xs
xsm
sm
md
lg

ADVANC ควง TRUE เด่น 5G ลุ้น DTAC ประมูลใหญ่รอบหน้า

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ส่องภาพรวมหลังจบประมูลคลื่น 5G ด้าน ADVANC ยังครอง TOP Pick กลุ่มสื่อสารหลังจัดหนัก เสริมคามพร้อม ขณะที่ TRUE หลายฝ่ายซูฮกควบคุมการเงินได้ดี แถมไม่ลดหย่อนประสิทธิภาพ ส่วน DTAC ระยะสั้นมีความกังวลส่วนแบ่งการตลาด แต่ระยะยาวน่าสนใจอาจจับมือ CAT หรือทุ่มใหญ่ในการประมูลรอบหน้า

เสร็จสิ้นไปแล้ว สำหรับการประมูลคลื่น5G ด้วยวงเงินรวมทั้งสิ้นกว่า 1 แสนล้านบาท และนั่นทำให้ 3 บริษัทโอเปอร์เรเตอร์ในตลาดหุ้นกำลังถูกวิเคราะห์ผลได้เสียจากการประมูลในครั้งนี้ เนื่องจากผลจากการประมูลดังกล่าวจะมีผลต่อทิศทางการดำเนินงานและฐานะทางการเงินในอนาคตของบริษัท

สรุปภาพรวมการประมูลคลื่น

เมื่อวันที่ 16 ก.พ. 2563 สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) รายงานว่า ผลจัดการประมูลคลื่นความถี่ ในย่าน 700 MHz 2600 MHz และ 26 GHz ครั้งนี้มีผู้เข้าร่วมประมูล 5 ราย ได้แก่ บริษัท ทรูมูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด หรือ TUC บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) บริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด หรือ DTN บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) และบริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด หรือ AWN ซึ่งการประมูลได้เริ่มต้นในเวลา 09.30 น. และเสร็จสิ้นลงในเวลา 15.05 น. ใช้เวลาประมูลทั้งสิ้น 5 ชั่วโมง 35 นาที

ผลการประมูลรวม 3 คลื่นความถี่ รวมเป็นเงินประมูลทั้งสิ้น 1 แสนล้านบาท แบ่งเป็น คลื่นความถี่ 700 MHz เงินประมูลรวม 5.14 หมื่นล้านบาท คลื่นความถี่ 2600 MHz เงินประมูลรวม 3.74 หมื่นล้านบาท และคลื่นความถี่ 26 GHz เงินประมูลรวม 1.16 หมื่นล้านบาท
 
โดยการประมูลคลื่นความถี่ย่าน 700 MHz มีทั้งสิ้น 3 ใบอนุญาต ใบอนุญาตละ 2.5 MHz ผลปรากฏว่ามีผู้ประมูลหมดทั้ง 3 ใบอนุญาต ได้แก่ CAT ได้ 2 ชุดคลื่นความถี่ เงินประมูลรวม3.43 หมื่นล้านบาท และ AWN ได้ 1 ชุดคลื่นความถี่ เงินประมูลรวม1.71 หมื่นล้านบาท
 
จากนั้นได้ประมูลคลื่นความถี่ย่าน 2600 MHz เป็นคลื่นที่สองจำนวน 19 ใบอนุญาต ใบอนุญาตละ 10 MHzผลปรากฏว่า AWN ได้ 10 ชุดคลื่นความถี่ เงินประมูลรวม 1.95 หมื่นล้านบาท และ TUC ได้ 9 ชุดคลื่นความถี่ เงินประมูลรวม 1.78 หมื่นล้านบาท
 
ส่วนคลื่นความถี่ย่าน 26 GHz เป็นคลื่นสุดท้ายที่นำมาประมูลทั้งสิ้น 27 ใบอนุญาต ใบอนุญาตละ 100 MHz แต่มีการประมูลออก 26 ใบอนุญาต ได้แก่ AWN ได้ 12 ชุดคลื่นความถี่ เงินประมูลรวม 5.34 พันล้านบาท TUC ได้ 8 ชุดคลื่นความถี่ เงินประมูลรวม 3.57 พันล้านบาท ทีโอที ได้ 4 ชุดคลื่นความถี่ เงินประมูลรวม 1.79 พันล้านบาท และ DTN ได้ 2 ชุดคลื่นความถี่ เงินประมูลรวม 910 ล้านบาท

ทิศทางหุ้นกลุ่มสื่อสารหลังประมูล

“นฤดม มุจจลินทร์กูล ผู้อำนวยการ” ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ทรีนีตี้ จำกัด กล่าวถึงเรื่องดังกล่าวว่า “ทรีนิตี้” ยังคงน้ำหนักการลงทุนของกลุ่ม ICT "เท่ากับตลาด" โดยยังคงเลือก บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (ADVANC) เป็น Top pick เนื่องจากจำนวนคลื่นที่บริษัทได้มามากที่สุดในตลาด และจะสร้างความเชื่อมั่นในระยะยาวต่อตลาดและลูกค้าได้ แต่ก็ต้องแลกมาด้วยเงินลงทุนค่าใบอนุญาตที่ค่อนข้างสูง
ขณะที่ บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น (TRUE) ผลการตอบรับในเชิงบวก เนื่องจากชนะประมูลใบอนุญาตที่ไม่เกิดการแข่งขัน ราคาไม่สูงมาก และได้คลื่นไปมากเพียงพอต่อการให้บริการ ขณะที่ ADVANC ตอบรับเชิงบวก

ส่วน บมจ. โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (DTAC) ราคาหุ้นอาจถูกตอบรับในเชิงลบ เนื่องจากไม่มีการแข่งขันบนคลื่น 2600 MHz ทำให้คู่แข่งได้คลื่นกันไปครบถ้วนในราคาที่ไม่สูงมาก จนอาจทำให้ลูกค้าอาจสูญเสียความเชื่อมั่นในการให้บริการ ส่งผลให้อาจมีการย้ายค่ายหนีไปใช้บริการของคู่แข่งที่มีความพร้อมของ 5G มากกว่าและเร็วกว่า

จากภาพรวม ทำให้ในลำดับถัดไปต้องติดตามการจัดประมูลคลื่น 3500MHz ในอนาคต รวมไปถึงการจัดสรรคลื่น 700MHz ว่าจะแล้วเสร็จเมื่อไร โดยเบื้องต้นคาดว่าจะพร้อมในช่วง เดือน เม.ย ปี 2564 ขณะที่คลื่นย่านอื่นคาดจัดสรรได้ทันที โดยคาดว่า 5G จะเริ่มมีให้ใช้บริการช่วงปลายปี 2563 หรือต้นปีหน้า

อย่างไรก็ตามในภาพรวมการประมูลคลื่นความถี่ครั้งนี้ นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่มองว่า การแข่งประมูลใบอนุญาตคลื่น 700 MHz รุนแรงกว่าที่หลายฝ่ายคาดไว้ แต่คลื่น 2600 MHz และ 26 GHz เป็นไปตามคาด โดยราคาสุดท้ายของใบอนุญาตคลื่น 700 MHz สูงกว่าที่ตลาดคาดไว้และสูงกว่าราคาตั้งต้นถึง 195% ขณะที่ราคาสุดท้ายของคลื่น 2600 MHz และ 26 GHz สูงกว่าราคาตั้งต้นเพียง 5% ซึ่งถือว่าการประมูลไม่รุนแรงตามคาด

จากผลการประมูลข้างต้น สามารถสรุปได้ว่า ADVANC และ TRUE มีความพร้อมที่จะเปิดให้บริการ 5G กว่าคู่แข่ง เพราะ ADVANC ประมูลได้ใบอนุญาตจำนวนรวมมากที่สุด (23 ใบ) รองลงมาคือ TRUE (17 ใบ) ในขณะที่รายอื่น ๆ ประมูลไปเพียง 2-4 ใบเท่านั้น ขณะที่ TOT และ CAT ประมูลใบอนุญาตคนละคลื่นกันเพื่อที่จะได้ไม่ต้องแข่งกันเองก่อนการควบรวม

สิ่งที่น่าสนใจคือ ดูเหมือนว่า DTAC ไม่ได้สนใจประมูลมากนักเพราะน่าจะอยากจะรอดู 5G ในต่างประเทศก่อน และบริษัทก็ต้องการคลื่นอื่นมากกว่าโดยเฉพาะในย่านความถี่ 3500 MHz อย่างไรก็ตามผลการประมูลเป็นลบกับ DTAC เนื่องจากบริษัทจะต้องชำระค่าคลื่น 26 GHz ในปีหน้า ดังนั้น DTAC จึงจะสามารถเริ่มให้บริการ 5G ได้หลังคู่แข่งอย่าง ADVANC และ TRUE ซึ่งประมูลได้คลื่น 2600 MHz และคาดว่าจะเริ่มเปิดให้บริการได้ในครึ่งหลังปี 2563

จึงเป็นที่มาให้ เกิดการปรับประมาณการกำไรปี 2563-64 ของ ADVANC DTAC และ TRUE โดยประมาณการกำไรของ ADVANC ปี 2563-64 ลดลง 4% - 7% เหลือ 3.12 หมื่นล้านบาท และ 3.08 หมื่นล้านบาท ตามลำดับ และประมาณการกำไรของ DTAC ปี 2563-64 ลดลง 4% - 18% เหลือ 5.0 พันล้านบาท และ 3.5 พันล้านบาท ในขณะที่คาดว่า TRUE จะขาดทุนสุทธิหนักขึ้นจากเดิมที่อีก 13% -31% เป็นขาดทุนสุทธิ 4.5 -5.1 พันล้านบาทในปี 2563-64 ตามลำดับ

ทั้งนี้ แม้ว่าจะมีข่าวดีคือ การประมูลที่สิ้นสุดลงสำหรับ ADVANC, INTUCH และ TRUE นั้นมีต้นทุนจากการประมูลที่เพิ่มขึ้นแต่ยังไม่ถึงขั้นที่ต้องกังวล อย่างไรก็ตามการหยุดดำเนินงานของไทยคมในปลายเดือน ก.พ. ทำให้คลื่น 3500MHz กลับมาประมูลได้อีกครั้ง และอาจจะต้องใช้เวลา 1 ปีในการได้ข้อสรุปของ upper C-Band ทำให้นักลงทุนอาจตัดสินใจรอดูแผนการของ กสทช. ก่อน

ส่องศักยภาพหุ้นมือถือหลังจบประมูล

ADVANC : เพิ่มความแข็งแกร่ง มีความประหลาดใจเล็กน้อยในการประมูลคลื่น 700 MHz คือ การประมูลราคาของ ADVANC ซึ่งคาดว่าจะมาจากการจงใจแข่งราคาเพื่อให้ CAT เหลือวงเงินในการประมูลคลื่นอื่นๆ ลดลง แต่อาจทำให้ CAT เป็นพันธมิตรกับค่ายอื่นมาแข่งกับ ADVANC และเป็น Reseller ได้ยากขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม ADVANC ก็ได้คลื่นมาในราคาที่สูงถึง 1.7 หมื่นล้านบาท และโดยรวมใช้เงินประมูลสูงถึง 4.2 หมื่นล้านบาท แต่ภาพรวมคาดว่า ADVANC มีใบอนุญาตเพียงพอในการทำธุรกิจระยะยาว เพราะมี bandwidth ในระดับ full scale สามารถทำ 5G เต็มรูปแบบได้ ขณะที่ระยะสั้นคาดว่าจะมีประเด็นบวกจากแนวโน้มการได้ส่วนแบ่งตลาดเพิ่มเติม
ส่วนในระยะกลาง-ยาว ต้นทุนและการแข่งขันมีโอกาสเข้ามากดดันผลประกอบการของ ADVANC เช่นกัน โดยอิงข้อมูลของ กสทช. การลงทุนโครงข่ายและอุปกรณ์ 5G อาจสูงถึง 7 เท่าของราคาประมูล ในขณะที่การ monetize 5G assets ยังไม่ชัดเจน ทำให้ผู้ประกอบการต้องรับภาระขาดทุนในช่วงแรก และแนวโน้มการแข่งขันที่จะทวีความรุนแรงขึ้น จากการโปรโมท 5G เพื่อชิงส่วนแบ่งตลาดจากคู่แข่ง และการปกป้องส่วนแบ่งตลาดจากฝ่ายที่ไม่พร้อมทำให้ price war เป็นสิ่งที่เลี่ยงไม่ได้

สิ่งที่น่าสนใจ ADVANC มีลงทุนคลื่นทั้งหมดที่ 4.2 หมื่นล้านบาท สูงกว่าคาด 1 หมื่นล้านบาท ทำให้กระทบกับราคาหุ้นในระดับหนึ่ง (คาดประมาณ 3.00 บาทต่อหุ้น) โดยหลักๆจากการเข้าลงทุนในคลื่น 700MHz ผิดคาด อย่างไรก็ดีกำไรปกติปี 2563 ไม่ถูกกระทบ และคาดว่าอยู่ที่ 3.2 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.6% จากช่วงเดียวกันปีก่อน เพราะคลื่น 700MHz จะถูกใช้งานในไตรมาส2/64ทำให้ ADVANC เป็นหุ้นเด่นของกลุ่ม สำหรับในแง่ของผลกระทบค่าเสื่อมต่อฐานกำไร สำหรับ ADVANC ค่าเสื่อมราคาที่ 2.8 พันล้านบาทต่อปี (รวมทุกใบอนุญาต)

โดยรวม ADVANC ได้ลงทุนโครงข่าย 5G ก่อนคู่แข่งหลักอย่าง DTAC และยังรักษาความสามารถในการแข่งขันที่เหนือกว่า TRUE ในยุค 5G และไม่ต้องกังวลเรื่องการประมูลคลื่นอีกระยะใหญ่ จากการมีคลื่นในมือรวม 175MHz (ไม่นับรวมคลื่น 26GHz) มากเพียงพอรองรับบริการ 4G และ 5G นอกจากนี้โครงสร้างคลื่นยังเหมาะสมมีทั้งคลื่นสั้น คลื่นระดับกลาง และคลื่นสำหรับ 5G ครบมือ

TRUE : ผลกระทบน้อยแต่ความพร้อมสูง โดยรวมถือว่าเซอร์ไพร์ส สำหรับ TRUE เพราะได้คลื่น 2600 MHz มาในราคาที่ต่ำ และไม่ได้ร่วมในสงครามราคา ทำให้แทบไม่ได้รับผลกระทบ และภาพรวมบริษัทใช้เงินเข้าประมูล 2.12 หมื่นล้านบาท แต่บริษัทก็มีใบอนุญาตเพียงพอในการทำธุรกิจระยะยาวเช่นกัน เพราะเป็นผู้ชนะได้รับ bandwidth ในระดับ full scale สามารถทำ 5G เต็มรูปแบบได้ ทำให้คาดระยะสั้นมีประเด็นบวกจากแนวโน้มการได้ส่วนแบ่งตลาดเพิ่มเติม

และจากการลงทุนประมูลคลื่นที่ใช้เงินไป 2.12 หมื่นล้านบาท ทำให้ถูกคาดว่าจะกระทบในแง่ของกระแสเงินสดเพียง 0.10 บาทต่อหุ้น จากราคาเหมาะสมเดิมที่ 5.20 บาทต่อหุ้น แต่ในแง่ของกำไร ส่วนค่าเสื่อมราคาที่เพิ่มขึ้นราว 1.4 พันล้านบาทต่อปี อาจหมายถึงการต้องรอกำไรปกติต่อไปอีกหนึ่งปี

สิ่งที่น่าสนใจคือ ต้นทุนคลื่นทั้งหมดนั้นตัดจำหน่าย 15 ปี แต่มีจุดเริ่มต้นใช้งานไม่พร้อมกัน โดยคลื่น 700MHz จะเริ่มใช้งานได้ในไตรมาส2/64 ขณะที่คลื่น 2600MHz จะเปิดใช้งานได้ทันทีเมื่อเริ่มจ่ายเงินงวดแรก นั่นอาจทำให้ค่าเสื่อมต่อฐานกำไร สำหรับ TRUE แม้ผลกระทบกระแสเงินสดจะไม่สูงนัก แต่อาจกดดันผลดำเนินงานปี 2564

แต่โดยรวม การได้คลื่น 2600MHz ไปทั้งหมด 90MHz มากเพียงพอที่ให้บริการ 5G ก่อนคู่แข่งหลักอย่าง DTAC นอกจากนี้ TRUE ยังแสดงให้เห็นถึงวินัยทางการเงินที่ดีขึ้น จากการไม่ประมูล 700MHz ที่ราคาสูง สะท้อนให้เห็นความต้องรักษาความสามารถในการแข่งขันเชิงเปรียบเทียบกับ ADVANC หลังไม่ได้ใช้กลยุทธ์ทุ่มตลาดเหมือนในอดีต ทำให้ TRUE มีโอกาสแย่งส่วนแบ่งการตลาดได้อีกอย่างน้อยจนกว่าจะเปิดประมูล 3500MHz ในปี 2564 ถือว่าทิ้งห่างไปอีกในยุค 5G

DTAC: ต้องลุ้นระยะยาว ผลการประมูลคลื่นที่ผ่านมา ทำให้หลายฝ่ายกังวลความสามารถในการแข่งขันของ DTAC หลังได้ใบอนุญาตมา 5G น้อย เพราะบริษัทชนะประมูลใบอนุญาตย่าน 26 GHz มา 2 ใบ ราคารวม 910 ล้านบาทเท่านั้น ทำให้มีโอกาสที่ DTAC จะเข้าประมูลแบนด์กลางย่าน 3500 MHz ในระยะต่อไป หลังจากที่ ADVANC และ TRUE ได้แบนด์กลางย่าน 2600 MHz ไปแล้ว ทำให้มีโอกาสน้อยที่สองบริษัทนี้จะเข้าประมูลย่าน 3500 MHz อีก ก็จะเหลือแต่ DTAC, CAT และ TOT ที่น่าจะเข้าประมูล

คาดว่า DTAC จะเผชิญความเสี่ยงจากแนวโน้มการสูญเสียส่วนแบ่งตลาด โดยในระยะ mid to long-term ผู้เล่นมีความเสี่ยงเรื่องการแบกรับต้นทุนที่เร็วเกินไปหลังการ monetize 5G assets ยังไม่ชัดเจน และแนวโน้มการแข่งขันที่มีโอกาสทวีความรุนแรงขึ้นจากการชิงส่วนแบ่งตลาดจากคู่แข่งที่ยังขาดความพร้อมซึ่งเป็นปัจจัยลบกับทั้งอุตสาหกรรม

ภาพรวมปรับลดประมาณการรายได้ครึ่งแรกปี 2563 สะท้อนการที่บริษัทได้ใบอนุญาต 5G เข้ามาน้อยกว่าคาด โดยให้สมมติฐานการเติบโตของรายได้ลดเป็น 0.5%และปรับในส่วนเงินลงทุนด้วย

อย่างไรก็ตาม การไม่เข้าประมูลคลื่น 5G รอบนี้ของ DTAC มีบางฝ่ายเชื่อว่าระยะยาวอาจเป็นการตัดสินใจที่ถูกต้อง จากคลื่น 2600MHz เป็นคลื่นผสมระหว่าง 4G-5G และใกล้เคียงกับคลื่น 2300MHz ที่ DTAC ใช้งานอยู่แล้วในปัจจุบัน ขณะที่คลื่น 3500MHz จำนวนถึง 300MHz มีโอกาสถูกนำมาประมูล ภายหลัง THCOM หมดสัมปทานในไตรมาส3/64 ซึ่งคลื่น 3500MHz เหมาะสมที่จะทำ 5G มากกว่า และน่าจะเสริม Spectrum Portfolio ของ DTAC ได้ดีกว่า และอาจมีราคาถูกกว่าเนื่องจาก ADVANC และ TRUE ลงทุนในคลื่น 2600MHz ไปมากแล้ว

นอกจากนี้การลงทุนในปี 2564 หลัง Technology 5G นิ่งขึ้น และมี Ecosystem สนับสนุนที่ดีขึ้น มีความเสี่ยงต่ำกว่าการเร่งลงทุนทันทีในปี 2563 พอสมควร เหมาะสำหรับแนวทางการบริหารงานของ Telenor ที่เน้นกำไรและความเสี่ยงต่ำ ไม่เพียงเท่านี้ การที่ CAT ชนะประมูลคลื่น 700MHz ขณะที่มีฐานลูกค้าในมือราว 2 ล้านเลขหมาย ทำให้มีปริมาณคลื่นมากเกินความจำเป็น เชื่อว่ามีโอกาสที่ DTAC จะขอเช่าใช้ในระยะถัดไป

แต่ในระยะยาว DTAC มีโอกาสสูญเสียส่วนแบ่งการตลาดต่อเนื่องหากไม่สามารถบริหารจัดการได้ และต้องไปลุ้นกับความไม่แน่นอนของ Timeline การจัดประมูลคลื่น 2600MHz ของ กสทช.




กำลังโหลดความคิดเห็น