ส.ส.อดีตแกนนำอนค. ซักฟอก "ประยุทธ์" บริหารเศรษฐกิจเหลว ยุคเอื้อนายทุนเจ้าสัว รากหญ้าเดือดร้อน เงินไหลเข้ากระเป๋ากลุ่มทุน แฉผลงานใหญ่ทำไทยเป็นถังขยะโลก ไทยต้องการการผ่าตัด
วันนี้ (24ก.พ.) นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.ฝ่ายค้าน อภิปรายไม่ไว้วางในพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพราะล้มเหลวในการบริหารเศรษฐกิจว่า สภาพเศรษฐกิจตอนนี้เป็นของนายทุน โดยนายทุน เพื่อนายทุน แม้จีดีพีไม่ได้ติดลบ แต่ปัญหาเศรษฐกิจก็มีอยู่จริง ความเชื่อมั่นทางธุรกิจของไทยปี 2562 แย่พอๆ กับปีที่น้ำท่วมกรุงเทพฯ อีกทั้งอัตราการว่างงานและหนี้สินครัวเรือนตอนนี้แย่กว่ายุควิกฤติการณ์แฮมเบอร์เกอร์ เศรษฐกิจยุคนี้แข็งบนอ่อนล่าง ขณะที่ในยุคต้มยำกุ้ง เศรษฐกิจแข็งล่างอ่อนบน ดังนั้นปัญหาตอนนี้จึงแก้ยาก คนรวยกับคนจนอยู่กันบนโลกคนละใบ จึงมองไม่เห็นความทุกข์ แต่ประชาชนรู้นานแล้ว
นายพิธากล่าวว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคต่ำสุดในรอบ 68 เดือน ขณะเดียวกันคำสัญญาว่ามั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ตามสัญญาของรัฐบาล คำถามคือ ใครบ้างที่ยังรู้สึกมั่นคง เด็กจบใหม่รู้สึกไม่มั่นคง คนวัยเกษียณยากจน เกษตรกรมีรายได้น้อยลงแต่หนี้สินเพิ่มขึ้น แม่ค้าพ่อค้าก็มียอดขายน้อยลง ข้าราชการหรือทหารผู้น้อยก็ไม่มั่นคง ดูจากเหตุการณ์ที่โคราช ถ้าไม่ใช่อภิสิทธิ์ชน 1% ก็ไม่มั่นคง เพราะนโยบายของรัฐบาลเหมือนเอายาพาราให้คนเป็นมะเร็ง ใช้เงิน 5 แสนล้านบาท แต่นโยบายไม่มีประสิทธิภาพ
“คำถามต่อมาคือใครมั่งคั่งมากขึ้น สื่อต่างประเทศที่เชื่อถือได้นำเสนอว่า 5 ตระกูลเจ้าสัวในไทย 2.3 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นมาจาก 5 ปีก่อนกว่า 1 ล้านล้านบาท ขอตั้งคำถามว่า พล.อ. ประยุทธ์ เอื้อประโยชน์ให้หรือไม่ อย่างโครงการ EEC สร้างรถไฟเชื่อมสนามบิน ประมูลธุรกิจปลอดภาษีให้เจ้าเดียวผูกขาดทั้งสนามบิน ขณะเดียวกันประเทศที่มีการแข่งขัน นักท่องเที่ยวจะใช้เงินมากกว่าไทยถึง 5 เท่า มีการปรับเพิ่มภาษีเหล้าขาวเพื่อที่จะไปแข่งขันเหล้าของเจ้าสัวได้ และคำถามสุดท้ายคือ ใครยั่งยืน “นายพิธาตั้งคำถาม
นายพิธากล่าวต่อว่าขณะเดียวกัน การดำเนินนโยบายก็ละเลยปัญหาสิ่งแวดล้อม ทำให้ตั้งคำถามได้ว่าตั้งใจละเลยสุขภาพของประชาชนเพื่อเอื้อประโยชน์ให้นายทุนหรือไม่ ปัญหาแรกคือ PM 2.5 ต้นตอมาจากนโยบายของพลเอก ประยุทธ์ คือ เกษตรประชารัฐ เพิ่มพื้นที่ปลูกอ้อย 6 ล้านไร่ทั่วประเทศ และมีโรงงานน้ำตาลเพิ่มขึ้น ใน1 ปีคนไทยตายเพราะมลพิษทางอากาศกว่า 5 หมื่นคน และ PM 2.5 ยังกระทบถึงเศรษฐกิจเสียหาย 5 หมื่นล้านบาท อีกทั้งการปลูกอ้อยยังใช้พาราควอตมากกว่าปลูกข้าว เป็นที่สงสัยว่านโยบายนี้ใครได้ประโยชน์ ทั้งที่ราคาอ้อยก็ไม่ได้สูงขึ้น คณะกรรมการด้านการเกษตรก็มีตัวแทนในบริษัทน้ำตาลรายใหญ่เข้าไป ซึ่งในการประชุมไม่มีรายงานที่กระทรวงเกษตรฯ แต่อยู่ที่บริษัทน้ำตาล และไม่สามารถนำมาเปิดเผยได้
นอกจากนี้ยังมีผลกระทบจากเหมืองแร่ ที่ไม่ต้องทำ EIA อีกทั้งโครงการ EEC ก็มีปัญหาขยะรีไซเคิล ไทยกลายเป็นถังขยะของโลก เพราะนำเข้าพลาสติกเยอะมาก เกิดจากคำสั่ง คสช. 4/2559 หรือไม่ และขยะนั้นเกิดจากการทุจริตการนำเข้าขยะ ด้านความยั่งยืนทางเศรษฐกิจก็ไม่มี กลยุทธ์การขายออนไลน์ รัฐบาลก็ไม่เท่าทัน อีกทั้งยังเชิญนายทุนจีนมาทำธุรกิจที่ไทยให้ง่ายขึ้น ที่ฉะเชิงเทรา ซึ่งทั้งหมดเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่รัฐบาลสร้างขึ้น เงินที่ทำนโยบายก็เข้าสู่กระเป๋านายทุนไทยและต่างชาติ ประเทศไทยต้องการการผ่าตัด