xs
xsm
sm
md
lg

“ซีพี” ลุ้น 10 ม.ค.ศาลปกครองสูงสุดนัดฟังพิพากษาคืนสิทธิร่วมประมูล “อู่ตะเภา” หรือไม่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ศาลปกครองสูงสุดนัดอ่านคำพิพากษา 10 ม.ค. คืนสิทธิ “ซีพี” ร่วมประมูลพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา 2.9. แสนล้านหรือไม่ หลังแจงศาลหากคืนสิทธิทำรัฐเกิดประโยชน์สูงสุดมากกว่ายึดเหตุมาช้าเพียง 9 นาทีตัดสิทธิทำรัฐเสียประโยชน์ แข่งขันไม่เป็นธรรม

วันนี้ (8 ม.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในวันที่ 10 ม.ค.นี้ เวลา 10.00 น. ศาลปกครองสูงสุดนัดอ่านคำพิพากษาในคดีที่บริษัท ธนโฮลดิ้ง จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในเครือ CP กับพวกรวม 5 คน ยื่นฟ้องคณะกรรมการคัดเลือกของโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก กรณีมีมติตัดสิทธิไม่รับซองข้อเสนอบางรายการของบริษัท ธนโฮลดิ้ง จำกัดและพวก คือ ข้อเสนอตัวจริงกล่องที่ 6 ซึ่งเป็นข้อเสนอทางเทคนิคและแผนธุรกิจและข้อเสนอตัวจริงกล่องที่ 9 ซึ่งเป็นข้อเสนอด้านราคาในการร่วมประมูลพัฒนาโครงการสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก มูลค่า 2.9 แสนล้าน ด้วยเหตุผลว่าทำผิดเงื่อนไขสัญญาการเข้าร่วมประมูล โดยในวันที่ 10 เม.ย. 2562 ซึ่งเป็นวันที่คณะกรรมการคัดเลือกฯ เปิดให้มีการยื่นข้อเสนอบริษัท ธนโฮลดิ้ง จำกัด กับพวก มายื่นข้อเสนอดังกล่าวยังสถานที่รับซอง เกินเวลาที่กำหนดไว้ภายใน 15.00 น.ไป 9 นาที

ทั้งนี้ คดีดังกล่าวศาลปกครองสูงสุดได้มีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวก่อนมีคำพิพากษาโดยสั่งคณะกรรมการคัดเลือกฯให้สิทธิ บริษัท ธนโฮลดิ้ง จำกัด กับพวก เข้าร่วมการประมูลไปก่อนจนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาถึงที่สุด ซึ่งต่อมาศาลปกครองชั้นต้นมีคำพิพากษาให้ยกฟ้อง เนื่องจากเห็นว่าเอกสารซองข้อเสนอดังกล่าวมาถึงยังสถานที่รับซองภายหลังเวลา 15.00 น. อันเป็นกำหนดเวลาปิดการรับซองแล้ว คณะกรรมการคัดเลือกฯ ย่อมมีหน้าที่ปฏิเสธไม่รับกล่องซองข้อเสนอดังกล่าวไว้พิจารณาในขั้นตอนต่อไปโดยไม่สามารถพิจารณายกเว้นให้แก่กลุ่มกิจการค้าร่วมฯ เป็นกรณีพิเศษได้ ไม่เช่นนั้นย่อมจะเป็นการเลือกปฏิบัติต่อเอกชนรายใดรายหนึ่ง และทำให้เกิดการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม ซึ่งทางบริษัท ธนโฮลดิ้ง จำกัดและพวกได้มีการยื่นอุทธรณ์โดยอ้างว่า การให้บริษัท ธนโฮลดิ้ง จำกัด กับพวกยื่นซองข้อเสนอให้ครบถ้วนย่อมก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับรัฐมากกว่าการยึดถือเวลาเพียง 9 นาที ซึ่งอาจมีบุคคลใดเห็นว่าเป็นข้อบกพร่องของบริษัทอยู่บ้าง แต่การเปิดโอกาสให้บริษัท ธนโฮลดิ้ง กับพวกยื่นซองข้อเสนอเพื่อแข่งขันกับผู้ยื่นข้อเสนออีก 2 ราย อย่างครบถ้วนและเป็นธรรมนั้น จะเป็นการเปิดกว้างให้คณะกรรมการนโยบายฯ ได้ใช้ดุลพินิจตัดสินใจในการคัดเลือกเอกชนเข้าร่วมลงทุนซึ่งไม่ส่งผลให้เกิดความเสียหายแก่รัฐอย่างร้ายแรง

“การที่คณะกรรมการคัดเลือกฯ นำข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการที่บริษัท ธนโฮลดิ้ง จำกัด กับพวกนำเอกสารจำนวน 2 กล่อง คือ กล่องที่ 6 และที่ 9 มา ณ จุดลงทะเบียนยื่นข้อเสนอเมื่อเวลา 15.09 น. มาเป็นเหตุในการมีมติไม่รับข้อเสนอซองที่ 2 และที่ 3 จึงเป็นการใช้ดุลพินิจที่ขัดต่อหลักพอสมควรแก่เหตุ ขัดต่อหลักความได้สัดส่วนและไม่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ตามวัตถุประสงค์ของโครงการ”

ขณะที่เมื่อวันที่ 7 พ.ย. 62 ในการพิจารณาคดีครั้งแรกของศาลปกครองสูงสุด หลังสรุปข้อเท็จจริง 2 ฝ่ายครบถ้วนแล้ว พล.ร.ต.เกริกไชย วจนานนท์ เลขานุการคณะกรรมการคัดเลือก ได้ชี้แจงต่อศาลว่า หากศาลปกครองสูงสุดคืนสิทธิให้บริษัท ธนโฮลดิ้ง จำกัด กับพวกได้เข้าร่วมประมูลเพราะเห็นว่าการยื่นซองเกินเวลาไม่ใช่สาระสำคัญ จะเท่ากับเป็นการทำลายระบบการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ อาจทำให้เกิดค่านิยมใหม่ต่อไปใครจะมายื่นซองเวลาไหนก็ได้ แม้จะทำผิดกฎก็ไม่เป็นไร หากให้ผลตอบแทนกับรัฐสูง อีกทั้งยังขัดกับบรรทัดฐานที่ศาลปกครองสูงสุดเคยวางหลักไว้ในคดีการประมูลก่อสร้างทางหลวงชนบท ที่ศาลวินิจฉัยตัดสิทธิ์ผู้เข้าร่วมประมูลยื่นซองที่มาช้า 39 วินาที และหน่วยงานภาครัฐ ได้ยึดถือปฏิบัติในการจัดซื้อจัดจ้างในเวลาต่อมา


กำลังโหลดความคิดเห็น