xs
xsm
sm
md
lg

5โอเปอเรเตอร์ประมูล5Gชื่นมื่น เงินเข้ารัฐแสนล้าน

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กสทช. จัดงานประมูลคลื่นความถี่ 5G ทำรายได้ให้รัฐรวม 100,521 ล้านบาท จาก 3 คลื่นความถี่ 700 MHz 2600 MHzและ 26 GHz โดยประมูลออกทั้งหมด 48 ใบอนุญาต จากทั้งหมด 49 ใบอนุญาต หลังจากนี้ กสทช.จะนำผลการประมูลเข้าประชุมบอร์ด เพื่อรับรองผลภายในวันที่ 19 ก.พ.นี้ เพื่อให้โอเปอเรเตอร์เริ่มลงทุนในช่วงต้นเดือนมี.ค.

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวว่า การประมูลคลื่น 5G จำนวน 3 คลื่นความถี่ จำนวน 49 ใบอนุญาตได้แก่ คลื่นความถี่ ย่าน 700, 2600 MHzและ 26 GHz

ทั้งนี้ มีผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ (โอเปอเรเตอร์) เข้าร่วมประมูล ได้แก่ 1. บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด (เอดับบลิวเอ็น) ในเครือบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ เอไอเอส, 2. บริษัท ทรู มูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด (ทียูซี) ในเครือบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน), 3. บริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด (ดีทีเอ็น) ในเครือบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค, 4. บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) และ 5. บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน)

ส่วนผลการประมูลคลื่นความถี่ 700 MHz มีคลื่น 3 ชุดๆละ 2x5 MHz รวม 2x15 MHz ราคาเริ่มต้น 8,792 ล้านบาท จบลงในรอบที่ 20 รวม 3 ชุดคลื่นความถี่ เป็นเงิน 51,460 ล้านบาท ผู้ชนะ คือ กสท โทรคมนาคม ได้ 2 ใบอนุญาต ราคาสุดท้าย คือ 34,306 ล้านบาท ตามด้วย เอไอเอส ได้ 1 ใบอนุญาต ราคาสุดท้าย 17,154 ล้านบาท

ส่วนการประมูลคลื่นความถี่ย่าน 2600 MHz มีคลื่นจำนวน 19 ชุด ชุดละ 10 MHz รวม 190 MHz ราคาเริ่มต้น 1,862 ล้านบาท จบลงในรอบที่ 2 ใช้เวลาเพียงครึ่งชั่วโมง รวมมูลค่า 37,433 ล้านบาท ผู้ชนะคือ เอไอเอส ได้ 10 ใบอนุญาต ราคาสุดท้าย 19,561 ล้านบาท , ทรูมูฟ เอช ได้ 9 ใบอนุญาต ราคาสุดท้าย 17,872 ล้านบาท

ทั้งนี้ เงื่อนไขของการชนะประมูลคลื่น 2600 MHz ผู้ชนะการประมูลจะต้องขยายโครงข่ายให้ครอบคลุม 50% ในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ EECภายใน 1 ปี และครอบคลุม 50% ของประชากรใน Smart cityภายใน 4 ปี

สุดท้ายคือ คลื่น 26 GHz จำนวน 27 ชุด ชุดละ 100 MHz รวม 2700 MHz ราคาเริ่มต้น 423 ล้านบาท มีผู้เสนอความต้องการคลื่นจำนวน 26 ชุดความถี่ ราคา 445 ล้านบาท รวมจำนวน 11,627 ล้านบาท ใช้เวลาเพียง 10 นาที

ผู้ที่ได้รับใบอนุญาตมากที่สุดคือ เอไอเอส 12 ใบอนุญาต ราคาสุดท้าย 5,345 ล้านบาท , ทรูมูฟ เอช ได้ 8 ใบอนุญาต ราคาสุดท้าย 3,576 ล้านบาท, ทีโอที ได้ 4 ใบอนุญาต ราคาสุดท้าย 1,795 ล้านบาท และ ดีแทค ได้ 2 ใบอนุญาต ราคาสุดท้าย 910 ล้านบาท

สรุปสถานการณ์ถือครองคลื่นความถี่ในไทย

ภายหลังจากการประมูลคลื่นความถี่ 5G ทำให้ปัจจุบัน เอไอเอส กลายเป็นผู้ให้บริการที่ถือครองคลื่นความถี่มากที่สุด 1450 MHz แบ่งเป็นจากคลื่น 700 MHz ที่รวมกับการจัดสรรก่อนหน้านี้ 30 MHz 900 MHz จำนวน 20 MHz 1800 MHz จำนวน 40 MHz 2100 MHz จากใบอนุญาต 30 MHz และจาก MVNO ของทีโอที 30 MHz ตามด้วยคลื่น 2600 MHz จำนวน 100 MHz และ 26 GHz จำนวน 1200 MHz

ส่วนกลุ่มทรู ถือครองคลื่นความถี่ทั้งหมด 1020 MHz แบ่งเป็น 700 MHz จำนวน 20 MHz MVNO กับทาง กสท บนคลื่น 850 MHz จำนวน 30 MHz 900 MHz จำนวน 20 MHz 1800 MHz จำนวน 30 MHz 2100 MHz จำนวน 30 MHz รวมกับคลื่น 2600 จำนวน 90 MHz และ 26 GHz อีก 800 MHz

ขณะที่ทางดีแทค ถือครองคลื่นความถี่ 330 MHz แบ่งเป็นคลื่น 700 MHz ที่ได้รับการจัดสรรก่อนหน้านี้ 20 MHz 900 MHz จำนวน 10 MHz 1800 จำนวน 10 MHz พร้อมกับคลื่น 2300 MHz ที่ทำสัญญาพันธมิตรกับทางทีโอที 60 MHz และ 26 GHz จากการประมูลครั้งนี้ 200 MHz

สำหรับทางทีโอที มีคลื่นความถี่ทั้งหมด 490 MHz แบ่งเป็นคลื่น 2100 MHz จำนวน 30 MHz และ 2300 MHz จำนวน 60 MHz และคลื่น 26 GHz จำนวน 400 MHz สุดท้าย กสท โทรคมนาคม ถือครองคลื่น 50 MHz แบ่งเป็นคลื่น 700 MHz จำนวน 20 MHz 850 MHz จำนวน 30 MHz
กำลังโหลดความคิดเห็น