สัตยาบันความตกลง หลังจากที่สมาชิก RCEP 15 ประเทศ ซึ่งประกอบด้วยอาเซียน 10 ประเทศ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ จีน ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ได้ร่วมลงนามความตกลง RCEP ไปเมื่อวันที่ 15 พ.ย. 2563 ที่ผ่านมา และตามขั้นตอน เมื่อสมาชิกอาเซียนจำนวนอย่างน้อย 6 ประเทศ และสมาชิกนอกอาเซียนอย่างน้อย 3 ประเทศ ได้ให้สัตยาบันความตกลง RCEP ครบแล้ว ก็จะส่งผลให้ความตกลงมีผลใช้บังคับหลังจากนั้น 60 วันทันที ซึ่งสมาชิกได้ตั้งเป้าว่าจะต้องดำเนินการให้ทันภายในสิ้นปีนี้

สำหรับความคืบหน้าของไทย หลังจากที่รัฐสภาได้ให้ความเห็นชอบผลการเจรจา RCEP เมื่อวันที่ 9 ก.พ. 2564 ขณะนี้ 3 หน่วยงานของไทยกำลังอยู่ระหว่างออกกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กรมศุลกากร อยู่ระหว่างออกประกาศกระทรวงการคลังเรื่องอัตราภาษีศุลกากรที่จะเก็บกับสมาชิก RCEP กรมการค้าต่างประเทศ อยู่ระหว่างปรับระบบการออกใบรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าภายใต้ความตกลง RCEP และสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม อยู่ระหว่างออกประกาศเรื่องเงื่อนไขการนำเข้าชิ้นส่วนยานยนต์ภายใต้ความตกลง RCEP ซึ่งเมื่อทั้ง 3 หน่วยงานดำเนินการเสร็จแล้ว ไทยก็จะสามารถยื่นให้สัตยาบันต่อสำนักเลขาธิการอาเซียนได้ทันที คาดว่าน่าจะภายในเดือน ต.ค. 2564

นางอรมนกล่าวว่า เมื่อ RCEP มีผลบังคับใช้ ไทยจะได้ประโยชน์ในเรื่องที่เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น และจีน ลดหรือยกเลิกการเก็บภาษีศุลกากรกับสินค้าส่งออกของไทยหลายรายการเพิ่มเติมจากที่เก็บกับไทยในปัจจุบัน และเพิ่มเติมจาก FTA ที่ไทยมีอยู่แล้วกับประเทศเหล่านี้ โดยเกาหลีใต้จะลดภาษีศุลกากรให้กับผลไม้สดหรือแห้ง เช่น มังคุด ทุเรียน ผลไม้และลูกนัทอื่นๆ แช่แข็งของไทย จาก 8-45% เหลือ 0% ภายใน 10-15 ปี น้ำสับปะรด จาก 50% เหลือ 0% ภายใน 10 ปี สินค้าประมง เช่น ปลาสดแช่เย็น แช่แข็ง ปลา กุ้งแห้ง ใส่เกลือหรือแช่น้ำเกลือ จาก 10-35% เหลือ 0% ภายใน 15 ปี

ส่วนญี่ปุ่น จะลดภาษีศุลกากรให้ผักปรุงแต่ง เช่น มะเขือเทศ ถั่วบีน หน่อไม้ฝรั่ง ผงกระเทียม ของไทย จาก 9-17% เหลือ 0% ภายใน 16 ปี สับปะรดแช่แข็ง จาก 23.8% เหลือ 0% ภายใน 16 ปี กาแฟคั่ว จาก 12% เหลือ 0% ภายใน 16 ปี และจีน จะลดภาษีศุลกากรให้สับปะรดปรุงแต่ง น้ำสับปะรด น้ำมะพร้าว ยางสังเคราะห์ ของไทย จาก 7.5-15% เหลือ 0% ภายใน 20 ปี ชิ้นส่วนยานยนต์ เช่น อุปกรณ์ไฟฟ้าสำหรับให้แสงสว่างหรือให้สัญญาณ ที่ปรับกระจกในรถยนต์ ลวดและเคเบิลสำหรับชุดสายไฟที่ใช้ในรถยนต์ของไทย จาก 10% เหลือ 0% ภายใน 10 ปี เป็นต้น

นอกจากนี้ สมาชิก RCEP ยังได้เริ่มประชุมเพื่อเตรียมความพร้อมในการกำกับดูแลและบังคับใช้ความตกลง RCEP ซึ่งครอบคลุมเรื่องสำคัญ เช่น กระบวนการเปิดรับสมาชิกใหม่ โครงสร้างสำนักงานเลขาธิการ RCEP และความร่วมมือทางวิชาการ เพื่อให้ผู้ประกอบการขนาดกลางและเล็ก (SMEs) สามารถใช้ประโยชน์จากความตกลง RCEP ได้อย่างเต็มที่


กำลังโหลดความคิดเห็น