กรมศุลกากร ย้ำผู้โดยสารยังนำสินค้าติดตัวไปต่างประเทศไม่ต้องแจ้งเจ้าหน้าที่ได้เหมือนเดิม ยอมรับ กลุ่มคณะบุคคล กองถ่ายหนัง เดินทางไปประชุม สัมมนา งานแสดงสินค้า นำอุปกรณ์ สินค้าหลายชิ้นออกสนามบินแจ้งรายการสินค้า เพื่อสำแดงขาเข้าไม่ต้องเสียภาษี
นายชัยยุทธ คำคุณ โฆษกกรมศุลกากร เปิดเผยว่า การออกประกาศฉบับที่ 60/2561 ลงวันที่ 26 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เป็นแนวทางปฏิบัติเดิมของผู้โดยสารทั่วไปใช้มานานแล้ว แต่การนำมาออกประกาศกรมศุลกากรใหม่อีกครั้ง เพราะกฎหมายศุลกากร 2469 ถูกยกเลิก จึงทำให้กฎหมายลูกฉบับต่าง ๆ ต้องถูกยกเลิกไปด้วย เมื่อพระราชบัญญัติศุลกากร 2560 ฉบับใหม่มีผลบังคับใช้ เพื่อให้มีแนวปฏิบัติเหมือนเดิม จึงนำประกาศอีกครั้ง โดยมุ่งเน้นเฉพาะกลุ่มคณะบุคคล กองถ่ายหนัง ซึ่งต้องนำอุปกรณ์ ของใช้ สินค้า เครื่องมือ ออกไปทำงานหรือร่วมงานในต่างประเทศหลายชิ้น เมื่อแจ้งกับเจ้าหน้าที่ศุลกากรแล้ว ขากลับเข้ามาจะได้มีเอกสารยืนยันว่าเป็นนำของใช้ อุปกรณ์ออกจากไทย ไม่ได้ซื้อเข้ามาเพิ่ม เพื่อแสดงหลักฐานต่อเจ้าหน้าที่เมื่อเดินทางกลับเข้าประเทศ โดยไม่ต้องเสียภาษีเพิ่มเหมือนสินค้านำเข้าทั่วไป
สำหรับผู้โดยสารทั่วไป ประกาศฉบับนี้ไม่ได้กำหนดให้ผู้โดยสารทุกคนจะต้องนำสิ่งของไปแจ้งเจ้าหน้าที่ก่อนเดินทางออกนอกประเทศทุกครั้ง จึงย้ำว่า ที่ผ่านมา ผู้โดยสารปฏิบัติอย่างไรให้ทำได้เป็นปกติเหมือนเดิม ไม่ว่าจะเป็นการนำสินค้า โน้ตบุ๊ก นาฬิ่กา มือถือ ของใช้ทั่วไปติดตัวไปทำงานต่างประเทศ เพียงนำของติดตัวผ่านเครื่องสแกนเท่านั้น จากนั้น ขาเข้าเดินทางเข้าประเทศ กรณีผู้โดยสารซื้อสินค้าจากร้านค้าปลอดอากรขาออกและนำของกลับเข้าประเทศ หากมูลค่ารวมกันไม่เกิน 20,000 บาท ได้รับการยกเว้นภาษี (เว้นแต่สุรา บุหรี่ ซิการ์ และยาเส้น ได้รับยกเว้นตามกำหนด เช่น สุรา 1 ขวด บุหรี่ 1 คัสตอน) แต่หากสินค้ามีมูลค่าเกิน 20,000 บาท หรือนำเข้าสุรา บุหรี่ ซิการ์ และยาเส้น เข้ามาเกินปริมาณที่กำหนด ต้องเสียภาษีอากรตามพิกัดสินค้า หากเป็นสินค้าทั่วไป เสื้อผ้า น้ำหอม ของใช้รวมกันหลายอย่างในกระเป๋า จะคิดเป็นอัตราภาษีนำเข้าเบ็ดเตล็ดร้อยละ 30 ของมูลค่าสินค้านำเข้า
ส่วนช่องขาเข้าผู้โดยสารช่องเขียว ช่องแดง เพื่อให้สำแดงสินค้าเสียภาษีนั้น เจ้าหน้าที่จะใช้ระบบสุ่มตรวจเหมือนเดิมตามมาตรฐานสากล 10-15 คน ตรวจดูกระเป๋าสัมภาระหนึ่งครั้ง หรือเป็นผู้มีความเสี่ยงต่อการหลีกเลี่ยงภาษี จะต้องเข้าตรวจสินค้า เพราะเจ้าหน้าที่ศุลกากรจะไม่ไปไล่ถามผู้โดยสารทุกคนว่าใส่นาฬิกายี่ห้ออะไร พกน้ำหอมติดตัวมาไหม ไม่เช่นนั้น ขั้นตอนผ่านเข้าออกคงต่อแถวยาวเหยียดหลายชั่วโมง
นายชัยยุทธ กล่าวเพิ่มเติมว่า กรณีกรมสรรพากรเตรียมเสนอยกร่างกฎหมายจัดภาษี E-Commerce เมื่อนำเข้าจากต่างประเทศ โดยกรมศุลกากรรับผิดชอบจัดเก็บภาษีนำส่งให้กรมสรรพากร การนำเข้าสินค้าทุกรายการ หากมูลค่าไม่เกิน 1,500 บาทต่อรายการ ได้รับการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม ดังนั้น เพื่อลดช่องว่างการแบ่งรายการสินค้าจากล็อตใหม่ เพื่อไม่ให้เกิน 1,500 บาท กรมศุลกากรพร้อมปรับกฎเกณฑ์ให้สอดคล้องกับกรมสรรพากรด้วยเช่นกัน เพราะขณะนี้ การซื้อขายสินค้าออนไลน์ขยายตัวเพิ่มขึ้นจำนวนมาก ได้นำเข้ามาผ่านคลังทัณฑ์สินค้าของศุลกากร เพื่อให้เอกชนทุกรายเสียภาษีอย่างเท่าเทียมกัน ไม่เกิดการได้เปรียบเสียเปรียบทางการค้า