รฟม.ยื่นอุทธรณ์เพิกถอนคำสั่งคุ้มครองกรณีปรับเกณฑ์ประมูลสายสีส้มในสัปดาห์นี้ พร้อมวางแนวทางรองรับกรณีให้ยืนตามคำสั่งศาลปกครองกลาง จ่อยกเลิกประมูลร่าง TOR ใหม่ เร่งขั้นตอนลงนามล่าช้าสุดใน ก.ย. 64 ไม่กระทบเปิดด้านตะวันออกศูนย์วัฒนธรรมฯ-มีนบุรี มี.ค. 67
นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยว่า ขณะนี้รฟม.ได้หารือกับอัยการในการเรียบเรียงคำอุทธรณ์แล้ว โดยภายในสัปดาห์นี้จะยื่นต่อศาลปกครองสูงสุดขอให้เพิกถอนคำสั่งศาลปกครองกลางกรณีคุ้มครอง โดยให้ รฟม.ทุเลาการบังคับตามหลักเกณฑ์การร่วมลงทุนที่แก้ไขเพิ่มเติมและเปลี่ยนแปลงเอกสารการคัดเลือกเอกชนเพิ่มเติมครั้งที่ 1 ในการดำเนินการคัดเลือกเอกชนเพื่อร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์)
ทั้งนี้ จากที่ศาลปกครองกลางได้มีคำสั่งเมื่อวันที่ 19 ต.ค. คุ้มครองชั่วคราว ให้ รฟม.ทุเลาการบังคับตามหลักเกณฑ์การร่วมลงทุนที่แก้ไขเพิ่มเติมและเปลี่ยนแปลงเอกสารการคัดเลือกเอกชนเพิ่มเติมครั้งที่ 1 ที่ให้ใช้การประเมินซองที่ 2 ข้อเสนอทางเทคนิค และซองที่ 3 ข้อเสนอด้านการลงทุนและผลตอบแทน รวมกันแล้วแบ่งสัดส่วนเป็นคะแนนซองที่ 2 จำนวน 30 คะแนน และคะแนนซองที่ 3 จำนวน 70 คะแนน ในการดำเนินการคัดเลือกเอกชนเพื่อร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเป็นอย่างอื่นนั้น รฟม.และคณะกรรมการ มาตรา 36 พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ 2562 มีสิทธิ์ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุดภายใน 30 วัน
รายงานข่าวแจ้งว่า คณะกรรมการ มาตรา 36 พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ 2562 จะมีการประชุมกันภายในสัปดาห์นี้ด้วย เพื่อเตรียมแนวทางในการดำเนินการประกวดราคาตามประกาศที่ได้ขยายเวลาในการรับเอกสารประกวดราคาเป็นวันที่ 9 พ.ย. 2563
รายงานข่าวจากกระทรวงคมนาคมระบุว่า เบื้องต้น รฟม.ได้มีการจัดทำกรอบแนวทางในการดำเนินการ กรณีที่ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งก่อนวันที่ 9 พ.ย.นี้ ซึ่งประเมินไว้ 3 กรณี ได้แก่ 1. กรณีศาลปกครองสูงสุดกลับคำสั่งศาลปกครองกลาง รฟม.โดยคณะกรรมการมาตรา 36 พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ 2562 จะรับซองวันที่ 9 พ.ย. 63 จากนั้นจะประชุมเพื่อกำหนดเกณฑ์ และเปิดซองด้านคุณสมบัติ (ซอง 1) วันที่ 23 พ.ย. 63 ประกาศผู้ผ่านคุณสมบัติ และเปิดซองด้านเทคนิค (ซอง 2) และซองข้อเสนอด้านการลงทุนและผลตอบแทน (ซอง 3) ประเมินข้อเสนอ สรุปประมาณปลายเดือน ธ.ค. 63 เพื่อเข้าสู่การเจรจาต่อรองผู้ผ่านการประเมินสูงสุด คาดว่าจะเสนอคณะกรรมการ (บอร์ด) รฟม. และคณะรัฐมนตรี (ครม.) ช่วงต้นปี 64 และลงนามสัญญาในต้นเดือน มี.ค. 64
2. กรณีศาลปกครองสูงสุดยืนตามคำสั่งศาลปกครองกลาง และ รฟม.เดินหน้าการประมูลต่อ โดยรับซองวันที่ 9 พ.ย. 63 ตามกำหนดนั้น รฟม.จะต้องออก RFP Addendum ยกเลิกปรับปรุงวิธีการประเมินก่อนรับซองก่อน ขณะที่กรอบเวลา การพิจารณายังเป็นไปตามกำหนดเดิม โดยเปิดซองที่ 1 วันที่ 23 พ.ย. 63 ประกาศผู้ผ่านคุณสมบัติ จากนั้นเปิดซองที่ 2 ประเมินข้อเสนอด้านเทคนิค และเปิดซองที่ 3 ประเมิน ข้อเสนอการลงทุนและผลตอบแทน จะเร่งรัดเพื่อสรุปผลให้ได้ในเดือน ม.ค. 64 เพื่อเข้าสู่การเจรจาต่อรองผู้ผ่านการประเมินสูงสุด คาดว่าจะเสนอคณะกรรมการ (บอร์ด) รฟม. และคณะรัฐมนตรี (ครม.) ช่วงต้นปี 64 และลงนามสัญญาภายใน มี.ค. 64
3. กรณีศาลปกครองสูงสุดยืนตามคำสั่งศาลปกครองกลาง และ รฟม.ยกเลิกการประมูลโดยจะออกประกาศยกเลิกประกาศเชิญชวนก่อนวันที่ 9 พ.ย. 63 และเริ่มขั้นตอนการจัดทำร่างข้อเสนอการร่วมลงทุน (RFP) ใหม่เสร็จใน ก.พ. 64 ขายเอกสารเดือน ก.พ.-มี.ค. 64 ยื่นซองประมูลเดือน พ.ค. 64 สรุปผลประมูลเดือน ก.ค. 64 ลงนามสัญญาได้ในเดือน ก.ย. 64 ทั้งนี้ แผนงานนี้จะต้องมีการเร่งรัดกรอบการทำงานทุกขั้นตอนเพื่อไม่ให้โครงการล่าช้า
สำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม แบ่งการดำเนินงานเป็น 2 ส่วน ได้แก่ งานโยธา สายสีส้มด้านตะวันออก ช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ-มีนบุรี ระยะทาง 22.5 กม. เป็นโครงสร้างใต้ดิน 13.6 กม. โครงสร้างยกระดับ 8.9 กม. มี 17 สถานี กรองวงเงินรวม 82,907 ล้านบาท ปัจจุบันงานก่อสร้างมีความก้าวหน้า 70%
สายสีส้ม ด้านตะวันตก ช่วงบางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรมฯ งานโยธา ระยะทาง 13.4 กม. เป็นโครงสร้างใต้ดินตลอดสาย มี 11 สถานี กรอบวงเงินรวม 96,012 ล้านบาท และการจัดหา ติดตั้งงานระบบรถไฟฟ้า ขบวนรถ และการให้บริการเดินรถและซ่อมบำรุงรักษาตลอดเส้นทาง ตั้งแต่ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) กรอบวงเงินลงทุน 32,116 ล้านบาท โดย รฟม.เปิดประมูล PPP ให้เอกชนเป็นผู้ลงทุนออกและก่อสร้างงานโยธา ด้านตะวันตก และจัดหาระบบรถไฟฟ้า และเดินรถตลอดสาย โดยรัฐสนับสนุนค่างานโยธาตามค่าใช้จ่ายจริงที่เกิดขึ้น
ซึ่งมีกำหนดเปิดให้บริการ 2 ส่วน โดยส่วนตะวันออกภายในเดือน มี.ค. 2567 และส่วนตะวันตก (ครบตลอดสาย) ในเดือน ก.ย. 2569