xs
xsm
sm
md
lg

ครม.ไฟเขียว 3 มาตรการ กระตุ้นลงทุน 1 แสนล.บาท

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

ผู้จัดการรายวัน 360 - คลังเตรียมเข็นมาตรการ "ชิมช้อปใช้ เฟส4" กระตุ้นเศรษฐกิจใน ก.พ. 63 หลังประเมินการระบาดไวรัสโคโรนาฉุดจีดีพีปีนี้หลุดเป้า ครม. อนุมัติ 3 มาตรการเพื่อสนับสนุนการลงทุนในประเทศ หวังกระตุ้นการลงทุนได้กว่า 1.1 แสนล้านบาท

นายอุตตม สาวนายน รมว.การคลัง กล่าวว่า การระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนามีผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยอย่างหลีกเลี่ยงไมได้ ทำให้ภาคการท่องเที่ยวของไทยชะลอตัวลงตามไปด้วย ขณะที่การใช้จ่ายในประเทศก็ได้รับผลกระทบไปด้วย ดังนั้นกระทรวงการคลังได้มอบหมายให้สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กรมสรรพากร และกรมบัญชีกลาง เร่งพิจารณาออกมาตรการกระตุ้นการใช้จ่าย และการบริโภคภายในประเทศเพิ่มเติม ซึ่งจะต้องเสร็จและสามารถดำเนินการได้ภายในเดือน ก.พ. 2563

มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจใหม่ ประกอบด้วย ชิมช้อปใช้ เฟส 4 จะเปิดให้ลงทะเบียนทั้งรายเก่าและรายใหม่ ปรับปรุงวิธีการให้ดีขึ้น ส่วนจะแจกเงินหรือใหม่อยู่ระหว่างพิจารณา โดยมาตรการจะเหมาะสมและสอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจของไทยในปัจจุบัน

โดยจะมีการประเมินผลมาตราการชิมช้อปใช้ เฟส 3 วันที่ 31 ม.ค. โดยปัจจุบันมีผู้ได้รับสิทธิ์ 12.6 ล้านคน ร้านค้าที่เข้าร่วม จำนวน 1.7 แสนร้านค้า มีผู้ใช้จ่ายผ่านกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ช่องที่ 1 วงเงิน 1.1 หมื่นล้านบาท และช่องที่ 2 วงเงิน 1.7 หมื่นล้านบาท

สศค. ยังคิดมาตรการเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว ให้คนไทยเที่ยวเมืองไทย และนำค่าใช้จ่ายมาหักลดหย่อนภาษีได้ ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณากับกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา จะมีมาตรการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวให้ดีขึ้น โดยจะให้สถาบันการเงินปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำให้กับผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว รวมถึงอาจจะให้ผู้ประกอบการนำค่าใช้จ่ายในส่วนนี้มาหักลดหย่อนภาษีได้มากกว่า 1 เท่า

"มาตรการกระตุ้นการบริโภค เป็นมาตรการใหม่ เบื้องต้นสามารถนำเงินจากงบกลางปี 2563 มาใช้ได้ก่อน เช่น หากมีความต้องการใช้เงิน 1 หมื่นล้านบาท ก็สามารถขอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้เพื่อนำมาใช้ก่อน โดยปัจจุบันยังเหลือเงินจากมาตรการชิมช้อปใช้ที่ดำเนินการมาแล้ว 5 พันล้านบาท จากทั้งหมด 1.9 หมื่นล้านบาท" นายอุตตม กล่าว

นายอุตตม กล่าวว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบมาตรการการเงินการคลังเพื่อสนับสนุนการลงทุนในประเทศ ปี 2563 ซึ่งเป็นมาตรการพิเศษที่ช่วยสนับสนุนเศรษฐกิจไทยอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน ประกอบด้วย 1. มาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการลงทุนในประเทศ โดยให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลหักรายจ่ายเพื่อการลงทุนในเครื่องจักรได้ 250% หรือ 2.5 เท่า ของรายจ่ายตามจำนวนที่จ่ายจริง ที่จ่ายไปตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. - 31 ธ.ค. 2563

2. มาตรการยกเว้นอากรขาเข้าเครื่องจักร 146 รายการ โดยของที่ได้รับยกเว้นอากรต้องเป็นของที่ไม่เคยผ่านการใช้งานมาก่อน และต้องนำไปใช้ในการประกอบกิจการของผู้นำเข้าเท่านั้น โดยระยะเวลาดำเนินการตั้งแต่วันที่ประกาศกระทรวงการคลังมีผลบังคับใช้ ถึงวันที่ 31 ธ.ค. 2563 และ 3. มาตรการสินเชื่อเพื่อการนลงทุนและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตในอัตราดอกเบี้ยพิเศษ จากธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (ธสน.) อัตราดอกเบี้ยพิเศษ คงที่ปีที่ 1-2 ที่ 2% และปีที่ 3-5 ที่ 4% วงเงินกู้สูงสุดต่อราย 100 ล้านบาท ภายใต้วงเงิน 5 พันล้านบาท ตั้งแต่วันนี้ถึง 31 ธ.ค. 2563

"มาตรการเหล่านี้จะส่งผลให้เกิดการลงทุนกว่า 1.1 แสนล้าน จะสูญเสียรายได้จากภาษี ประมาณ 8.6 พันล้านบาท แต่จะสนับสนุนให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวเพิ่มได้ 0.25% แต่ภาพรวมของจีดีพีในปี 2563 ยังต้องรอประเมินก่อน " นายอุตตม กล่าว

สำหรับแนวโน้มเงินบาทที่อ่อนค่าลงนั้น จะส่งผลดีกับภาคการส่งออก แต่ยังมีอีกหลายปัจจัยที่เกี่ยวเนื่อง ทั้งอุปสงค์ของตลาดโลกที่ยังอ่อนอยู่ ปัจจัยเสี่ยงเรื่องโรคระบาด ซึ่งในส่วนของไทยยืนยันว่าควบคุมได้ ทั้งหมดนี้เป็นปัจจัยที่ต้องพิจารณา

นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กล่าวว่า ผลกระทบของการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา เชื่อว่าจะเกิดแค่ช่วงสั้น 2 สัปดาห์ ความรุนแรงยังเทียบเท่าช่วงที่เกิดไวรัสซาร์ส ไม่ได้ แต่ยอมรับว่าปัญหาดังกล่าวส่งผลกระทบทั่วโลก ทำให้เศรษฐกิจโลกชะลอตัว ทำให้คาดว่าการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปีนี้อาจจะไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ที่ 3.3% แต่เชื่อว่าจะเติบโตได้ไม่ต่ำกว่า 2.5% ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากชุดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่กำลังจะออกมา


กำลังโหลดความคิดเห็น