xs
xsm
sm
md
lg

ADVANC-DTAC-TRUE แห่ชิงคลื่น 2600MHz

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



โบรกเกอร์ ประเมินคลื่น 5G หลังกสทช.เปิดประมูล ชี้ 2600MHz เนื้อหอมที่สุดสุด เหตุเป็นคลื่นที่ดี เชื่อ 3 เจ้าใหญ่ ADVANC-DTAC-TRUE แข่งขันเดือดแน่ ส่วน 700MHz มองTOT-CAT น่าจะได้ไป ขณะที่คลื่น 1800MHz ที่เหลือจาก 4G ไร้คนสนใจ ส่วนหุ้นในกลุ่มเลือก ADVANC-DTAC

บทวิจัย บล.หยวนต้า เปิดเผยถึงการเปิดยื่นซองประมูล 5G เมื่อวานนี้ ( 4ก.พ.) ของ กสทช.ว่า ผู้ประกอบการทั้ง 5 ราย ADVANC-DTAC-TRUE-TOT-CAT มาขอรับซองกันครบ ซึ่ง กสทช. เตรียมประกาศผู้ผ่านคุณสมบัติวันที่ 12 ก.พ. 63 ก่อนเปิดประมูลวันที่ 16 ก.พ. 63 ซึ่งเบื้องต้น กสทช. ยังไม่ได้เปิดเผยว่าผู้ประกอบการรายใดจะเข้ายื่นคลื่นย่านความถี่ไหน

อย่างไรก็ดี ความเห็นล่าสุดของกสทช. บ่งชี้ความสนใจในคลื่น 700MHz และคลื่น 2600MHz และคาดรัฐได้รายได้รวม 7 หมื่นล้านบาท ซึ่งใกล้เคียงกับประมาณการ ขณะที่สมมติฐานเบื้องต้นของหยวนต้าให้ ADVANC ต้องลงทุน 3.2 หมื่นล้านบาท TRUE 1.8 หมื่นล้านบาท และ DTAC 1.5 หมื่นล้านบาท กรณีฐาน การประมูลวันที่ 16 ก.พ. 2563 คาด ADVANC - DTAC และ TRUE แบ่งคลื่น 2600MHz ตามส่วนแบ่งการตลาด และราคาประมูลไม่เกิน 1.7x ของราคาตั้งต้น กรณีที่อาจต้องระมัดระวัง คือ ผลประมูลทำให้สมดุลตลาดเปลี่ยนแปลงไป ซึ่งมีโอกาสเกิดขึ้นต่ำ ประเมินราคาหุ้นในกลุ่มปรับตัวมารับความเสี่ยงการประมูลไปมากแล้ว เราเลือก ADVANC (TP 252.00 THB) อิงสมมติฐานลงทุนประมูล 3.2 หมื่นล้านบาท และเลือก DTAC (TP 61.00) อิงสมมติฐานลงทุนประมูลคลื่น 1.5 หมื่นล้านบาท เป็นหุ้นเด่นของกลุ่ม (อ่านเพิ่มบทวิเคราะห์วันที่ 31 ม.ค.63)

คลื่นไหนเนื้อหอมที่สุด

ทั้งนี้ บล.หยวนต้า ประเมินถึง คลื่นที่เปิดประมูลทั้ง 4 คลื่น โดยวิเคราะห์ว่าคลื่นไหนจะได้รับความสนใจมากสุด และคลื่นไหนอาจจะไม่ได้รับความสนใจเลย ดังนี้

คลื่น 2600MHz

คลื่น 2600MHz เป็นคลื่นที่เหมาะสำหรับทำ 5G คือคลื่น High band เช่น 2600MHz และ 3500MHz ดังนั้น highlight ของการประมูลคลื่นรอบนี้จึงอยู่ที่คลื่น 2600MHz ซึ่งเปิดประมูลทั้งหมด 19 ใบ รวมปริมาณทั้งหมด 190MHz โดยผู้เล่นหนึ่งรายมีสิทธิประมูลได้สูงสุดไม่เกิน 10 ใบ หรือ 100MHz หากอิงความเห็นจาก GSMA การใช้งาน 5G อย่างมีประสิทธิภาพต้องใช้คลื่น 2600MHz ราว 80MHz และคลื่น 26GHz ราว 100MHz ดังนั้นหากอยากได้ 5G ตามมาตรฐานโลก ผู้ประกอบการจะต้องเข้าประมูลคลื่น 2600MHz จำนวน 8 ใบ และคลื่น 26GHz จำนวน 1 ใบ หรือเท่ากับลงทุนราว 1.5 หมื่นล้านบาท หากประมูลที่ราคาตั้งต้น อย่างไรก็ดี มูลค่าเงินลงทุนอาจสูงขึ้นไปอีก หากมีการแข่งขันด้านราคาในการประมูลทำให้ราคาตั้งต้นสูงขึ้นไปอีก

คลื่น 700MHz

ผู้ประกอบการทุกราย (ADVANC, DTAC, TRUE) มีคลื่นแล้วในมือคนละ 10MHz หลังเพิ่งรับคลื่น 700MHz ในช่วงกลางปี 2562 เพื่อแลกกับการได้ยืดจ่ายหนี้ 900MHz ที่ครบกำหนดปี 2563 เป็นสิ้นสุดปี 2568 โดยคลื่นมีอายุใช้งาน 15 ปี เริ่มใช้งานในเดือนต.ค. 63 ปัญหารบกวนจากสัญญาณไมโครโฟนที่ยังแก้ไขไม่ได้
ปัญหาดังกล่าวอาจทำให้ กสทช. เลื่อนการใช้งานออกไปอีก 2-3 เดือน ดังนั้นโอกาสต่ำที่ operators จะเข้าประมูลคลื่น 700MHz เพิ่มอีกในรอบนี้ เนื่องจากมีอยู่แล้วและคลื่นยังติดปัญหาพอสมควร นอกจากนี้การประมูลคลื่นรอบนี้ไม่มี Incentive การได้ยืดเทอมการจ่ายเงินคลื่นอื่นๆให้แล้ว แต่ราคาตั้งต้นเท่าเดิม ใครได้ไปถือว่าเสียเปรียบ

อย่างไรก็ดี CAT และ TOT อาจมีโอกาสเลือกเอาคลื่น 700MHz โดยเฉพาะ CAT เพราะมีโครงสร้างคล้ายคลื่น 850Mz ที่ให้ TRUE เช่าใช้งานภายใต้สัญญา Wholesale-resale agreement อยู่ ซึ่งจะหมดอายุในปี 2568 นอกจากนี้ CAT และ TOT เป็นรัฐวิสาหกิจที่ดำเนินการเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในด้านโทรคมนาคมของประเทศ ดังนั้นการมีคลื่นสั้นเพื่อให้บริการในพื้นที่ห่างไกลเป็นสิ่งจำเป็น

คลื่น 1800MHz

คลื่น 1800MHz ส่วนนี้เป็นส่วนที่เหลือมาจากการประมูลรอบก่อนๆ ซึ่ง ADVANC, DTAC, และ TRUE เลือกไม่ประมูล เนื่องจากราคาตั้งต้นยังสูงเหมือนในอดีตและคลื่น 1800MHz ไม่เหมาะที่จะทำ 5G และหากพิจารณาว่าขนาดรอบการลงทุน 4G operators ยังไม่ยอมประมูลที่ราคาตั้งต้นสูงขนาดนี้ ทำให้มีโอกาสต่ำมากๆ ที่จะมีรายใดเข้าประมูลในรอบนี้

คลื่น 26GHz

คลื่น 26GHz เป็นคลื่นที่ใหม่ต่อตลาด เนื่องจาก operators ยังไม่เคยมีประสบการณ์ในการใช้งานคลื่นที่มีความถี่สูงถึงย่านนี้ทำให้มีข้อจำกัดในการตัดสินใจ สำหรับบริการในอนาคต คลื่น 26GHz อาจมีความจำเป็นสาหรับบริการที่ต้องการความรวดเร็วสูงและ latency ต่ำมาก แต่จะไม่ใช่ระดับ mass scale อย่างไรก็ดีราคาคลื่นที่ถูก ทำให้ operators อาจประมูลบ้างเพื่อต้องใช้งานในอนาคตให้ได้มาตรฐาน 5G โลก หรือเพื่อไว้สำหรับบริการดังกล่าวในอนาคต

บล.หยวนต้า เชื่อว่า Operators จะพิจารณาโอกาสประมูลคลื่นอื่นๆในอนาคต ประกอบการตัดสินใจเข้าประมูลด้วย คลื่นสำคัญที่เหมาะสมสำหรับทำ 5G มากกว่าคลื่น 2600MHz ซึ่งเป็นคลื่นลูกผสมระหว่าง 4G-5G ได้แก่ คลื่น 3500MHz ซึ่งเหมาะสมที่จะทำ 5G มากกว่าบนมาตรฐานโลกคลื่นในช่วง 3500MHz ถูกใช้งานภายใต้สัมปทานของ THCOM ซึ่งจะหมดลงในเดือน ก.ย.ปี 2564 บนปริมาณคลื่นมากถึง 300MHz

ขณะที่ กสทช. ส่งสัญญาณชัดเจนอยากนำคลื่นดังกล่าวมาประมูลก่อนหมดสัมปทาน ดังนั้นผู้ประกอบการที่พลาดการประมูลรอบนี้ ก็ยังมีโอกาสประมูลคลื่น 3500MHz ในระยะถัดไป แต่ต้องไปเสี่ยงกับราคาตั้งต้นที่อาจไม่ต่ำเหมือนรอบนี้ก็เป็นได้ และ timeline การประมูลคลื่นของประเทศไทยที่มีความไม่แน่นอนสูง


กำลังโหลดความคิดเห็น