xs
xsm
sm
md
lg

ประมูล 5G กสทช.นำเงินเข้ารัฐแสนล้านบาท

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กสทช. ยิ้มหวาน ประมูล 5G ขายออก 48 ใบอนุญาต จากทั้งหมด 3 คลื่น 49 ใบอนุญาต สร้างรายได้จากการประมูลกว่าแสนล้านบาท พบคลื่น 700 MHz แข่งดุ ขายหมด 3 ใบอนุญาต มูลค่า 51,460 ล้านบาท ขณะที่คลื่น 2600 MHz เคาะไม่แรง ขายหมด 19 ใบอนุญาต มูลค่ากว่า 37,433 ล้านบาท ส่วนคลื่น 26 GHz เหลือ 1 ใบอนุญาต ขายออก 26 ใบอนุญาต มูลค่ากว่า 11,627 ล้านบาท รวม 100,521 ล้านบาท

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และ กิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวว่า การประมูลคลื่น 5G จำนวน 3 คลื่นความถี่ จำนวน 49 ใบอนุญาต ได้แก่ ย่าน 700, 2600 MHz และ 26 GHz โดยมีผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ (โอเปอเรเตอร์) เข้าร่วมประมูล ได้แก่ บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด (เอดับบลิวเอ็น) ในเครือบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือเอไอเอส, บริษัท ทรู มูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด (ทียูซี) ในเครือบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน), บริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด (ดีทีเอ็น) ในเครือบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค, บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) และบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน


พบว่า สามารถประมูลออกได้จำนวน 48 ใบอนุญาต รวมเป็นเงิน 100,521 ล้านบาท โดยเป็นเงินจากการประมูล 100,193 ล้านบาท เพิ่มเติมด้วยการยื่นราคาเพื่อกำหนดย่านคลื่นความถี่อีก 328 ล้านบาท รวมเป็นมูลค่าทั้งหมด 100,521 ล้านบาท (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม)

ทั้งนี้ คลื่น 700 MHz มีผู้สนใจเข้าร่วมประมูล 3 ราย คือ ทรูมูฟ เอช เอไอเอส และ กสท โทรคมนาคม เป็นคลื่นที่แข่งขันดุเดือดที่สุด ใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมงครึ่ง โดยมีคลื่น 3 ชุด ๆละ 2x5 MHz รวม 2x15 MHz ราคาเริ่มต้น 8,792 ล้านบาท จบลงในรอบที่ 20 ราคาที่ผู้เข้าประมูลประมูลได้ 17,153 ล้านบาท/ชุดคลื่นความถึ่ รวม 3 ชุดคลื่นความถี่ เป็นเงิน 51,460 ล้านบาท

ผู้ชนะคือ กสท โทรคมนาคม ได้ จำนวน 2 ใบอนุญาต ราคาสุดท้าย คือ 34,306 ล้านบาท ตามด้วย เอไอเอส ได้ 1 ใบอนุญาต ราคาสุดท้าย 17,154 ล้านบาท คลื่น 700 MHz ชำระเงินแบ่งเป็น 10 งวด งวดละ 10% โดยผู้เข้าร่วมประมูลต้องวางหลักประกัน 2,637.6 ล้านบาท และหากไม่ชำระค่าประมูล จะต้องชำระค่าปรับ 1,319 ล้านบาทต่อใบอนุญาต

การประมูลคลื่นความถี่ย่าน 2600 MHz มีผู้สนใจเข้าร่วมประมูล 3 ราย คือ ทรูมูฟ เอช เอไอเอส และ กสท โทรคมนาคม จบลงในรอบที่ 2 ใช้เวลาเพียงครึ่งชั่วโมง โดยมีคลื่นจำนวน 19 ชุด ชุดละ 10 MHz รวม 190 MHz ราคาเริ่มต้น 1,862 ล้านบาท ราคาที่ผู้เข้าประมูลประมูลได้ 1,956 ล้านบาท/ชุดคลื่นความถึ่ รวม 19 ชุดคลื่นความถี่ เป็นเงิน 37,433 ล้านบาท ผู้ชนะคือ เอไอเอส ได้ 10 ใบอนุญาต ราคาสุดท้าย 19,561 ล้านบาท ทรูมูฟ เอช ได้ 9 ใบอนุญาต ราคาสุดท้าย 17,872 ล้านบาท

ทั้งนี้ คลื่น 2600 MHz มีการชำระเงินแบ่งเป็น 7 งวด 10 ปี งวดที่ 1 จำนวน 10% ของราคาที่ชนะการประมูล งวดที่ 2-7 (ปีที่ 5 - 10) งวดละ 15% ของราคาที่ชนะการประมูล โดยผู้เข้าร่วมประมูลต้องวางหลักประกัน 1,862 ล้านบาท และหากไม่ชำระค่าประมูล จะต้องชำระค่าปรับ 280 ล้านบาท ต่อใบอนุญาต โดยผู้ชนะการประมูลจะต้องขยายโครงข่ายให้ครอบคลุม 50% ในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC ภายใน 1 ปี และครอบคลุม 50% ของประชากรใน Smart city ภายใน 4 ปี

คลื่นสุดท้ายคือ คลื่น 26 GHz จำนวน 27 ชุด ชุดละ 100 MHz รวม 2700 MHz ราคาเริ่มต้น 423 ล้านบาท มีผู้สนใจประมูล 4 ราย ได้แก่ ทรูมูฟ เอช เอไอเอส ดีแทค และ ทีโอที มีผู้เสนอความต้องการคลื่นจำนวน 26 ชุดความถี่ ราคา 445 ล้านบาท รวมจำนวน 11,627 ล้านบาท ใช้เวลาเพียง 10 นาที

ผู้ชนะคือ เอไอเอส ได้ 12 ใบอนุญาต ราคาสุดท้าย 5,345 ล้านบาท, ทรูมูฟ เอช ได้ 8 ใบอนุญาต ราคาสุดท้าย 3,576 ล้านบาท, ทีโอที ได้ 4 ใบอนุญาต ราคาสุดท้าย 1,795 ล้านบาท และ ดีแทค ได้ 2 ใบอนุญาต ราคาสุดท้าย 910 ล้านบาท โดยคลื่น 26 GHz ชำระเงินงวดเดียวภายใน 1 ปีหลังจากการประมูล ผู้เข้าร่วมประมูลต้องวางหลักประกัน 507.6 ล้านบาท และหากไม่ชำระค่าประมูล จะต้องชำระค่าปรับ 64 ล้านบาทต่อใบอนุญาต

หลังจากนี้ กสทช.จะนำผลการประมูลเข้าที่ประชุมคณะกรรมการ กสทช.เพื่อรับรองผลภายในวันที่ 19 ก.พ. นี้ เพื่อให้ผู้ชนะสามารถรับใบอนุญาตได้ทันที และคาดว่าจะเริ่มลงทุนระบบภายในต้นเดือนมี.ค. ในการเดินหน้าเปิดให้บริการ 5G เชิงพาณิชย์ต่อไป

*** ’เอไอเอส’ กวาดคลื่น 5G มากที่สุด


ภายหลังการประมูล ‘เอไอเอส’ ขึ้นแท่นผู้ให้บริการที่ถือครองคลื่นความถี่ 5G อย่างเป็นทางการมากที่สุด ประกอบไปด้วย คลื่นความถี่ 700 MHz จำนวน 1 ชุด รวม 2x5 MHz เมื่อรวมกับคลื่นความถี่เดิมที่ได้รับการจัดสรร ในช่วงเดือน มิถุนายน 2562 จำนวน 2x10 MHz รวมมีคลื่นความถี่ 700 MHz จำนวนทั้งสิ้น 2x15 MHz ตามด้วยคลื่นความถี่ 2600 MHz จำนวน 10 ชุด รวม 100 MHz และ คลื่นความถี่ 26 GHz จำนวน 12 ชุด รวม 1200 MHz

นายสมชัย เลิศสุทธิวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ เอไอเอส กล่าววา เอไอเอสยังคงยืนหยัด รักษาตำแหน่งผู้นำอันดับ 1 ของอุตสาหกรรมที่ถือครองคลื่นความถี่ในการให้บริการ 4G และ 5G มากที่สุดในประเทศ รวมทั้งสิ้น 1450 MHz พร้อมประกาศเดินหน้าพัฒนาเครือข่าย 5G ที่ดีที่สุด ทั่วประเทศ เป็นรายแรก เพื่อคนไทย


*** 'ทรูมูฟ เอช' ผลักดัน 5G เพื่อคนไทย


นายอาณัติ เมฆไพบูลย์วัฒนา กรรมการผู้จัดการใหญ่ (ร่วม) ทรู คอร์ปอเรชั่น กล่าวว่า การชนะการประมูลคลื่นย่านความถี่เพื่อให้บริการ 5G ในครั้งนี้ ทำให้ทรูมีครบทั้งย่านความถี่ต่ำและย่านความถี่สูง โดยเฉพาะคลื่นความถี่ย่าน 2600 MHz ที่ชนะการประมูลครั้งนี้ นับเป็นคลื่นความถี่หลักที่จะสร้างความได้เปรียบในการให้บริการ 5G

เพราะนอกจากจะเป็นคลื่นความถี่ที่เหมาะสมกับการให้บริการ 5G มีอีโคซิสเตมส์ทั้งอุปกรณ์โครงข่าย สมาร์ทโฟนพร้อมรองรับในตลาดแล้วทั่วโลก ยังเป็นคลื่นความถี่ในย่านเดียวกันกับบริการ 5G ของไชน่าโมบายล์ ซึ่งเป็นพันธมิตรทางธุรกิจที่สำคัญของกลุ่มทรู ที่พร้อมสนับสนุนทั้งในด้านองค์ความรู้ ความชำนาญ และ Best Practice เพื่อเสริมศักยภาพและความแข็งแกร่งให้กลุ่มทรูสามารถเปิดให้บริการ 5G ได้เร็วที่สุด และสร้างสรรค์บริการได้หลากหลายรอบด้านมากที่สุด

สำหรับมูลค่าการประมูลคลื่น 5G ในครั้งนี้ เป็นไปตามที่บริษัทได้ประเมินไว้ ซึ่งได้ศึกษามาแล้วอย่างรอบคอบ พร้อมกับมีบริษัทที่ปรึกษาช่วยพิจารณาประเมินราคาที่เหมาะสมทางธุรกิจ ทำให้บริษัทได้ถือครองคลื่นความถี่ในย่านที่เหมาะสมและคุ้มค่าในการสร้างโอกาสทางธุรกิจ โดยทันทีที่บริษัทฯได้รับใบอนุญาตจากกสทช. จะสามารถนำคลื่นความถี่ที่ประมูลได้มาเพิ่มศักยภาพการให้บริการ 4G ในปัจจุบันได้ทันที

*** ’กสท’ นำคลื่นไปขยาย 4G รองรับลูกค้า

พ.อ.สรรพชัย หุวนันทน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ กสท โทรคมนาคม กล่าวว่า จะนำคลื่น 700 MHz ซึ่งเป็นคลื่นย่านความถี่ต่ำ ไปขยายเครือข่าย 4G ให้ครอบคลุมอย่างทั่วถึง เพิ่มความจุให้ลูกค้า โดยส่วนหนึ่งความจุที่เพิ่มขึ้นจะใช้รองรับบริการโทรศัพท์มือถือต่อเนื่องได้หลังจากใบอนุญาตใช้คลื่น 850 MHz สิ้นสุดลงในปี 2568

นอกจากจะรองรับลูกค้า my by CAT ในปัจจุบันได้แล้วยังสามารถเปิดให้ MVNO เช่าใช้ได้อีกด้วย ที่สำคัญคือการขยายพื้นที่ 700 MHz สามารถดำเนินการได้อย่างรวดเร็วจากเสาโทรคมนาคมที่มีอยู่เดิม 20,000 สถานี

*** ’ทีโอที’ หวังใช้ 5G เสริมบริการภาครัฐ

นายพิพัฒน์ ขันทอง กรรมการ และ รักษาการกรรมการผู้จัดการใหญ่ ทีโอที กล่าวว่า สำหรับการประมูลคลื่นความถี่เพื่อให้บริการ 5G ตามแผนธุรกิจของ ทีโอที จะสนับสนุนต่อภาพธุรกิจบริการและท่องเที่ยว และวิสาหกิจชุมชนดิจิทัล รวมทั้งการให้บริการ 5G ภาครัฐเพื่อเกิดบริการภาครัฐบนเครือข่าย 5G สร้างประโยชน์ให้กับประชาชนสามารถเข้าถึงบริการดีๆ ของสังคมให้บริการ 5G ตามนโยบายของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส)

*** ดีอีเอสปลื้มปริ่ม

นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รมว.กระทรวงดีอีเอส กล่าวว่า การเดินหน้าประมูลของ 2 รัฐวิสาหกิจ นับเป็นปรากฏการณ์แรกที่รัฐวิสาหกิจเข้าร่วมประมูล จำนวนเงินที่ทั้ง 2 บริษัท โดยเฉพาะ กสท โทรคมนาคม ที่ประมูลถึง 34,000 ล้านบาทนั้น ไม่ได้เป็นเงินที่มากเกินไป นับว่าทำได้ดี และ เป็นไปตายแผนของบอร์ด ซึ่งเขาได้วางแผนธุรกิจไว้แล้วว่าจะลงทุนต่อไปอย่างไร เบื้องต้น รัฐบาลไม่จำเป็นต้องสนับสนุนงบประมาณอะไรเพิ่มเติม เพราะบริษัทได้เตรียมแผนการลงทุนไว้รองรับแล้ว

***สรุปสถานการณ์ถือครองคลื่นความถี่ในไทย

ภายหลังจากการประมูลคลื่นความถี่ 5G ทำให้ปัจจุบัน เอไอเอส กลายเป็นผู้ให้บริการที่ถือครองคลื่นความถี่มากที่สุด 1450 MHz แบ่งเป็นจากคลื่น 700 MHz ที่รวมกับการจัดสรรก่อนหน้านี้ 30 MHz 900 MHz จำนวน 20 MHz 1800 MHz จำนวน 40 MHz 2100 MHz จากใบอนุญาต 30 MHz และจาก MVNO ของทีโอที 30 MHz ตามด้วยคลื่น 2600 MHz จำนวน 100 MHz และ 26 GHz จำนวน 1200 MHz

ส่วนกลุ่มทรู ถือครองคลื่นความถี่ทั้งหมด 1020 MHz แบ่งเป็น 700 MHz จำนวน 20 MHz MVNO กับทาง กสท บนคลื่น 850 MHz จำนวน 30 MHz 900 MHz จำนวน 20 MHz 1800 MHz จำนวน 30 MHz 2100 MHz จำนวน 30 MHz รวมกับคลื่น 2600 จำนวน 90 MHz และ 26 GHz อีก 800 MHz

ขณะที่ทางดีแทค ถือครองคลื่นความถี่ 330 MHz แบ่งเป็นคลื่น 700 MHz ที่ได้รับการจัดสรรก่อนหน้านี้ 20 MHz 900 MHz จำนวน 10 MHz 1800 จำนวน 10 MHz 2100 MHz จำนวน 30 MHz พร้อมกับคลื่น 2300 MHz ที่ทำสัญญาพันธมิตรกับทางทีโอที 60 MHz และ 26 GHz จากการประมูลครั้งนี้ 200 MHz

สำหรับทางทีโอที มีคลื่นความถี่ทั้งหมด 490 MHz แบ่งเป็นคลื่น 2100 MHz จำนวน 30 MHz และ 2300 MHz จำนวน 60 MHz และคลื่น 26 GHz จำนวน 400 MHz สุดท้าย กสท โทรคมนาคม ถือครองคลื่น 50 MHz แบ่งเป็นคลื่น 700 MHz จำนวน 20 MHz 850 MHz จำนวน 30 MHz


กำลังโหลดความคิดเห็น