บอร์ด ทอท.อนุมัติ “คิงพาเวอร์” รับสัมปทานเคาน์เตอร์ส่งมอบสินค้าปลอดอากร “สุวรรณภูมิ” ระยะ 10 ปี ลดเก็บผลตอบแทนร้านค้านอกพื้นที่สัมปทาน 20% ช่วยเหลือผลกระทบเชื้อไวรัส COVID-19 คาดทำให้รายได้ปี 63 ลดลง 5% จากปีก่อน
นายนิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือทอท. เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) ทอท. ที่มีนายประสงค์ พูนธเนศ เป็นประธาน วันที่ 19 ก.พ. มีมติอนุมัติให้ บริษัท คิง เพาเวอร์ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด เป็นผู้ได้รับสิทธิประกอบกิจการให้บริการเคาน์เตอร์ส่งมอบสินค้าปลอดอากร (Duty Free Pick-up Counter) ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ กำหนดอายุสัญญาระหว่างวันที่ 28 กันยายน 2563 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2573
จากที่ ทอท.ได้เปิดประมูลให้สิทธิประกอบกิจการให้บริการเคาน์เตอร์ส่งมอบสินค้าปลอดอากร ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ โดยขายเอกสารประมูลวันที่ 28 พ.ย.-13 ธ.ค. 2562 ซึ่งมีผู้สนใจซื้อเอกสาร 2 ราย ได้แก่ 1. บริษัท คิง เพาเวอร์ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด 2. บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) และกำหนดยื่นข้อเสนอการดำเนินงานวันที่ 17 ม.ค. 2563 ปรากฏว่ามีบริษัท คิง เพาเวอร์ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด ยื่นเพียงรายเดียว
ทั้งนี้ ทอท.กำหนดให้มีการนำเสนอผลงาน (Presentation) ข้อเสนอด้านเทคนิคของผู้ยื่นข้อเสนอการดำเนินงานวันที่ 21 ม.ค. 2563 และเปิดซองเสนอค่าตอบแทนและประกาศผลคะแนน วันที่ 27 ม.ค. 2563 โดย บริษัท คิง เพาเวอร์ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด ผู้ชนะได้เสนอค่าตอบแทนสูงกว่าที่ ทอท.เคยได้รับอยู่เดิมและสูงกว่าที่ ทอท.คาดหมาย
อนึ่ง เมื่อวันที่ 13 ก.พ. 2563 คณะกรรมการพิจารณารายได้ของ ทอท.ให้ความเห็นชอบผลการคัดเลือกก่อนเสนอบอร์ด ทอท.อนุมัติ
นอกจากที่บริษัท คิง เพาเวอร์ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด เสนอค่าผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำรายปี (Minimum Guarantee) ปีแรกสูงกว่าที่ ทอท.เคยได้รับอยู่เดิม และสูงกว่าที่ ทอท.คาดหมายแล้ว ค่าตอบแทนดังกล่าวจะถูกปรับขึ้นทุกปีให้สอดคล้องกับอัตราเงินเฟ้อที่อ้างอิงจากกระทรวงพาณิชย์ และการเติบโตของจำนวนผู้โดยสาร (ระหว่างประเทศ) ตลอดอายุสัญญา
ขณะที่ ทอท.จะเปิดให้บริการเคาน์เตอร์ส่งมอบสินค้าปลอดอากรควบคู่ไปด้วย เพื่อเป็นทางเลือกสำหรับผู้ประกอบกิจการร้านค้าปลอดอากรรายอื่นตามนโยบายที่จะส่งเสริมให้เกิดการแข่งขัน ไม่ให้เกิดการผูกขาด
@ ลดเก็บผลตอบแทนร้านค้านอกพื้นที่สัมปทาน 20% ช่วยเหลือผลกระทบเชื้อไวรัส
นอกจากนี้ บอร์ด ทอท. ยังมีมติเห็นชอบแนวทางช่วยเหลือผู้ประกอบกิจการภายในท่าอากาศยานของ ทอท. เพื่อบรรเทาผลกระทบจากการลดลงของผู้โดยสารอันเกิดจากการแพร่ระบาดของเชื้อ COVID-19 โดยปรับลดค่าตอบแทนด้านกิจการเชิงพาณิชย์ภายในท่าอากาศยาน โดยมีระยะเวลาระหว่าง 1 ก.พ. 2563-31 มี.ค. 2565 เพื่อให้สอดคล้องกับมาตรการกระตุ้นการบริหารจัดการตารางบินที่ได้เริ่มใช้ไปก่อนหน้านี้
ประกอบด้วย 1. ปรับลดค่าผลตอบแทนสำหรับสัญญาที่มีผลตอบแทนคงที่รายเดือนในอัตรา 20% เป็นระยะเวลา 1 ปี ระหว่างวันที่ 1 ก.พ. 2563-31 ม.ค. 2564 สำหรับปีถัดไป ทอท.จะทบทวนอัตราการปรับลดดังกล่าวอีกครั้งให้สอดคล้องกับสถานการณ์
2. สำหรับสัญญาที่ไม่ได้มีผลตอบแทนคงที่ ได้มีการให้ยกเว้นการเก็บค่าผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำรายเดือน และผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำรายปี โดยคงไว้เพียงผลตอบแทนในอัตราร้อยละ ระหว่างวันที่ 1 ก.พ. 2563-31 มี.ค. 2565
3. สำหรับผู้ประกอบการที่อยู่ภายใต้ พ.ร.บ.การร่วมทุนของรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 พิจารณาเป็นไปตามขั้นตอนที่กฎหมายกำหนด
ทอท.ได้แจ้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ในเรื่องมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการในสนามบิน ว่าจะทำให้รายได้จากการดำเนินงานในปี 2563 ลดลง 5% จากปี 2562
นอกจากนี้ เพื่อเป็นการช่วยเหลือสภาพคล่องผู้ประกอบการให้สามารถดำเนินการต่อไปได้ในระยะวิกฤต คณะกรรมการ ทอท.ได้มีมติเห็นชอบแนวทางการเลื่อนการชำระค่าผลประโยชน์ตอบแทนให้แก่ผู้ประกอบการภายในท่าอากาศยานของ ทอท.ทั้ง 6 แห่ง สำหรับผู้ประกอบการปัจจุบันที่ร้องขอการผ่อนผันเข้ามา เป็นระยะเวลาทั้งสิ้น 6 เดือน พร้อมทั้งยกเว้นค่าปรับจากการขอเลื่อนชำระ ภายหลังจากได้รับผลกระทบจากยอดผู้โดยสารที่มีจำนวนลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจีน เพื่อแบ่งเบาภาระของผู้ประกอบการในช่วงเวลาที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตดังกล่าวจนอาจนำไปสู่การยกเลิกกิจการ ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อแรงงานท้องถิ่นและอัตราการว่างงานของประเทศได้ และมีมติเห็นชอบมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อ COVID-19 และมาตรการเยียวยาผู้ประกอบการภายในท่าอากาศยานทั้ง 6 แห่งของ ทอท. ได้แก่ สุวรรณภูมิ, ดอนเมือง, ภูเก็ต, เชียงใหม่, หาดใหญ่ และเชียงราย ซึ่งเป็นไปตามข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาโรคติดต่ออุบัติใหม่แห่งชาติทั้งในด้านสุขภาพ สังคม และเศรษฐกิจ ซึ่งโรคนี้ถือว่าเป็นภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขทั่วโลก ส่งผลกระทบโดยตรงต่อเศรษฐกิจชาติและความเชื่อมั่นด้านการท่องเที่ยวของประเทศ
อย่างไรก็ตาม ทอท.ยังมีมาตรการสนับสนุนด้านสุขภาพของประชาชน โดยสนับสนุนงบประมาณในวงเงิน 21.82 ล้านบาท แก่กระทรวงสาธารณสุขเพื่อจัดซื้อเครื่องตรวจวัดอุณหภูมิร่างกายด้วยระบบอินฟราเรด (Thermoscan) จำนวน 17 เครื่อง ซึ่งจะเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการคัดกรองผู้โดยสารภายในท่าอากาศยาน ไปจนถึงการรับมือโรคติดต่อสายพันธุ์ใหม่ในอนาคต นำไปสู่ความเชื่อมั่นของผู้ใช้บริการ ตลอดจนสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้แก่การท่องเที่ยวไทย