บอร์ด รฟม.เคาะเพิ่ม 2 ทางเลือกระบบขนส่งภูเก็ต ชง “ศักดิ์สยาม” ตัดสินใจ เผย “แทรมป์ล้อยาง” ค่าลงทุน 3.7 หมื่นล้าน เพิ่มจากเดิม 2 พันล้าน ส่วน BRT ไฟฟ้าถูกสุดเหลือ 3 หมื่นล้าน คาดรื้อการศึกษา PPP เลื่อนแผนเปิดเป็นปี 70
นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) รฟม. ที่มีนายสราวุธ ทรงศิวิไล เป็นประธาน วานนี้ (18 พ.ย.) ว่า ที่ประชุมได้รับทราบรายงานผลการศึกษาเบื้องต้นทางเลือกโครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดภูเก็ต ระยะที่ 1 ช่วงท่าอากาศยานภูเก็ต-ห้าแยกฉลอง ระยะทางรวม 41.7 กม. เพิ่มเติม 2 รูปแบบ คือ ระบบรถรางไฟฟ้าล้อยาง (รถแทรมป์) และรถโดยสารด่วนพิเศษไฟฟ้า (BRT) โดยจะนำรายงานต่อกระทรวงคมนาคมต่อไป ซึ่งเป็นการดำเนินการตามที่ นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้มีข้อสังเกตในการเลือกระบบขนส่งมวลชนที่ลดต้นทุนในการดำเนินงาน ในช่วงที่ได้ลงพื้นที่ตรวจราชการจังหวัดภูเก็ตเมื่อต้นเดือน พ.ย.
ผลการศึกษาระบบขนส่งมวลชนจังหวัดภูเก็ตที่ รฟม.สรุปเสนอไปยังกระทรวงคมนาคมไปก่อนหน้านี้ จะเป็นรถแทรมป์ล้อเหล็ก มีมูลค่าลงทุน 35,201 ล้านบาท รูปแบบ PPP Net Cost โดยรัฐลงทุนค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน และเอกชนลงทุนค่าก่อสร้างงานโยธา งานระบบ และขบวนรถไฟฟ้า และให้บริการเดินรถและซ่อมบำรุงรักษาเป็นระยะเวลา 30 ปี รวมทั้งเป็นผู้จัดเก็บค่าโดยสาร และรับความเสี่ยงด้านรายได้ค่าโดยสาร โดยรัฐจะสนับสนุนเอกชนในส่วนของค่าก่อสร้างงานโยธา คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างในปี 2566 และเปิดให้บริการในปี 2569
สำหรับทางเลือกเพิ่มเติมรถแทรมป์ล้อยางนั้น การศึกษาเบื้องต้นประเมินค่าลงทุนประมาณ 37,000 ล้านบาท สูงกว่าแทรมป์ล้อเหล็ก 15% เนื่องจากเป็นระบบที่มีการใช้ไม่แพร่หลายมากนัก ผู้ผลิตน้อยราย มีต้นทุนค่าจัดหาขบวนรถสูงกว่า นอกจากนี้ มีข้อเสียกรณีความร้อนในการขับเคลื่อนเกิดยางระเบิดได้ ไม่เหมาะต่อสภาพอากาศประเทศไทยมากนัก หลายประเทศเกิดปัญหาต้องเปลี่ยนเป็นล้อเหล็กแทน เช่นไต้หวัน
ส่วนทางเลือกรถ BRT ระบบไฟฟ้า ประเมินค่าลงทุนที่ 30,000 ล้านบาท ต่ำกว่าแทรมป์ล้อเหล็กประมาณ 30% โดยมีข้อด้อยในเรื่องความจุต่อขบวนที่น้อยกว่า จึงต้องพ่วง 4 ตู้ต่อ 1 ขบวน ขณะที่แทรมป์จะใช้ 2 ตู้ต่อ 1 ขบวน นอกจากนี้ยังต้องลงทุนก่อสร้างสถานีประจุไฟฟ้าเพิ่มเติม
โดยทั้ง 3 ทางเลือกจะก่อสร้างไปตามแนวเส้นทางเดิมที่มีโครงสร้างทั้งที่เป็นทางยกระดับ, อุโมงค์ทางลอด และทางระดับดิน ตามที่มีการออกแบบไว้ และมีช่องทางวิ่งเฉพาะ โดยมีค่าเวนคืนเท่าเดิม
ทั้งนี้ รฟม.จะรายงานการศึกษา 2 ทางเลือกเพิ่มเติมไปยังกระทรวงคมนาคม ซึ่งหากพิจารณาให้ปรับเป็นรถ BRT ไฟฟ้า รฟม.จะต้องทำการศึกษาปรับปรุงรายงาน PPP และจัดทำรายงานการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ใหม่ โดยคาดว่าจะใช้เวลาศึกษาประมาณ 6-8 เดือน จากนั้นจะเร่งนำเสนอบอร์ด รฟม.ต่อไป ซึ่งประเมินว่าจะต้องปรับไทม์ไลน์ในการดำเนินโครงการออกไปอีก1 ปี โดยเสนอ ครม.ปี 2565 เปิดประมูลปี 2566 เริ่มก่อสร้างปี 2567 ใช้เวลาก่อสร้าง 3 ปี และเปิดให้บริการในปี 2570
@บอร์ดรับทราบคืบหน้า ร้องประมูล “สีส้ม”
นอกจากนี้ รฟม.ได้รายงานความคืบหน้ากรณีประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ซึ่งวันที่ 17 พ.ย. ศาลปกครองสูงสุดได้ไต่สวนกรณีที่ รฟม.และคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 แห่ง พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 ได้ยื่นอุทธรณ์คำสั่งศาลปกครองกลางที่ให้ทุเลาการบังคับใช้หลักเกณฑ์การร่วมลงทุนที่แก้ไขเพิ่มเติมและเปลี่ยนแปลงเอกสารการคัดเลือกเอกชนเพิ่มเติมครั้งที่ 1
รฟม.และ กก.มาตรา 36 ได้ชี้แจงต่อศาลว่า เป็นการดำเนินการถูกต้องครบถ้วนตามกฎหมายและระเบียบ โดยหลักเกณฑ์ใหม่จะทำให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนและภาครัฐ พร้อมกันนี้ ได้แจ้งถึงการเลื่อนกำหนดเปิดซองข้อเสนอออกไปก่อนจนกว่าศาลปกครองสูงสุดจะมีคำสั่ง ซึ่งบอร์ดรับทราบและกำชับให้ รฟม.ดำเนินการตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง