xs
xsm
sm
md
lg

จับตาตลาดแรงงานไทยปี 64 ธุรกิจปรับสู่โหมดดิจิทัลเตรียมรับมืออาชีพเปลี่ยน

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ภาวะการเติบโตทางเศรษฐกิจมีความสัมพันธ์กับตลาดแรงงานอย่างมีนัยสำคัญ ดังนั้น เศรษฐกิจไทยในปี 2563 ที่ได้รับผลกระทบเต็มๆ จากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทั่วโลกจึงสะท้อนมายังภาคแรงงานอย่างเห็นได้ชัด โดยจากตัวเลขในไตรมาส 2 ของปีนี้มีแรงงานตกงานถึง 750,000 คน หรือคิดเป็นอัตราการว่างงาน 1.95% ต่อกำลังแรงงานรวม ถือเป็นอัตราที่สูงที่สุดในรอบ 11 ปี และยังมีแรงงานที่ต้องหยุดงานชั่วคราวสูงถึง 2.5 ล้านคน สูงสุดเป็นประวัติการณ์เช่นกัน

ขณะที่ข้อมูลของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ระบุว่า แรงงานที่เคยมีงานทำกลับไม่มีงานทำอยู่ที่ 2.52 ล้านคนช่วงไตรมาส 2 เพิ่มขึ้นถึง 4 เท่า และทั้งปีแรงงานไม่มีงานทำคาดจะอยู่ราว 2-3 ล้านคน ส่วนปี 2564 คาดว่าผลกระทบต่อแรงงานจะใกล้เคียงกับปี 2563 เนื่องจากเศรษฐกิจยังคงมีความไม่แน่นอนสูงเหตุจากวัคซีนที่เป็นความหวังในการรักษาโควิด-19 แม้จะมีข่าวดีเป็นระยะแต่ก็ยังไม่ชัดเจนนักและการที่จะกระจายไปยังประเทศต่างๆ ยังต้องอาศัยเวลา

แม้ภาพรวมเศรษฐกิจในปี 64 หลายฝ่ายคาดการณ์ว่าจะมีทิศทางที่พลิกกลับมาเป็นบวกได้จากปี 2563 แต่ตลาดแรงงานของไทยยังคงเปราะบางเนื่องจากเศรษฐกิจไทยยังคงพึ่งพิงการท่องเที่ยว โดยเฉพาะจากต่างชาติที่โอกาสจะเข้ามาในไทยยังคงจะมีต่ำอยู่ เช่นเดียวกับการส่งออกยังคงมีปัจจัยเสี่ยงอีกมากระหว่างทางข้างหน้า รวมไปถึงธุรกิจขนาดกลางและย่อม (เอสเอ็มอี) ที่พบว่ามีบางส่วนไม่อาจเข้าถึงแหล่งเงินทุนทำให้เอสเอ็มอีเหล่านี้จะสามารถประคองตัวเองไปได้มากน้อยเพียงใดในปี 2564 

“ประเทศไทยในช่วงที่ผ่านมา 2 ทศวรรษไม่มีปัญหาการว่างงานเลย จนกระทั่งไตรมาส 2-3 ปีนี้ที่ผลกระทบชัดเจนขึ้นจากไวรัสโควิด-19 ซึ่งชี้ให้เห็นถึงความเปราะบางในตลาดแรงงานที่จะมีต่อเนื่องอย่างน้อยไปถึงปี 2564 และผมคิดว่าปัญหาแรงงานเป็นโจทย์ใหญ่ที่หากไม่เร่งแก้ไขจะเป็นตัวบั่นทอนลดขีดความสามารถทางการแข่งขันของไทยในอนาคต” นายธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย กล่าวแสดงความคิดเห็น

ในเวทีสัมมนาออนไลน์ที่จัดโดยสภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย (DCT) เมื่อเร็วๆ นี้เขายังได้ย้ำอีกว่า โควิด-19 เป็นตัวเร่งให้เศรษฐกิจดิจิทัลขับเคลื่อนเร็วขึ้น เพราะพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงเน้นการซื้อขายผ่านออนไลน์ ทำธุรกรรมทางการเงินผ่านระบบออนไลน์ ฯลฯ แต่การก้าวผ่านธุรกิจไทยไปสู่การใช้ซอฟต์แวร์ หุ่นยนต์ ระบบอัตโนมัติ (AI) ฯลฯ ปัจจุบันยังมีไม่มากนัก ขณะที่ธนาคารโลกได้คาดการณ์ไว้อีก 5-10 ปีข้างหน้าแรงงาน 1 ใน 4 ของโลกจะเกี่ยวข้องกับดิจิทัล

ปัจจุบันแรงงานไทยเฉพาะในภาคอุตสาหกรรมมีราว 11.2 ล้านคน แบ่งแรงงานเป็น 3 ระดับหลักๆ ได้แก่ 1. แรงงานที่เพิ่งเริ่มต้นทำงานจนถึงอายุ 29 ปี กลุ่มนี้ง่ายที่จะนำมา Reskill หรือให้เรียนรู้ทักษะใหม่เพื่อให้ทำงานที่ต่างไปจากเดิมได้โดยเฉพาะการก้าวสู่ระบบดิจิทัล 2. แรงงานอายุตั้งแต่ 30 ปีจนถึงไม่เกิน 45 ปี กลุ่มนี้ยังพอที่จะปรับกระบวนการทักษะให้คนทำงานได้ หรือ Upskill และ Reskill ได้บางส่วน และ 3. กลุ่มอายุ 45 ปีขึ้นไป กลุ่มนี้จะพัฒนายากขึ้น

“ปัญหาแรงงานผมถือเป็นวาระแห่งชาติที่รัฐบาลต้องเร่งแก้ไข ทั้งการปรับหลักสูตรการเรียนการสอนให้สอดรับกับตลาดแรงงานที่กำลังมุ่งสู่เศรษฐกิจดิจิทัล และรัฐต้องเป็นผู้นำในการเปลี่ยนแปลงด้วย” นายธนิตกล่าว


 


จับตาโควิด-19 ทำอาชีพเปลี่ยน

นายธนิตกล่าวว่า หลังโควิด-19 วิถีปกติใหม่ หรือ New Normal ทำให้อาชีพหลายๆ อย่างเปลี่ยนและหายไป แม้แต่สถาบันการศึกษายังต้องปรับหลักสูตรการเรียนการสอนใหม่ให้สอดรับกับอาชีพในอนาคตอีกด้วย ดังนั้น แรงงานต้องปรับตัวเข้าสู่ยุคเศรษฐกิจดิจิทัลเพราะนายจ้างส่วนใหญ่จะเร่งนำเทคโนโลยีมาใช้แทนคนมากขึ้น ทุกอาชีพที่เกี่ยวข้องกับแอนะล็อกจะถูกคุกคามโดยเฉพาะภาคบริการ พนักงานหน้าร้าน งานบริการลูกค้าแคชเชียร์ เหล่านี้จะลดบทบาทลง โดยอาชีพใหม่ของอนาคตจะมาพร้อมเทคโนโลยีดิจิทัลและเป็นโอกาสของคนรุ่นใหม่ เช่น โปรแกรมเมอร์ งานที่เกี่ยวกับการควบคุมเทคโนโลยี หุ่นยนต์ เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม อาชีพดั้งเดิมนั้นยังคงมีอยู่ให้เห็น โดยเฉพาะที่อาศัยทักษะด้านร่างกายเป็นองค์ประกอบสำคัญในการทำงาน เช่น พนักงานขับรถ วินมอเตอร์ไซค์ งานก่อสร้าง งานศิลปะ งานเกษตร ประมง และภาคการผลิตบางอย่างที่ไม่อาจใช้เทคโนโลยีแทนคน แต่ก็ต้องเข้าใจว่าระบบการจ้างงานในอนาคตกำลังเปลี่ยนไปเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงได้ยาก

สอดรับกับความเห็นของนายสุชาติ จันทรานาคราช รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) สายแรงงาน ที่ชี้ว่า วัคซีนโควิด-19 คาดว่าจะเห็นผลชัดเจนในปลายปี 2564 ดังนั้น ระหว่างนี้มีความจำเป็นที่ธุรกิจและแรงงานต้องปรับเปลี่ยนตัวเองไว้รองรับ โดยผู้ผลิตจะมุ่งเน้นลดความยาวของ Supply Chain จากที่พึ่งพิงวัตถุดิบต่างประเทศก็หันมาในประเทศหรือผลิตเองแทน ใช้ระบบ Lean เพื่อลดต้นทุน มีการปรับองค์กรให้กระชับและนำเทคโนโลยีมาใช้มากขึ้นทดแทนแรงงาน และการจ้างงานจะเน้นแรงงานที่สามารถทำหน้าที่ได้หลายอย่าง หรือ Multi Skill ขณะเดียวกัน แนวโน้มยังมีการลดจ้างลูกจ้างประจำและหันมาใช้ Outsorce มากขึ้น

“ไทยมีแรงงานจบใหม่ปีละ 4-5 แสนคน แต่ส่วนใหญ่ไม่ตรงความต้องการของตลาดแรงงาน ขณะที่ธุรกิจกำลังมุ่งสู่ดิจิทัลมากขึ้น ซึ่งจำเป็นที่ทุกฝ่ายต้องเร่งปรับตัว และหากพิจารณาจากภาคอุตสาหกรรมไทยเราล้วนยังอยู่ในยุค 2.0 การก้าวข้ามไปยังยุค 4.0 จึงไม่ใช่เรื่องง่ายและต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกๆ ด้านโดยเฉพาะภาครัฐบาลและเห็นว่าการเลือกที่จะโฟกัสในสิ่งที่เราถนัด” นายสุชาติกล่าว

ทั้งนี้ ปัจจัยที่จะส่งผลกระทบต่อการจ้างงานหลังโควิด-19 นอกเหนือจากการเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้บริโภคในยุค New Normal ที่เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทมากขึ้นแล้ว การที่ไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุและภาวะขาดแคลนแรงงานที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นก็จะเป็นอุปสรรคสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในอนาคตอีกด้วย


ปรับ Mindset สร้างสรรค์นวัตกรรม

ขณะที่มุมมองของ นายจีรพันธ์ อัศวะธนกุล รองประธานกรรมการหอการค้าไทย เห็นว่า เศรษฐกิจไทยยังมีความไม่แน่นอนสูง การใช้จ่ายจากภาครัฐยังเป็นปัจจัยหลักในการเข้ามากระตุ้นและฟื้นฟูเศรษฐกิจเพื่อรักษาระดับการจ้างงานเอาไว้ โดยเฉพาะการให้เม็ดเงินกระจายลงไปถึงเศรษฐกิจฐานรากให้มากขึ้น ขณะที่แรงงานทุกวัยจำเป็นต้องปรับ Mindset ในการทำงานและมีการสร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อการดำเนินธุรกิจ

สำหรับธุรกิจบริการยังคงมีความน่าห่วงที่แรงงานในภาคนี้มีจำนวนมากแต่การเดินทางมาท่องเที่ยวของต่างชาติที่ไทยพึ่งพิงตลาดนี้สูงโอกาสจะกลับมาเหมือนก่อนโควิด-19 เป็นไปได้ยาก ตลาดท่องเที่ยวจะเปลี่ยนไปภายใต้ New Normal และจะหันมาใช้เทคโนโลยีในการบริการมากขึ้น เช่นเดียวกับภาคเกษตรของไทยพบว่าประชาชนส่วนหนึ่งที่ตกงานได้กลับไปสู่ภูมิลำเนาและยึดอาชีพเกษตรกรบางส่วน ซึ่งในที่สุดภาคเกษตรเองก็จะต้องปรับตัวในการใช้เทคโนโลยีมาบริหารจัดการเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการแข่งขัน ซึ่งภาครัฐจำเป็นต้องมีนโยบายในการสนับสนุนการเปลี่ยนผ่าน

ทั้งนี้ โอกาสของไทยภายหลังโควิด-19 นั้นทำให้พฤติกรรมของผู้บริโภค และความต้องการของตลาดเปลี่ยนไป โดยจะเห็นว่า E-commerce ช่องทางออนไลน์ (Online) จะมีบทบาทสูงขึ้น โดยพบว่าในปี 2562 ตลาดนี้มีเม็ดเงินอยู่ที่ 1.63 แสนล้านบาท และในปี 2563 คาดว่าจะอยู่ที่ 2.2 แสนล้านบาท ขณะที่คนจะมีพฤติกรรมดูแลสุขภาพมากขึ้น การทำงานที่บ้าน (WFH) จะยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น

ทั้งหมดเป็นเพียงความเห็นส่วนหนึ่งจากภาคเอกชนที่ชี้ให้เราได้มองเห็นทิศทางตลาดแรงงานในปี 2564 และในระยะต่อไปได้ชัดมากขึ้น ซึ่งเหล่านี้ล้วนเป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายทั้งรัฐ เอกชน และแรงงาน ต้องปรับตัวรองรับโดยเฉพาะแรงงาน ไม่เช่นนั้นอาจจะกลายเป็นผู้ตกงานถาวร


กำลังโหลดความคิดเห็น