xs
xsm
sm
md
lg

“วุฒิภูมิ จุฬางกูร” แม่ทัพใหญ่แห่งนกแอร์ กับความมุ่นมั่นด้านการศึกษาที่ไม่มีใครเคยรู้

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



>>สปอตไลท์ทุกดวงยังคงสาดแสงเข้ามาที่ “วุฒิ-วุฒิภูมิ จุฬางกูร” กับการก้าวเข้ามารับตำแหน่งซีอีโอคนใหม่ของสายการบินนกแอร์ เมื่ปลายปีที่แล้ว ซึ่งนับเป็นด่านที่หินไม่น้อยในการเข้ามากอบกู้วิกฤตของสายการบินคนไทย ที่รุมเร้าด้วยทั้งปัจจัยภายในและภายนอก ทั้งสงครามราคา การแข็งค่าของเงินบาท และ ที่กำลังเกิดขึ้นคือ วิกฤตไวรัสโคโรน่า (Covid-19)

งานนี้ แม้ว่าผู้บริหารไฟแรงจะมีโปรไฟล์แน่นปึ้ก เก็บชั่วโมงบินจากการนั่งเป็นกรรมการและผู้บริหาร ในบริษัทจดทะเบียนและบริษัทที่ไม่ได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์หลายแห่งด้วยกัน ยังออกปากว่า ท้าทายและต้องทุ่มเทเต็มที่เพื่อให้นกแอร์สยายปีกในฐานะสายการบินของคนไทยให้ได้

สำหรับใครที่อาจจะคุ้นหูกับนามสกุล “จุฬางกูร” เพราะเป็นตระกูลนักธุรกิจแถวหน้าของเมืองไทย แต่ยังไม่ค่อยรู้ที่มาที่ไปของผู้บริหารที่ได้รับการวางตัวให้มากุมบังเหียน “นกแอร์” บทสัมภาษณ์สุดเอ็กซ์คลูซีฟจากนี้ จะพาไปรู้จักวุฒิภูมิในมุมมองที่ไม่มีใครเคยรู้



บอกเลยว่าจะขอตารางคิวทองมาได้ไม่ง่ายเลย เพราะแค่เริ่มต้นเจ้าตัวก็เกริ่นแล้วว่า “ทุกวันนี้ทำงาน 7 วัน แถมยังกำลังเรียน ป.เอกไปด้วย”

“ด้วยความชอบด้านบริหารเลยเลือกเรียนสายนี้มาตลอด จนมาถึงปริญญาเอก ผมเบนเข็มมาเรียนครุศาสตร์ที่จุฬาฯ เพราะ มีแพสชั่นอยากจะส่งเสริมการศึกษา สร้างระบบการเรียนการสอนทางไกลในระดับมหาวิทยาลัย เพื่อเปิดโอกาสให้เด็กๆ ในพื้นที่ห่างไกล ได้มีโอกาสเรียนในระดับมหาวิทยาลัย จบมามีตลาดงานที่พร้อมรองรับ

แต่ก่อนจะไปถึงจุดนั้น สิ่งที่ผมโฟกัสตอนนี้คือ การเข้ามาบริหารสายการบินนกแอร์ ซึ่งถือว่าเป็นธุรกิจใหม่ของทั้งผมและครอบครัว เพราะก่อนหน้านี้ผมดูแลในส่วนธุรกิจชิ้นส่วนยานยนต์ อสังหาริมทรัพย์ ที่ดิน อพาร์ตเมนต์ แวร์เฮาส์ รวมทั้งธุรกิจการเงิน จนมาถึงนกแอร์ โจทย์ของผมคือ ผมอยากให้นกแอร์เป็นสายการบินของคนไทย บริหารโดยคนไทย 100% และอยู่กับคนไทยไปตลอด”

นั่งแท่น CEO นกแอร์
มาถึงตรงนี้ คำถามที่ป็อบอัพขึ้นในใจหลายคนคือ ธุรกิจครอบครัวมีไม่น้อย แถมลูกหลานก็มีมีมากแต่ทำไม ภารกิจกอบกู้นกแอร์ จึงมาอยู่บนสองบ่าของวุฒิภูมิ คำถามนี้ ทำเอาผู้บริหารคนเก่งคลี่ยิ้มก่อนตอบว่า
“ตลอดการทำงานร่วม 20 ปีของผม ผ่านวิกฤตใหญ่ๆ มาหลายครั้ง ทั้งวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ น้ำท่วมกรุงเทพฯ แต่ละอุปสรรคร่วมเสริมสร้างความแข็งแกร่ง และประสบการณ์ให้ผมมากขึ้น ทำให้ผมมั่นใจว่า ผมจะช่วยนกแอร์ฝ่าฟันอุปสรรคให้รอดพ้นไปให้ได้



ทั้งนี้ ตั้งแต่เข้ามารับตำแหน่งเมื่อปลายปีที่แล้ว นกแอร์มีการเปลี่ยนกลยุทธ์เยอะมาก ไม่เน้นการทำสงครามราคา แต่มุ่งสู่การเป็นสายการบิน Low cost ที่มีความแตกต่าง สร้างจุดเด่นใหม่ๆ เสริมคุณภาพการให้บริการ และประสบการณ์ที่ลูกค้าจะได้รับ” วุฒิภูมิเล่าอย่างออกรสก่อนขยายความให้เห็นภาพตามว่า

“ต้องเข้าใจก่อนว่า ความยากของธุรกิจสายการบินคือ ต้องรับมือกับสถานการณ์ที่ไม่สามารถควบคุมได้ เช่น โคโรน่าไวรัส ราคาน้ำมัน ค่าเงินบาท แต่ที่น่ากลัวที่สุดคือ สงครามราคา เพราะเมื่อไหร่ที่ผู้ประกอบการที่มีเครือข่ายขนาดใหญ่เข้ามาทุ่มตลาด โดยใช้กลยุทธ์ “ราคา” จนคู่แข่งซึ่งเป็นรายเล็กอยู่ไม่ได้ ขาดทุน และจำเป็นต้องปิดเส้นทางบินไป สุดท้ายผลเสียจะตกอยู่ที่ผู้บริโภค”

กลยุทธ์ด้าน “ราคา” ที่คุณวุฒิเอ่ยถึง ถือได้ว่าเป็นโจทย์ใหญ่ที่ทำให้สายการบินไทยแท้ๆ แห่งนี้หนักใจ นั่นคือ การที่เส้นทางการบินหนึ่งที่ไปลงจอดสนามบินเล็กๆ ซึ่งไม่ได้มีคู่แข่งหลายเจ้านัก ถ้าสายการบินทุนหนา ใช้กลยุทธ์กดราคาให้ถูก แบบต่ำกว่ากลไกตลาดมาก ชนิดที่เรียกได้ว่าบินไปก็ขาดทุน ทำให้คู่แข่งไม่สามารถทำราคาถูกลงไปในระดับเดียวกันเพื่อแข่งขันได้ เขาก็จะยอมขาดทุนหรือไม่มีกำไรไปช่วงระยะเวลาหนึ่ง จนบรรดาคู่แข่งที่อาจจะสายป่านไม่ยาวเท่า ก็จะค่อยๆ ยกเลิกเส้นทางนั้นไปเอง จนสุดท้ายแล้วเหลือเพียงเจ้าเดียว ก็คล้ายทำให้เป็นการผูกขาดไปโดยปริยาย ซึ่งหลังจากนั้นแล้วเขาจะขึ้นราคาไปแพงกว่าเดิมกี่เท่าก็ได้ เพราะผู้บริโภคไม่มีทางเลือก



ดังนั้น 7 เดือนที่ผ่านมา นกแอร์จึงมีการวางแผนระยะสั้น กลาง ยาว และ อัปเดตแผนตลอดให้ทันกับสถานการณ์ “เหมือนเรากำลังต่อจิ๊กซอว์ไปเรื่อยๆ มีแผนระยะสั้นหลายอย่างที่ทำไปแล้วเห็นผลเป็นอย่างดี เช่น การลบภาพนกแอร์ว่าเป็นสายการบินที่ดีเลย์ ถึงวันนี้ภาพลักษณ์เรื่องดีเลย์ของนกแอร์ลดหายไปอย่างมาก หลังจากเมื่อปลายปีที่แล้ว นกแอร์สามารถทำสถิติการตรงเวลา หรือ on time performance มาอยู่ในมาตรฐานโลก และทำให้ลูกค้ากลับมาบินกับนกแอร์มากขึ้น

พร้อมกันนี้ ยังเปิดเส้นทางใหม่ๆ อย่าง ฮิโรชิม่า (ญี่ปุ่น) และ กูวาฮาติ (อินเดีย)) ควบคู่ไปกับการเขย่าพอร์ตเส้นทางการบินใหม่ เพื่อมองหาตลาดใหม่ๆ เข้ามาเสริม อาทิ อินเดีย พม่า และเวียดนาม”

อย่างไรก็ตาม ผู้บริหารคนเก่งยอมรับว่า การมองผ่านสายตาคนนอกกับการเข้ามาบริหารเต็มตัวนั้นต่างกันลิบลับ แต่อาศัยว่าเป็นผู้บริหารสายลุย ลงหน้างานจริง ใกล้ชิดกับพนักงาน ทำให้เห็นปัญหาหน้างาน แอคชั่นได้ไว การตัดสินใจต่างๆ เร็วขึ้น
“เวลาทำงานผมค่อนข้างใกล้ชิดกับพนักงาน อย่างตอนอยู่ในธุรกิจชิ้นส่วนยานยนต์ เรารู้ว่าเครื่องจักรจะได้หยุดพักช่วงสงกรานต์ เพราะพนักงานหยุด ทีมช่างก็จะถือโอกาสนี้เข้าไปตรวจซ่อมบำรุง ถ้ามีเวลาผมก็จะเข้าไปด้วย เพื่อให้กำลังใจพนักงาน พร้อมกับดูว่าหน้างานขาดเหลืออะไรมั้ย จะได้ตัดสินใจได้ทันที หรืออย่างนกแอร์ ช่วงวันหยุดยาวผู้โดยสารเยอะ ผมลงไปเป็นพนักงานที่เคาน์เตอร์เช็กอินเลยก็มี เพื่อรับรู้ปัญหาที่หน้างานว่าพนักงานต้องเจออะไร ได้รับแรงกดดันอะไร บางครั้งผู้โดยสารจำได้ เพราะเคยเห็นผมออกสื่อ ก็มาขอถ่ายรูป บางคนก็ให้กำลังใจ บอกสู้ๆ นะก็มี หรืออย่างแต่ก่อนไปฮิโรชิม่า ผมไปทำงานและเที่ยว แต่ตอนนี้ไปในมุมผู้บริหาร มุมมองก็ไม่เหมือนเดิมนะ ผมไปคุยกับเอเจนซี ดึงนักท่องเที่ยวของเขามาไทยด้วย นอกจากแนะนำให้คนไทยไป”

ค้นหาแพสชั่นที่ยังไม่มีโอกาสได้ทำ
อย่างที่เกริ่นไว้ตอนต้นว่า นอกจากความตั้งใจเกินร้อยที่ทุ่มเทให้สายการบินนกแอร์ วุฒิภูมิยังมีอีกหนึ่งความฝันที่อยากจะทำให้เป็นจริง เพียงแต่รอโอกาส

“ทุกปี ผมจะมีโปรเจกต์ไปบริจาคสิ่งของให้โรงเรียนตามชายแดน ได้เห็นความจำเป็นของเด็กๆ ที่ต้องออกจากโรงเรียนตั้งแต่ยังไม่จบ ม.6 หรือบางคนไม่ได้ต่อมหาวิทยาลัย ต้องออกมาช่วยพ่อแม่ทำงาน บางทีก็ทุรกันดาร ต้องเดินทางเข้าเมืองไกลๆ ไปเรียน ทำให้บางคนเสียโอกาสในการศึกษาไป



ผมเลยมีไอเดียอยากสร้างระบบเรียนทางไกลในระดับมหาวิทยาลัย แต่ฝันนี้ไม่ง่ายเลย เพราะเราตั้งใจทำจริง ไม่ใช่แบบมีเงินจ่ายแล้วจบ แต่ต้องมาพร้อมคุณภาพ และการจะริเริ่มสถาบันการศึกษาสักแห่งมันต้องผ่านหลายด่านมาก ก็ค่อยๆ ทำไปครับ อยู่ในช่วงเรียนรู้ก่อน ซึ่งตอนนี้ผมก็เริ่มต่อจิ๊กซอว์ในหัวว่า ถ้าพัฒนาระบบการสอนทางไกลแบบเฉพาะทางมาที่สายวิศวกรน่าจะดี เพราะทางบริษัทก็พร้อมมีตลาดแรงงานมารองรับน้องๆ นักศึกษาได้ ช่วงที่เรียนอาจจะมีบางวิชาที่ต้องเรียนปฏิบัติ ก็มากรุงเทพฯ ได้ เรามีที่พักรองรับ ไปเรียนรู้หน้างานจริงที่โรงงาน ไม่ใช่แค่ห้องทดลอง เรียกได้ว่ามีปัจจัยสนับสนุนพร้อม”
แต่ก่อนจะไปถึง ผู้บริหารคนเก่งตั้งต้นจากการไปเรียนต่อปริญญาเอก โดยเลือกเรียน 2 สถาบันพร้อมกัน ทั้งครุศาสตร์บริหาร ที่จุฬาฯ และ มหาวิทยาลัยเวสเทิร์น ซึ่งเขากำลังเตรียมเป็นว่าที่บัณฑิต เพราะเรียนจบเรียบร้อยด้วยเกรดเฉลี่ย 4.00
“ผมมองว่าจะตั้งมหาวิทยาลัยโดยผู้บริหารไม่มีความรู้ไม่ได้ เลยไปเรียนให้รู้ตั้งแต่การศึกษาหลักสูตร การควบคุมคุณภาพผู้สอน สื่อการเรียนการสอน สภาพแวดล้อม ลงรายละเอียดตั้งแต่การรับสมัครจนกระทั่งเรียนจบ ส่วนเหตุผลที่ต้องเรียนสองที่ เพราะความอยากรู้อยากเห็น (หัวเราะ) จริงๆ ตั้งแต่สมัยเรียน ป.โท ผมก็เรียน 2 ที่ เพราะช่วงที่เรียนบริหาร หลักสูตรภาษาอังกฤษ ที่ศศินทร์ ผมมีโอกาสไปเป็นติวเตอร์พิเศษให้รุ่นน้องและเพื่อนๆ ที่เรียนเอ็มบีเอ ภาษาไทย ทำให้พบว่าเนื้อหาที่เรียนไม่เหมือนกันเลย ทั้งที่วิชาเดียวกัน ยังใช้ตำราคนละเล่ม เลยตัดสินใจไปเรียนเอ็มบีเอภาคไทยอีกใบ แต่สุดท้ายก็ไม่จบ ตัดใจทิ้งมาเรียนต่อปริญญาเอก เพราะที่จุฬาฯ มีกฎไม่ให้ลงเรียนซ้อนกัน”

วันว่างมีน้อย แต่ก็ยังมีอยู่ (บ้าง)
ภารกิจที่ต้องอาศัยทั้งแรงกายและแรงใจนี้ กินเวลาว่างของผู้บริหารคนเก่งไม่น้อย แต่เขาก็ยังพยายามจัดสรรเวลา
“ผมชอบเดินทางก็จริง แต่ 20 ปีที่ผ่านมา ถ้าให้นับทริปที่ได้ไปเที่ยวจริงๆ มีแค่ 2 ทริป ครั้งหนึ่งเป็นทริปครอบครัวที่ดูไบ อีกครั้งคือตอนไปฮ่องกงกับแฟนและก๊วนเพื่อนๆ ส่วนที่เหลือเป็นการทำงานพ่วงเที่ยว โชคดีที่แฟนเข้าใจ ทุกวันนี้ก็กลับถึงบ้าน 4 ทุ่ม อาบน้ำแล้วลงไปเคลียร์งานต่อ นี่ขนาดเพิ่งแต่งงานนะ (หัวเราะ) ส่วนกิจกรรมอื่นๆ ก็มีตีกอล์ฟกับลูกค้าหรือผู้ใหญ่บ้าง บางครั้งก็ไปเล่นฟุตบอล เจ็ตสกี แต่ตั้งแต่เข้ามาทำตรงนี้คือทุกอย่างหยุดหมด ไม่ได้มีเวลาเลย” ผู้บริหารคนเก่งเล่าอย่างออกรส ก่อนทิ้งท้ายด้วยแววตามุ่งมั่นว่า

“ที่เป็นเช่นนั้น เพราะผมรู้ดีว่ากำลังอยู่ในธุรกิจที่มีการแข่งขันสูงไม่พอ ผมยังมีความตั้งใจว่าอยากให้นกแอร์เป็นสายการบินของคนไทยจริงๆ ไม่ต้องมีต่างชาติเข้ามาถือหุ้น ผมเลยตั้งใจบริหารอย่างเต็มที่ครับ”



กำลังโหลดความคิดเห็น