รฟม.ชี้แจงศาลปกครองสูงสุดตามนัด ปรับเกณฑ์ประมูลรถไฟฟ้าสีส้ม ด้านบีทีเอสเบี้ยวส่งทนายขอเลื่อนไต่สวน ศาลขีดเส้นยื่นคำแถลง 23 พ.ย. “ผู้ว่าฯ รฟม.” ยันรวมคะแนนเทคนิค-ราคา เป็นอำนาจ กก.มาตรา 36 ไม่ทำให้ใครได้เปรียบเสียเปรียบ พร้อมเลื่อนเปิดซองคุณสมบัติออกไปก่อน
รายงานข่าวแจ้งว่า วันนี้ (17 พ.ย.) เวลา 09.30 น. ศาลปกครองสูงสุดได้นัดไต่สวน บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC (ผู้ฟ้องคดี) กับคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 แห่ง พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ที่ 1 กับพวกรวม 2 คน (ผู้ถูกฟ้องคดี) กรณีที่คณะกรรมการคัดเลือกมาตรา 36 ยื่นอุทธรณ์คำสั่งทุเลาของศาลปกครองกลาง ที่ออกมาเมื่อวันที่ 21 ต.ค. 2563 กรณีการเปลี่ยนหลักเกณฑ์การประเมินโครงการของคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 ที่รวมข้อเสนอที่ 2 (เทคนิค) กับข้อเสนอที่ 3 (การเงิน) พิจารณารวมกัน ในสัดส่วน คะแนนเทคนิค 30% และคะแนนการเงิน 70%
โดยฝ่ายผู้ถูกฟ้อง (รฟม. และคณะ กก.มาตรา 36) ได้เดินทางมาตามที่นัดไต่สวน ขณะที่ บีทีเอส ไม่มีผู้บริหารเดินทางไป มีเพียงทนายที่ได้รับมอบอำนาจ ซึ่งในช่วงแรกศาลได้มีการพิจารณาคำร้องของบีทีเอสก่อน จากนั้นจึงได้เริ่มไต่สวน แต่เนื่องจากบีทีเอสมอบอำนาจให้ทนายยื่นคำร้องเท่านั้น ไม่ได้มอบอำนาจในเรื่องไต่สวน ทำให้มีการไต่สวนผู้ถูกฟ้อง (รฟม.และคณะ กก.มาตรา 36) ฝ่ายเดียว ทั้งนี้ ศาลได้ให้ บีทีเอสยื่นคำแถลงชี้แจงต่อศาลภายในวันที่ 23 พ.ย.
นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยภายหลังเข้าชี้แจงต่อศาลปกครองสูงสุดว่า รฟม.ได้อุทธรณ์คำสั่งศาลปกครองกลางตามสิทธิ ซึ่งศาลด้าสอบถามประเด็นความถูกต้องตามกฎหมาย กรณีที่ รฟม.และคณะกรรมการมาตรา 36 ได้ดำเนินการ และข้อดี-ข้อเสียระหว่างเกณฑ์การพิจารณาแบบเดิม และเกณฑ์การพิจารณาแบบใหม่ ซึ่ง รฟม.และคณะกรรมการมาตรา 36 ได้ชี้แจงข้อมูลตามที่ได้เคยชี้แจงต่อศาลชั้นต้น พร้อมกันนี้ได้เพิ่มเติมขยายข้อความเพื่อให้มีความเข้าใจง่ายขึ้น
โดยยืนยันในเรื่องการเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์ทำได้ อยู่ในอำนาจของคณะกรรมการมาตรา 36 ส่วนเกณฑ์ที่เปลี่ยนแปลงไม่ได้ ทำให้เกิดการได้เปรียบเสียเปรียบแต่อย่างใด ซึ่งในการยื่นเอกสารประกวดราคาเมื่อวันที่ 9 พ.ย. 2563 ทางกลุ่มบีทีเอสได้ให้สัมภาษณ์ว่าได้ทำข้อเสนอที่ดีที่สุดมายื่นประมูล ไม่ว่าจะเกณฑ์พิจารณาแบบเก่าหรือใหม่
นายภคพงศ์กล่าวว่า ส่วนกำหนดเปิดซองเอกสาร 1 (ด้านคุณสมบัติ) นั้นล่าสุด คณะกรรมการมาตรา 36 แห่งพระราชบัญญัติการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2562 (พ.ร.บ.การให้เอกชนร่วมลงทุนฯ ปี 2562) ได้มีมติให้ชะลอการเปิดซองที่ 1 ออกไปก่อน จากทีก่ำหนดจะเปิดซองในวันที่ 23 พ.ย.นี้ (หลังจากรับซอง ประมาณ 2 สัปดาห์) จนกว่าจะมีคำสั่งศาลปกครองสูงสุดออกมา ซึ่งยังอยู่ในขั้นตอนที่สามารถดำเนินการได้ โดยกำหนดให้เอกชน ยืนราคาข้อเสนอ 270 วัน นับจากวันรับซองเอกสาร (9 พ.ย.)
สำหรับคดีหลักที่ผู้ร้องขอให้ศาลปกครองมีคำสั่งเพิกถอน มติคณะกรรมการมาตรา 36 ที่เห็นชอบปรับปรุงวิธีการประเมินและขยายเวลา และเพิกถอนเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชนเพิ่มเติม (RFP Addendum) ที่ปรับปรุงวิธีการประเมินนั้น รฟม.อยู่ระหว่างเตรียมคำให้การซึ่งยังรอศาลนัดไต่สวน
อย่างไรก็ตาม หากศาลมีคำสั่งอย่างใด รฟม.พร้อมปฏิบัติตามคำสั่งศาล โดยขณะนี้ไม่ได้มีคำสั่งในเรื่องหยุดการประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ซึ่ง รฟม.ได้ให้เอกชนร่วมลงทุน PPP net cost ระยะเวลา 30 ปี วงเงิน 1.28 แสนล้านบาท และรับซองประมูลไปเมื่อวันที่ 9 พ.ย.ที่ผ่านมา โดยมี 2 บริษัทยื่นซอง ได้แก่ 1. บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) และ 2. กลุ่มกิจการร่วมค้าบีเอสอาร์ (BSR Joint Venture) ประกอบด้วย บมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ (BTSC) บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้ง (BTS) และบมจ.ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่งแอนด์คอนสตรัคชั่น