สภาองค์การนายจ้างส่งสัญญาณแนวโน้ม 20 อุตสาหกรรมเร่งหันใช้หุ่นยนต์และระบบออโตเมชันมากขึ้นเพื่อรองรับเศรษฐกิจยุคดิจิทัล โดยเฉพาะปี 2568 แรงงานภาคอุตฯ จะถูกเทคโนโลยีคุกคาม 10-15% ของแรงงานทั้งหมด แนะแรงงานเปลี่ยนแปลงทักษะใหม่ให้ทำงานได้หลากหลายหน้าที่มากขึ้น
นายธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรม และในฐานะประธานคณะอนุกรรมการจัดทำการศึกษาและวิจัยรายงานการศึกษาการทบทวนที่มาอัตราการว่างงานของประเทศเพื่อให้สอดคล้องกับสภาวการณ์ เปิดเผยว่า แนวโน้มภาคแรงงานไทยกำลังเผชิญทั้งปัจจัยภายนอกที่ผันผวนจากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว เชื้อไวรัสโควิด-19 ฯลฯ ที่จะกระทบให้การจ้างงานใหม่ชะลอตัวตามแล้วยังต้องเผชิญกับการก้าวผ่านสู่เศรษฐกิจยุคดิจิทัลที่เทคโนโลยีกำลังส่งผลกระทบ (Disruptive Technology) เนื่องจากแนวโน้มภาคการผลิตจะหันไปใช้หุ่นยนต์และเทคโนโลยี 4.0 แทนคนมากขึ้นโดยเฉพาะใน 20 อุตสาหกรรมที่มีศักยภาพในการปรับเปลี่ยนสูง
ได้แก่ 1. อุตสาหกรรมผลิตหุ่นยนต์และชิ้นส่วน 2. ดิจิทัล 3. ยานยนต์และส่วน 4. เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ 5. คอมพิวเตอร์-แผงวงจร-ฮาร์ดิสไดร์ 6. เหล็กรีดร้อน-เย็น, โลหะ 7. ส่วนประกอบอากาศยานและการบิน 8. การผลิตเลนส์ 9. อะไหล่และโมเดลขึ้นรูป 10. ผลิตภัณฑ์ยางและยางรถยนต์ 11. เม็ดพลาสติกและผลิตภัณฑ์เม็ดพลาสติก 12. เคมีภัณฑ์และปิโตรเคมีคัล 13. กระป๋องบรรจุอาหาร 14. สายไฟฟ้าสายเคเบิล 15. ทองแดงและผลิตภัณฑ์จากทองแดง 16. ยาและเครื่องสำอาง 17. อุปกรณ์การแพทย์ 18. เยื่อและกระดาษ 19. ตลับลูกปืน 20. การแปรรูปอาหาร
“ไทยมีกำลังแรงงานของชาติ (Labour Force) เฉลี่ย 38.2 ล้านคน 2 ใน 3 อยู่นอกภาคเกษตรส่วนใหญ่
เป็นแรงงานอายุเฉลี่ย 40-49 ปี ด้านการศึกษาส่วนใหญ่เป็นแรงงานที่ไม่มีการศึกษาจนถึงระดับประถมศึกษา
รวมกันคิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 42.5% ซึ่งแรงงานที่จะสามารถทำงานอยู่กับสถานประกอบการที่มีการใช้เทคโนโลยีจะต้องสามารถปรับตัวรับการเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะทักษะใหม่ในลักษณะ “Multi-Skill” ซึ่งจะต้องสามารถทำงานได้หลากหลายหน้าที่ในเวลาเดียวกัน ทั้งงานหลังบ้าน และงานบริการลูกค้าไป จนถึงพนักงานส่งเสริมการตลาด ดังนั้น การยกระดับทักษะทุนมนุษย์ต้องเป็นวาระแห่งชาติ” นายธนิตกล่าว
นายธนิตกล่าวว่า มีการคาดการณ์ว่าในปี 2568 แรงงานไทยในภาคอุตสาหกรรมจะถูกคุกคามจากเทคโนโลยี (Disruptive Technology) อาจมีมากถึง 10-15% แต่ส่วนหนึ่งจะถูกซึมซับไปอยู่ในชนบทกลายเป็นเกษตรกรและส่วนหนึ่งจะยังชีพด้วยบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และอีกส่วนหนึ่งซึ่งยังไม่ทราบสัดส่วนที่ชัดเจนจะสามารถปรับตัวทำงานร่วมกับเทคโนโลยี อย่างไรก็ดี อัตราการว่างงานของไทยจะยังอยู่ในอัตราต่ำไม่เปลี่ยนแปลงมากนักเนื่องจากนิยามผู้มีงานทำของไทยใช้เกณฑ์คนที่ในรอบหนึ่งสัปดาห์มีงานทำอย่างน้อย 1 ชั่วโมงจะได้ค่าจ้างหรือไม่ได้ค่าจ้างล้วนเป็นผู้มีงานทำทั้งสิ้นจึง
“เกณฑ์ดังกล่าวเป็นไปตามองค์กรแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ซึ่งไม่ตอบโจทย์ปัจจุบัน ดังนั้น ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการจัดทำการศึกษาและวิจัยรายงานการศึกษาการทบทวนที่มาอัตราการว่างงานของประเทศที่ได้รับมอบหมายจากสภาที่ปรึกษาเพื่อพัฒนาแรงงานแห่งชาติเพื่อให้สอดคล้องกับสภาวการณ์ปัจจุบัน ล่าสุดได้จัดทำรายงานเสร็จแล้วและได้นำเสนอต่อกระทรวงแรงงานเพื่อผลักดันให้เกิดการทบทวนวิธีการและเกณฑ์มาตรฐานจัดทำดัชนีว่างงานต่อไป” นายธนิตกล่าว
ทั้งนี้ จากการศึกษาดัชนีการว่างงานของไทยช่วง 10 ปีที่ผ่านมา เฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 1% ซึ่งไม่ได้สะท้อนการเติบโตเศรษฐกิจที่มีขึ้นและลงแต่อย่างใด จึงจำเป็นต้องทบทวนเกณฑ์ในการจัดทำเพราะได้มีการใช้มานานกว่า 20 ปี แต่ภาวะต่างๆ ได้มีการเปลี่ยนไปมาก โดยมีเป้าหมายให้ข้อมูลทั้งหมดมีความน่าเชื่อถือทั้งในและต่างประเทศ