xs
xsm
sm
md
lg

“ฐากร” ชี้ ประมูล 5G คลื่น 2600 MHz ดุเดือด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“ฐากร” เผย ประมูล 5G คลื่น 2600 MHz มีเอกชนสนใจทุกราย แต่คลื่นมีจำกัดหากจะทำ 5G ได้ทันทีให้มีประสิทธิภาพต้องมีอย่างน้อย 60 MHz คาดมีผู้ได้ใบอนุญาตเพียง 2-3 รายเท่านั้น อาจมีการเคาะราคาดุเดือดเพื่อไล่คนที่ไม่ใช่ออกจากวงประมูล

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และ กิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวว่า ภายหลังที่ 5 บริษัท ได้ยื่นเอกสารการประมูล 5G ในวันนี้ (4 ก.พ. 2563) ได้แก่ บริษัท ทรูมูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด, บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน), บริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด, บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) และ บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด (เอดับบลิวเอ็น)

หลังจากเวลา 16.30 น. จะเข้าสู่ช่วงเวลา silent period ซึ่งในวันที่ 5 ก.พ. 2563 พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี จะเดินทางมาประชุมเรื่อง 5G ที่กสทช. คนที่เป็นกรรมการบริษัทของ 2 รัฐวิสาหกิจ คือ ทีโอที และ กสทฯ ห้ามเข้ามาร่วมประชุมด้วย เพราะจะมีโอกาสได้เปรียบ เสียเปรียบ จากนั้นจะตรวจสอบเอกสารพร้อมนำชื่อผู้ผ่านคุณสมบัติการประมูลให้ที่ประชุมคณะกรรมการกสทช.ในวันที่ 12 ก.พ. 2563 ลงมติและจะประกาศผู้ผ่านคุณสมบัติทันทีในวันเดียวกัน

สำหรับคลื่น 700 MHz คาดว่าจะประมูลได้หมดทั้ง 3 ใบอนุญาต ๆ ละ 2x5 MHz ราคาเริ่มต้น 8,792 ล้านบาท เคาะราคาครั้งละ 440 ล้านบาท การชำระเงินแบ่งเป็น 10 งวด งวดละ 10% โดยผู้เข้าร่วมประมูลต้องวางหลักประกัน 2,637.6 ล้านบาท และหากไม่ชำระค่าประมูล จะต้องชำระค่าปรับ 1,319 ล้านบาทต่อใบอนุญาต

คลื่น 2600 MHz คาดว่าจะมีการแข่งขันดุเดือดทุกค่ายต่างสนใจ แต่จะมีเพียง 2 หรือ 3 รายเท่านั้น ที่จะได้ใบอนุญาต เนื่องจากประสิทธิภาพในการทำ 5G ได้ทันทีต้องมีคลื่นนี้ 60 MHz ขึ้นไป จึงน่าจะมีคนได้ใบอนุญาต 2 แบบ คือ ชนะ 2 ราย คือประมูลได้ 10 ใบอนุญาต กับ 9 ใบอนุญาต หรือ ชนะ 3 ราย คือ ได้ใบอนุญาต 6,6 และ 7 ใบอนุญาต งานนี้ต้องมีการประมูลเพื่อไล่คู่แข่งออกไปให้เหลือเพียงเท่านี้ จับตาว่าอาจมีการประมูลข้ามวันก็เป็นไปได้

ทั้งนี้ คลื่น 2600 MHz ใบอนุญาตละ 10 MHz ราคาเริ่มต้น 1,862 ล้านบาท เคาะราคาครั้งละ 93 ล้านบาท การชำระเงินแบ่งเป็น 7 งวด งวดที่ 1 จำนวน 10% ของราคาที่ชนะการประมูล งวดที่ 2-7 (ปีที่5-10) งวดละ 15% ของราคาที่ชนะการประมูล โดยผู้เข้าร่วมประมูลต้องวางหลักประกัน 1,862 ล้านบาท และหากไม่ชำระค่าประมูล จะต้องชำระค่าปรับ 280 ล้านบาท ต่อใบอนุญาต โดยผู้ชนะการประมูลจะต้องขยายโครงข่ายให้ครอบคลุม 50% ในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC ภายใน 1ปี และครอบคลุม 50% ของประชากรใน Smart city ภายใน 4 ปี

ส่วนคลื่น 26 GHz คาดว่าทุกรายสนใจหมดเพราะต้องมีเผื่อเอาไว้ก่อนให้อุ่นใจ น่าจะประมูลได้มากกว่า 4-5 ใบอนุญาติ จากที่เปิดประมูล จำนวน 27 ใบอนุญาต ๆ ละ 100 MHz ราคาเริ่มต้น 423 ล้านบาท เคาะราคาครั้งละ 22 ล้านบาท การชำระเงินงวดเดียวภายใน 1 ปีหลังจากการประมูล โดยผู้เข้าร่วมประมูลต้องวางหลักประกัน 507.6 ล้านบาท และหากไม่ชำระค่าประมูล จะต้องชำระค่าปรับ 64 ล้านบาทต่อใบอนุญาต

นายฐากร กล่าวว่า การที่คลื่น 1800 MHz จำนวน 7 ใบอนุญาต ใบอนุญาตละ 2x5 MHz ราคาเริ่มต้น 12,486 ล้านบาท นั้น ราคาสูงเกินไป กสทช.จะกลับนำไปคิดอีกครั้งหนึ่งถึงการประมูลครั้งต่อไป โดยคลื่นนี้เคาะราคาครั้งละ 25 ล้านบาท การชำระเงินแบ่งเป็น 3 งวด งวดที่ 1 จำนวน 50% ของราคาที่ชนะการประมูล งวดที่ 2 และ 3 จำนวนงวดละ 25% ของราคาที่ชนะการประมูล โดยผู้เข้าร่วมประมูลต้องวางหลักประกัน 4,994.4 ล้านบาท และหากไม่ชำระค่าประมูล จะต้องชำระค่าปรับ 1,873 ล้านบาท ต่อใบอนุญาตโดยผู้ชนะการประมูลจะต้องขยายโครงข่ายให้ครอบคลุม 40% ของประชากร ภายใน 4 ปี และครอบคลุม 50% ของประชากรภายใน 8 ปี

“ตอนนี้เราต้องเปิด 5G ให้เร็วที่สุด แม้ว่าเงื่อนไขจะบอกให้มารับใบอนุญาตภายใน 90 วัน ก็ตาม แต่เอกชนก็ต้องการได้ใบอนุญาตทันที เราน่าจะเปิดใช้งาน 5G ได้ก่อนเดือน ก.ค. 2563 แน่นอน ต้องเปิดก่อนโอลิมปิก คาดว่าปีนี้จะมีการลงทุนโครงข่ายทั้งระบบอยู่ที่ 1.3 แสนล้านบาท ปี 2564 จะมีการลงทุน 2 แสนล้านบาท กสทช.จะเร่งให้เอกชนสามารถติดตั้ง 5G บนเสาเดิมที่มีอยู่ทั้งระบบ 1.33 แสนสถานีฐานได้ทันที โดยไม่ต้องผ่านเวทีประชาพิจารณ์”

ทั้งนี้ นายฐากร คาดว่ารวมๆ แล้วในการประมูลในครั้งนี้จะประมูลได้ 30 ใบ คิดเป็นเงินประมูลกว่า 70,000 ล้านบาท



กำลังโหลดความคิดเห็น