xs
xsm
sm
md
lg

กฎหมาย-หลักปฏิบัติไม่ชัด ช่องโหว่ศุลกากรเข้ม “นาฬิกา-โน้ตบุ๊ก-กล้องถ่ายรูป” ไปนอก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


แม้อธิบดีกรมศุลกากรจะชี้แจงว่าเป็นกฎหมายเดิมนำมาปัดฝุ่นใหม่ แต่พบข้อความในประกาศกรมศุลกากรมีความกำกวม จับตาการปฏิบัติงานของพนักงานศุลกากร โดยเฉพาะเวลาเข้าประเทศ จะมีดรามาเกิดหรือไม่

... รายงาน

กลายเป็นที่วิจารณ์ในโลกโซเชียล สำหรับกรณีที่อธิบดีกรมศุลกากร ออกประกาศ 2 ฉบับ ได้แก่ หลักเกณฑ์สำหรับผู้โดยสารและสัมภาระบินจากสนามบินหนึ่งไปอีกสนามบินหนึ่ง แล้วต่อเครื่องเพื่อไปต่างประเทศ

กับอีกฉบับหนึ่ง คือ “การปฏิบัติพิธีการศุลกากรของติดตัวผู้โดยสารที่นำติดตัวเข้ามาในหรือส่งออกไปนอกราชอาณาจักรพร้อมกับตนทางอากาศยาน” ซึ่งมีบางข้อที่สังคมกำลังตั้งข้อสงสัย

ได้แก่ กรณีที่นำของมีค่า อาทิ นาฬิกา กล้องถ่ายวิดีโอ กล้องถ่ายรูป คอมพิวเตอร์สำหรับพกพา ซึ่งมีเครื่องหมาย เลขหมายที่สามารถตรวจสอบได้ ให้แจ้งต่อพนักงานศุลกากรก่อนออกประเทศ

เพราะที่ผ่านมาเวลาเดินทางไปเมืองนอก ทราบดีว่า หลังจากเช็กอินแล้วต้องผ่านหลายขั้นตอน ทั้งตรวจร่างกาย ตรวจหนังสือเดินทาง กินเวลาเกือบชั่วโมง กว่าจะไปรอที่ประตูขึ้นเครื่องได้

หากจะเพิ่มขั้นตอนด้วยการต้องแจ้งของมีค่า อาทิ นาฬิกา กล้องถ่ายวิดีโอ กล้องถ่ายรูป โน้ตบุ๊ก ฯลฯ แก่พนักงานศุลกากร จะกลายเป็นการเพิ่มขั้นตอน เพิ่มภาระ และเสียเวลาแก่ผู้โดยสารเข้าไปอีก

ในทางปฏิบัติที่ผ่านมา คนที่นำคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊ก หรือกล้องถ่ายรูป กล้องถ่ายวิดีโอไปใช้งานในต่างประเทศ ส่วนใหญ่ก็ไม่ได้แจ้งต่อศุลกากรเมื่อนำออกนอกประเทศอยู่แล้ว

แถมยังถูกวิพากษ์วิจารณ์กันเป็นอย่างมาก ถึงความไม่เหมาะสม และให้ความสำคัญเฉพาะเรื่องเล็กน้อย ขณะที่เรื่องใหญ่ๆ สำคัญระดับอย่างเรื่องนาฬิกา กลับไม่ดำเนินการ

ที่สำคัญ ประกาศที่ระบุออกมามีความกำกวม ไม่ชัดเจน เพราะในข้อ 4 ระบุว่า “สำหรับผู้โดยสารที่จะเดินทางออกไปนอกราชอาณาจักร ที่จะนำของมีค่าออกไป ซึ่งเป็นของเก่าที่ใช้แล้ว และมีจำนวนหรือปริมาณพอสมควร ...”

ซึ่งพบว่า วรรคท้ายๆ ระบุว่า “ทั้งนี้ ของมีค่าหรือของส่วนตัวผู้โดยสารที่นำติดตัวไปขณะเดินทางออกนอกราชอาณาจักร และใช้เป็นปกติวิสัยในระหว่างการเดินทาง หรือเป็นเครื่องประดับการแต่งกายตามปกติ ไม่ต้องแจ้งต่อพนักงานศุลกากร”

คำว่า ของมีค่าหรือของส่วนตัวที่ “ใช้เป็นปกติวิสัย” ในระหว่างการเดินทางนั้น กลับมีความหมายที่กว้างมาก ไม่ระบุเจาะจงว่าเป็นสิ่งของชนิดใด ต้องแจ้งหรือไม่ต้องแจ้ง

ในแบบฟอร์ม “แบบแจ้งของมีค่าที่ผู้โดยสารนำติดตัวออกไปนอกราชอาณาจักร” ระบุว่า ของติดตัวที่สามารถนำมาแจ้งต่อพนักงานศุลกากร ต้องเป็นของเก่าที่ใช้แล้ว และมีจำนวนรวมแล้วไม่เกิน 4 ชิ้น รวมทั้งมีเครื่องหมาย เลขหมาย (Serial Number) ที่สามารถตรวจสอบได้

คำถามก็คือ ข้อความประกาศที่มีลักษณะกำกวมเช่นนี้ จะเปิดช่องให้เจ้าหน้าที่ศุลกากรอาจเลือกปฏิบัติต่อผู้โดยสาร กรณีการสุ่มตรวจกระเป๋า ของมีค่าของผู้โดยสารเมื่อกลับประเทศหรือไม่?

อีกกรณีหนึ่ง คือ สินค้าปลอดภาษี (Duty Free) ที่ซื้อจากดาวน์ทาวน์ หรือ อาคารผู้โดยสารขาออกสนามบิน จะต้องนำออกไปเมืองนอกเท่านั้น หากนำกลับเข้ามาให้ผ่านการตรวจที่ “ช่องแดง” และชำระอากร

ผลกระทบที่เกิดกับนักช้อป ก็คือ กรณีที่บินไปเมืองนอก โดยฝากของมารับขากลับ แล้ววันเดินทางกลับเอาใบเสร็จไปรับที่จุด Pick Up Counter ผู้โดยสารขาเข้า จะต้องเสียค่าอากรเพิ่มอีกต่อหนึ่ง

อย่างไรก็ตาม แม้ประกาศที่ออกมาจะทำให้เกิดความสับสน แต่ นายกุลิศ สมบัติศิริ อธิบดีกรมศุลกากร ก็ออกมาเคลียร์เรื่องนี้ ยืนยันว่า ไม่มีอะไรซับซ้อน ประชาชนยังปฏิบัติได้เหมือนอย่างที่เคยปฏิบัติมา

เขากล่าวว่า ประกาศที่ออกมา เป็นของเดิมที่เคยมีใช้อยู่แล้ว แต่ที่ออกมาใหม่เพราะก่อนหน้านี้ได้ออก พ.ร.บ. ศุลกากรฉบับใหม่ ทดแทนของเดิมที่ใช้ในปี 2469 ทำให้ประกาศเดิมสิ้นสภาพ ก็เลยออกประกาศฉบับนี้ขึ้น

ข้อกำหนดที่ว่า การนำของมีค่าออกไปต่างประเทศ เช่น นาฬิกา กล้องถ่ายวิดีโอ กล้องถ่ายรูป คอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊ก ก็เพื่ออำนวยความสะดวกในกรณีผู้โดยสาร ที่ต้องนำของที่มีมูลค่ามากๆ ติดตัวออกไป

โดยให้ทำหลักฐานแจ้งไว้ก่อน เดินทางออก เพื่อเวลากลับมาจะได้ไม่ต้องตรวจซ้ำ หรือหากถูกสุ่มตรวจจะได้มีหลักฐานยืนยันไว้ว่าเป็นของใช้ตัวเอง เป็นกฎหมายเดิมที่เคยมีอยู่

เขายกตัวอย่างกรณีที่ผู้โดยสารนั้นจำเป็นต้องนำเครื่องไฟฟ้าออกไปแสดงสินค้าในต่างประเทศ แต่พอนำเครื่องใช้ไฟฟ้าดังกล่าวกลับเข้ามาในประเทศไทยอาจจะถูกเจ้าหน้าศุลกากรสอบถามได้

“ยืนยันว่า ประชาชนทุกรายจะยื่นสำแดงสินค้าหรือไม่ยื่นก็ได้ เพราะไม่ได้มีความผิด แต่เป็นเพียงการแสดงหลักฐานการเป็นเจ้าของสินค้าเท่านั้น” อธิบดีกรมศุลกากร ระบุ

ส่วนสินค้าปลอดภาษี ที่ซื้อจากร้านค้าปลอดอากรขาออกในเมือง จะต้องนำออกไปใช้นอกราชอาณาจักรเท่านั้น หากนำกลับเข้ามาก็ต้องเสียภาษี ก็เป็นเรื่องปกติที่เคยทำมากันอยู่แล้ว

ของส่วนตัวที่จะได้รับการยกเว้นอากร คือ ของส่วนตัวที่เจ้าของที่นำเข้ามาพร้อมกับตัวเอง สำหรับใช้เองหรือใช้ในวิชาชีพ และมีจำนวนพอสมควร มีราคารวมกันไม่เกิน 20,000 บาท ให้ได้รับยกเว้นอากร

แม้อธิบดีกรมศุลกากรจะยืนยันหนักแน่นว่าไม่กระทบ แต่ประกาศที่ออกมากำกวม ในทางปฏิบัติจริงๆ แล้ว การสุ่มตรวจกระเป๋าผู้โดยสารขาเข้า ซึ่งเคยมีดรามาในโซเชียลมีเดีย นับจากนี้จะมีปัญหาตามมาหรือไม่?


กำลังโหลดความคิดเห็น