xs
xsm
sm
md
lg

ครม.รับทราบอาเซียนหารือการต้าเสรีสหภาพยุโรป เร่งให้สัตยาบัน RCEP บังคับใช้ปีหน้า

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


(แฟ้มภาพ)
รองโฆษกรัฐบาล เผย ครม.รับทราบอาเซียนเดินหน้าหารือการค้าเสรีกับสหภาพยุโรป เร่งให้สัตยาบัน RCEP เพื่อบังคับใช้ 1 ม.ค. 65

วันนี้ (27เม.ย.) นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ครม.รับทราบผลการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนอย่างไม่เป็นทางการ (ASEAN Economic Ministers (AEM) ครั้งที่27 เมื่อเดือนมี.ค.ที่ผ่านมา โดยรองนายกรัฐมนตรี นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รายงานสาระสำคัญของการประชุมฯ สรุปดังนี้

1.เห็นชอบการขยายรายการสินค้าที่จำเป็นภายใต้บันทึกความเข้าใจว่าด้วยการดำเนินมาตรการที่ไม่ใช่ภาษี และสินค้าจำเป็นภายใต้แผนปฏิบัติการฮานอยว่าด้วยการส่งเสริมความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ และความเชื่อมโยงห่วงโซ่อุปทานของอาเซียนให้เข้มแข็ง ในการตอบสนองต่อการระบาดใหญ่ของโควิด-19 ซึ่งเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องจะไปหารือเพิ่มเติมเพื่อขยายการครอบคลุมสินค้าอาหารและเกษตร โดยเฉพาะอาหารหลักอย่างน้อย 200 รายการ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นต่อเอกชน

2.มอบหมายให้เจ้าหน้าที่อาวุโสด้านเศรษฐกิจของอาเซียน เร่งหารือการจัดทำความเห็นของอาเซียนต่อร่างกรอบกำหนดขอบเขตความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-สหภาพยุโรป เพื่อใช้ประกอบการหารือกับฝ่ายยุโรปต่อไป ทั้งนี้ ยังมีประเด็นที่อาเซียน-สหภาพยุโรป ยังคงมีความเห็นที่แตกต่างกัน เช่น การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ พลังงานและวัตถุดิบ และการค้าและการพัฒนาที่ยั่งยืน (ซึ่งสถานะล่าสุด กระทรวงพาณิชย์ ได้ดำเนินการจัดประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสฯ เป็นที่เรียบร้อยแล้ว)

3.รับทราบความคืบหน้าในการให้สัตยาบันความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership: RCEP) ของแต่ละประเทศ โดยที่ไทยเป็นประเทศแรกที่รัฐสภาให้ความเห็นชอบความตกลง ทั้งนี้ ที่ประชุมฯ ย้ำว่าการให้สัตยาบันจะต้องเป็นไปตามเงื่อนไขที่มีประเทศอาเซียน 6 ประเทศ และประเทศภาคีอื่น 3 ประเทศ ภายใน ต.ค. 2564 เพื่อให้ความตกลงอาเซียนมีผลบังคับใช้วันที่ 1 ม.ค. 2565

สำหรับประเทศไทย รัฐสภาได้ให้ความเห็นชอบแล้ว ขณะนี้ อยู่ระหว่างการปรับปรุงกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องให้สอดคล้องกับข้อตกลง เมื่อประเทศไทยได้ให้สัตยาบัน และข้อตกลงมีผลบังคับใช้ จะมีสินค้าประมาณ 40,000 รายการ ได้ประโยชน์โดยการลดภาษี ซึ่งจะมีสินค้าจำนวน 29,000 รายการ จากทั้งหมด 40,000 รายการ ได้รับการลดภาษีทันทีเหลือ 0% ในวันที่ 1 ม.ค. 2565 ส่วนสินค้าที่เหลือจะทยอยลดภาษีภายใน 10 - 20 ปี ให้อัตราภาษีเป็น 0% ตามเงื่อนไขของแต่ละประเทศ สำหรับภาคบริการ ไทยจะได้รับสิทธิพิเศษสามารถเข้าไปถือหุ้นได้ถึง 70 - 80% ในสาขาบริการ การก่อสร้าง เป็นต้น

4.รับทราบประเด็นที่ภาคธุรกิจของอาเซียนให้ความสำคัญและจะดำเนินการในปีนี้ เช่นการสร้างสภาพแวดล้อมและเสริมสร้างความสามารถของแรงงานในการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัล การให้โอกาสนักธุรกิจเดินทางระหว่างประเทศในช่วงนี้ และการแก้ไขปัญหาที่เกิดจากมาตรการที่มิใช่ภาษี

5.ฝ่ายไทยได้มีการหารือทวิภาคีกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมของประเทศสิงคโปร์ ที่มีความสนใจหาแหล่งลงทุนเพิ่มเติม และก่อนหน้านี้เคยแสดงความสนใจเรื่องการลงทุนในธุรกิจซ่อมบำรุงอากาศยาน ซึ่งปัจจุบันการลงทุนในธุรกิจซ่อมบำรุงฯ ไทยเปิดให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนและถือหุ้นในธุรกิจได้ถึงร้อยละ 100 ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก


กำลังโหลดความคิดเห็น