"คลัง" แจงข้อเท็จจริง ศก. ปี 63 การส่งออก การท่องเที่ยว การบริโภคของประชาชน และการลงทุนภาคเอกชนมีแนวโน้มดีขึ้น ขณะที่ ททท. ชี้ เชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่จะกระทบต่อจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวไทย โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวชาวจีนในเดือน ม.ค.-เม.ย.63 โดยอิงจากข้อมูลสำนักงาน ททท. ในจีน 5 แห่ง ประเมินจะกระทบรายได้จากการท่องเที่ยว 9.5 หมื่นล้านบาท ส่วนสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ในไตรมาส 3 ปี 62 จะอยู่ที่ 13.24 ล้านล้านบาท คิดเป็น 79.1% ต่อ GDP โดยหนี้ส่วนใหญ่เป็นหนี้ที่มีสินทรัพย์เป็นหลักประกัน เช่น ที่อยู่อาศัย และรถยนต์ จึงมีความเสี่ยงต่ำ
กระทรวงการคลัง ได้ชี้แจงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับข้อวิจารณ์เกี่ยวกับเศรษฐกิจประเทศไทยในปี 63 โดยเฉพาะในด้านการส่งออก การท่องเที่ยว การบริโภคของประชาชน และการลงทุนภาคเอกชน โดยระบุว่า การส่งออกล่าสุดในเดือน ธ.ค.62 เริ่มเห็นแนวโน้มที่ดีขึ้น โดยมูลค่าการส่งออกในเดือน ธ.ค.62 หดตัวชะลอลงมาอยู่ที่ -1.3% จากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวสูง -7.3% หรือคิดเป็นการขยายตัวหลังปรับฤดูกาลที่ 3.9%
นอกจากนั้น เมื่อหักทองคำและสินค้าที่เกียวข้องกับน้ำมัน พบว่า มูลค่าการส่งออกในเดือน ธ.ค.62 กลับมาขยายตัวที่ 1.2% โดยสินค้าที่ขยายตัวสูงได้แก่หมวดอุตสาหกรรมเกษตร และอิเล็กทรอนิกส์ที่ขยายตัวได้ 9.1% และ 6% ตามลำดับ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงทิศทางการส่งออกสินค้าของไทยในปี 63 ที่ดีขึ้น ประกอบกับการเจรจาทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน มีความคืบหน้าเป็นอย่างดี โดยล่าสุด ได้มีการลงนามในข้อตกลงการค้าเฟสแรกแล้ว เมื่อวันที่ 15 ม.ค.63 ซึ่งจะช่วยลดปัจจัยความไม่แน่นอนที่ส่งผลกระทบต่อการเติบโตของเศรษฐกิจโลก และสนับสนุนภาคการส่งออกของไทยในปี 2563
ขณะเดียวกัน ภาคการท่องเที่ยวของไทยต้องเผชิญต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ ซึ่งคาดว่าจะส่งผลกระทบต่อจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทย โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวชาวจีน และเมื่ออ้างอิงจากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ได้ประเมินสถานการณ์ท่องเที่ยวจีนในเดือน ม.ค.-เม.ย.63 โดยสำนักงาน ททท. ในจีน 5 แห่ง ประเมินว่ากระทบรายได้จากการท่องเที่ยว 95,000 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมารัฐบาลได้ออกมาตรการด้านต่างๆ เพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยว และเพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวต่างประเทศอยู่แล้ว เช่น มาตรการ VOA หรือ Visa On Arrival และการนำระบบเทคโนโลยีบล็อกเชน (Blockchain) มาใช้ให้บริการคืนภาษีมูลค่าเพิ่มให้นักท่องเที่ยวผ่าน Mobile Application ที่แรกของโลก หรือที่เรียกว่า Thailand VRT นอกจากนั้น ในปี 63 ก็ยังมีการจัด Event ใหญ่ๆ ที่ไทยเป็นเจ้าภาพ อย่างการแข่งขันรถจักรยานยนต์ทางเรียบชิงแชมป์โลก หรือศึกโมโตจีพี 2020 สนาม 2 ซึ่งในปีที่ผ่านมีจำนวนยอดผู้เข้าชมรวมทั้งสิ้นถึง 226,655 คน
ยิ่งไปกว่านั้นกระทรวงการคลังยังติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และเพื่อรับมือกับสถานการณ์ โดยจะได้มีมาตรการต่างๆ เพื่อรองรับผลกระทบดังกล่าวต่อไป ทั้งนี้ กระทรวงการคลังประเมินว่า กรณีสถานการณ์การระบาดของโรคไม่ยืดเยื้อ กล่าวคือ สถานการณ์คลี่คลายภายใน 4 เดือน จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศโดยรวมจะค่อยๆ ปรับตัวสูงขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี 63 และทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศทั้งปี 63 สามารถขยายตัวได้
ส่วนการบริโภคภาคเอกชนมีแนวโน้มที่ดีขึ้นเช่นกัน สะท้อนได้จากภาษีมูลค่าเพิ่มที่จัดเก็บจากการบริโภคภายในประเทศ (ณ ราคาคงที่) ในเดือน ธ.ค.62 ที่ขยายตัว 4.9% ขยายตัวต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวที่ 3.7% ส่วนหนึ่งได้รับอานิสงส์จากมาตรการชิมช้อปใช้ที่รัฐบาลได้เริ่มดำเนินการในวันที่ 27 ก.ย.62 ถึงวันที่ 31 ม.ค.63 ที่ผ่านมา
ขณะที่เมื่อพิจารณารายได้เกษตรกรที่แท้จริง พบว่า ยังอยู่ในเกณฑ์ดี โดยรายได้เกษตรกรที่แท้จริงในเดือน ธ.ค.62 ขยายตัวที่ 1.5 ต่อปี หมวดที่ขยายตัวสูงได้แก่ หมวดไม้ผล หมวดประมง และปาล์มน้ำมัน สำหรับสถานการณ์หนี้ครัวเรือนล่าสุด พบว่า สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ค่อนข้างทรงตัว จากข้อมูลย้อนหลังตั้งแต่ปี 51 พบว่า สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP เคยแตะระดับสูงสุดที่ 81.2% เมื่อปี 58 และค่อยๆ ปรับตัวลดลงมาอย่างต่อเนื่อง และล่าสุดสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ในไตรมาส 3 ปี 62 อยู่ที่ 13.24 ล้านล้านบาท คิดเป็น 79.1% ต่อ GDP โดยหนี้ส่วนใหญ่เป็นหนี้ที่มีสินทรัพย์เป็นหลักประกัน เช่น ที่อยู่อาศัย และรถยนต์ จึงมีความเสี่ยงต่ำ ซึ่งหากมองว่าหนี้เหล่านี้เป็นไปเพื่อการสะสมความมั่งคั่งในรูปสินทรัพย์และเพื่อการลงทุนทำธุรกิจหารายได้แล้ว ก็จะส่งผลดีต่อความมั่นคงทางทรัพย์สินและรายได้ของครัวเรือนด้วย
สำหรับการลงทุนภาคเอกชนที่ชะลอตัวลงเป็นผลมาจากความไม่แน่นอนจากปัจจัยภายนอกประเทศที่เกิดจากกรณีข้อพิพาททางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน ส่งผลให้เศรษฐกิจโลกชะลอตัว และส่งผลกระทบต่อเนื่องมายังเศรษฐกิจไทยผ่านการส่งออกและการผลิตสินค้า ด้วยเหตุนี้ คณะรัฐมนตรีจึงได้มีมติเมื่อวันที่ 28 ม.ค.63 เห็นชอบมาตรการการเงินการคลังเพื่อสนับสนุนการลงทุนในประเทศ ปี 63 ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ เพื่อส่งเสริมการลงทุนภายในประเทศ และสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ซึ่งคาดว่าจะก่อให้เกิดการลงทุนใหม่เพิ่มขึ้น 110,000 ล้านบาท รวมถึงเป็นการเพิ่มศักยภาพในการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจไทยในระยะยาวต่อไป
โดยมีสาระสำคัญมาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการลงทุนในประเทศ ให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลหักรายจ่ายเพื่อการลงทุนในเครื่องจักรได้ 250% หรือ 2.5 เท่า ของรายจ่ายตามจำนวนที่จ่ายจริง และมาตรการยกเว้นอากรขาเข้าเครื่องจักร ซึ่งปัจจุบันเครื่องจักรส่วนใหญ่ได้รับการยกเว้นอากรขาเข้าอยู่แล้ว มาตรการยกเว้นอากรขาเข้าในครั้งนี้จะยกเว้นอากรขาเข้าเครื่องจักรส่วนที่เหลืออีก 146 รายการ โดยของที่ได้รับยกเว้นอากรต้องเป็นของที่ไม่เคยผ่านการใช้งานมาก่อน
นอกจากนี้ ยังมีมาตรการสินเชื่อเพื่อการลงทุนและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต สินเชื่อดอกเบี้ยพิเศษจากธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (ธสน.) สำหรับผู้ประกอบการที่ต้องการปรับปรุงเครื่องจักรใหม่ หรือซื้อเครื่องจักรใหม่เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต ในอัตราดอกเบี้ยพิเศษ คงที่ปีที่ 1-2 ที่ 2% และปีที่ 3-5 ที่ 4% วงเงินกู้สูงสุดต่อราย 100 ล้านบาท ภายใต้วงเงิน 5,000 ล้านบาท ตั้งแต่วันนี้ถึง 31 ธ.ค.63