xs
xsm
sm
md
lg

“ศุลกากร” อ้างแจ้งของมีค่าออกนอกประเทศไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่ไม่บังคับทุกคน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


กรมศุลกากรชี้แจงกรณีประกาศที่ให้แจ้งของมีค่า กล้องถ่ายรูป คอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊ก ก่อนเดินทางออกนอกประเทศ ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่ พ.ร.บ.ศุลกากรของเก่าถูกยกเลิกไปใช้ของใหม่ เลยประกาศใหม่อีกรอบ ย้ำไม่ได้บังคับผู้โดยสาร และไม่มีบทลงโทษ

จากกรณีที่ “กรมศุลกากร” ได้ประกาศเกี่ยวกับการปฏิบัติพิธีการทางศุลกากรของติดตัวผู้โดยสาร ที่นำติดตัวเข้ามาในหรือส่งออกไปนอกราชอาณาจักรพร้อมกับตนทางท่าอากาศยาน จนเป็นที่พูดถึงในสื่อโซเชียลมีเดียอย่างกว้างขวางนั้น

ล่าสุด (8 มี.ค.) รองอธิบดี รักษาการที่ปรึกษาด้านพัฒนาระบบควบคุมทางศุลกากร ในฐานะโฆษกกรมศุลกากร นายชัยยุทธ คำคุณ ได้ออกมาแถลงข่าวที่ชั้น 2 กรมศุลกากร คลองเตย กรุงเทพมหานคร ในกรณีที่มีประเด็นในโซเชียลมีเดียระบุว่า กรมศุลกากรได้ออกประกาศกรมศุลกากรกำหนดให้ผู้โดยสารที่นำของ อาทิ คอมพิวเตอร์สำหรับพกพา กล้องถ่ายรูป จะต้องแจ้งเจ้าหน้าที่ก่อนเดินทางออกไปต่างประเทศ ทางกรมศุลกากรได้ออกมาชี้แจงว่า

“เรื่องดังกล่าวเป็นไปตามประกาศที่ 60/2561 ลงวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2561 แต่สาระในประกาศฯ ดังกล่าวมิใช่เรื่องใหม่ แต่เป็นแนวทางปฏิบัติที่กรมฯ ได้ดำเนินการมาเป็นระยะเวลานานแล้ว แต่เหตุที่ต้องนำมาออกประกาศกรมศุลกากรใหม่ เนื่องจากพระราชบัญญัติศุลกากร พุทธศักราช 2469 ถูกยกเลิกโดยพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560 ดังนั้น เพื่อให้การดำเนินการยังคงมีผลในทางปฏิบัติ จึงต้องออกประกาศกรมฯ ฉบับนี้ ทั้งนี้ เนื้อหาของประกาศฉบับนี้มิได้กำหนดให้ผู้โดยสารทุกคนจะต้องนำสิ่งของไปแจ้งเจ้าหน้าที่ก่อนเดินทางออกนอกประเทศ แต่วัตถุประสงค์ของประกาศฉบับนี้ก็เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้โดยสารที่อาจมีสิ่งของที่ต้องนำไปต่างประเทศ เช่น เพื่อนำไปแสดงนิทรรศการ หรือเพื่อนำไปประกอบวิชาชีพ แล้วเกรงว่าหากนำของดังกล่าวกลับเข้ามาในประเทศ อาจถูกเจ้าหน้าที่ศุลกากรที่ท่าอากาศยานตรวจพบและตั้งข้อสงสัยว่าของนั้นเป็นของที่เพิ่งนำเข้ามาจากต่างประเทศและอยู่ในข่ายต้องเสียภาษีอากร ทำให้ผู้โดยสารต้องเสียเวลาหรือมีความยุ่งยากในการหาหลักฐานประกอบคำชี้แจง ดังนั้น เพื่อป้องกันปัญหาดังกล่าว กรมศุลกากรจึงมีบริการเพื่อให้ผู้โดยสารสามารถที่จะไปพบเจ้าหน้าที่ก่อนเดินทางออกนอกประเทศเพื่อให้เจ้าหน้าที่บันทึกสิ่งของนั้นไว้เพื่อเป็นหลักฐาน และแสดงหลักฐานดังกล่าวต่อเจ้าหน้าที่เมื่อเดินทางกลับเข้าประเทศ การปฏิบัติดังกล่าวไม่ได้บังคับผู้โดยสาร ไม่มีบทลงโทษผู้โดยสาร ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับผู้โดยสารจะเห็นว่าการดำเนินการดังกล่าวจะเป็นประโยชน์กับตนเองหรือไม่

นอกจากนี้ โฆษกกรมศุลกากรได้ชี้แจงในกรณีที่ผู้โดยสารซื้อสินค้าจากร้านค้าปลอดอากรขาออกและนำของนั้นกลับเข้าประเทศว่า หากนำของนั้นเข้ามาและของมีมูลค่ารวมกันไม่เกินสองหมื่นบาท (เว้นแต่ สุรา บุหรี่ ซิการ์ และยาเส้น ซึ่งจะต้องเป็นไปตามปริมาณที่กำหนด) จะได้รับการยกเว้นค่าภาษีอากร แต่หากของนั้นมีมูลค่าเกินสองหมื่นบาท หรือนำเข้าสุรา บุหรี่ ซิการ์ และยาเส้น เข้ามาเกินปริมาณที่กำหนด หรือนำเข้ามาเพื่อการค้าแม้จะราคาไม่ถึง 2 หมื่นบาท ก็ต้องเสียภาษีอากร

ส่วนกรณีที่โซเชียลมีเดียมีประเด็นเรื่องการตรวจสัมภาระ Check Through ว่าเป็นเรื่องใหม่หรือไม่นั้น กรมศุลกากรขอเรียนว่า เรื่องดังกล่าวมิใช่เรื่องใหม่แต่เป็นเรื่องที่ได้ปฏิบัติมาเป็นระยะเวลานานแล้ว กล่าวคือ กรณีผู้โดยสารขาเข้า ตัวอย่างเช่น ผู้โดยสารที่เดินทางจากต่างประเทศผ่านท่าอากาศยานสุวรรณภูมิไปยัง ท่าอากาศยานปลายทางในประเทศ เช่น ท่าอากาศยานเชียงใหม่ การตรวจกระเป๋าถือขึ้นเครื่อง หรือ Hand Carry จะดำเนินการที่ First Port คือที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ส่วนกระเป๋าสัมภาระที่โหลดลงใต้ท้องเครื่องจะถูกนำไปตรวจที่ Last Port คือ ท่าอากาศยานเชียงใหม่ และกรณีผู้โดยสารขาออก ที่ Check Through ไปต่างประเทศ สำหรับตัวอย่างนี้ จะตรวจกระเป๋าสัมภาระที่โหลดใต้ท้องเครื่องที่ First Port คือ ท่าอากาศยานเชียงใหม่ ส่วนกระเป๋าที่ถือขึ้นเครื่อง หรือ Hand Carry จะตรวจที่ Last Port คือ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ก่อนออกไปต่างประเทศ กล่าวโดยสรุป เรื่องต่าง ๆ ดังกล่าวข้างต้น มิใช่เป็นเรื่องใหม่ แต่เป็นเรื่องที่กรมศุลกากรได้กำหนดเป็นแนวทางปฏิบัติมาเป็นระยะเวลานานแล้ว แต่โดยเหตุที่พระราชบัญญัติศุลกากร พุทธศักราช 2469 ได้ถูกยกเลิกโดยพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560 จึงจำเป็นที่จะต้องออกประกาศกรมศุลกากรฉบับใหม่เพื่อให้แนวทางปฏิบัติยังคงมีผลบังคับใช้เช่นเดิม









กำลังโหลดความคิดเห็น