xs
xsm
sm
md
lg

รื้อแทรมป์ภูเก็ต! “ศักดิ์สยาม” ตีกลับสั่ง รฟม.ปรับใช้ BRT ล้อยาง-ประหยัดค่าก่อสร้าง

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“ศักดิ์สยาม” ตีกลับรถแทรมป์ภูเก็ต สั่ง รฟม.รื้อศึกษาใหม่ปรับเป็นล้อยาง รูปแบบ BRT เพื่อประหยัดค่าก่อสร้าง หลังประเมินมีผู้โดยสาร 39,000 คน/วัน ทำให้ผลตอบแทนต่ำ ชี้เป้าหมายเพื่อแก้ปัญหาจราจร เน้นการลงทุนต่ำ ก่อสร้างได้เร็ว

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า จากที่การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ได้สรุปผลการศึกษาโครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดภูเก็ต ช่วงท่าอากาศยานภูเก็ต-ห้าแยกฉลอง ระยะทาง 41.7 กม. กรอบวงเงินลงทุนเบื้องต้น 35,201 ล้านบาท และได้รายงานความคืบหน้าต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ (ครม.สัญจร) ที่ จ.ภูเก็ต เมื่อวันที่ 3 พ.ย.นั้นไปแล้ว ตนได้ให้นโยบายแก่ รฟม.ศึกษาปรับปรุงรูปแบบโครงการเพื่อลดต้นทุนค่าก่อสร้าง และใช้เวลาก่อสร้างน้อยกว่า เบื้องต้น นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม รายงานว่ามีเทคโนโลยีอื่นที่สามารถดำเนินการแทนรถแทรมป์ที่เป็นล้อเหล็กได้ เช่น ปรับเป็นรถล้อยาง ซึ่งมีเทคโนโลยีที่มีต้นทุนต่ำกว่า คือ ระบบรถโดยสารด่วนพิเศษ (BRT) โดยใช้ไฟฟ้าในการขับเคลื่อน เป็นต้น

ส่วนผลศึกษาที่สรุปเป็นรถไฟฟ้ารางเบา หรือรถแทรมป์นั้น พบว่าใช้เงินลงทุนสูง เพราะคาดจำนวนผู้โดยสารประมาณ 39,000 คนต่อวัน ทำให้ผลตอบแทนการลงทุน EIRR ต่ำมาก ซึ่งในการลงทุนโครงการจะต้องดูเรื่องความคุ้มค่า และผลตอบแทนประกอบด้วย

นายศักดิ์สยามกล่าวว่า เป้าหมายของการแก้ปัญหาจราจรที่จังหวัดภูเก็ต คือ สร้างระบบขนส่งมวลชนที่ขนคนและทำให้เดินทางเร็วขึ้น ซึ่งรถ BRT เป็นทางเลือกหนึ่งที่มีต้นทุนต่ำกว่า การก่อสร้างทำได้ง่ายกว่า โดยใช้พื้นที่เกาะกลางถนน ปรับปรุงผิวทางและแบ่งกั้นช่องทางให้ชัดเจน และในอนาคตหากมีจำนวนผู้โดยสารมากขึ้น สามารถพ่วงต่อรถโดยสารเพิ่มได้

“ตอนนี้อยู่ในขั้นตอนการนำเสนอโครงการ สามารถปรับปรุงเพิ่มเติมได้ และยังมีเวลาโดยตามแผนจะมีการประมูลและก่อสร้างในปี 2564 ส่วน TOR จะไม่มีการปิดกั้นการนำเสนอของเอกชน โดยสุดท้ายจะตัดสินกันที่เทคนิคและความคุ้มค่าการลงทุน”

สำหรับโครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดภูเก็ต ช่วงท่าอากาศยานนานาชาติภูเก็ต-ห้าแยกฉลอง ระยะทาง 41.7 กม. มูลค่า 35,201 ล้านบาท คณะกรรมการ (บอร์ด) รฟม.ที่มีนายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมทางหลวง (ทล.) เป็นประธาน ได้มีมติอนุมัติผลการศึกษาเมื่อ วันที่ 21 ต.ค. 63 โดยอยู่ในขั้นตอนเสนอกระทรวงคมนาคม จากนั้นจะเสนอต่อสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) และคณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (คณะกรรมการ PPP) โดยตามแผนงานคาดว่าจะเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติได้ในเดือน ต.ค. 2564 คาดว่าจะเปิดประมูล ในช่วงต้นปี 2565 คาดว่าจะเริ่มงานก่อสร้างโครงการฯ ในปี 2566 แล้วเสร็จและเปิดให้บริการได้ในปี 2569

โครงการจะดำเนินในรูปแบบ PPP Net Cost โดยรัฐลงทุนค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน และเอกชนลงทุนค่าก่อสร้างงานโยธา งานระบบ และขบวนรถไฟฟ้า และให้บริการเดินรถและซ่อมบำรุงรักษาเป็นระยะเวลา 30 ปี รวมทั้งเป็นผู้จัดเก็บค่าโดยสาร และรับความเสี่ยงด้านรายได้ค่าโดยสาร รายได้จากการพัฒนาเชิงพาณิชย์ และรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานทั้งหมด โดยรัฐจะช่วยสนับสนุนทางการเงินให้แก่เอกชนในส่วนของค่าก่อสร้างงานโยธา มีมูลค่ารวม 35,201 ล้านบาท มีค่างานโยธา 24,774 ล้านบาท งานระบบ รถไฟฟ้า 3,514 ล้านบาท ค่าขบวนรถไฟฟ้า 2,921 ล้านบาท ค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน 1,449 ล้านบาท ค่าสำรวจอสังหาริมทรัพย์ 50 ล้านบาท ค่าจ้างที่ปรึกษาบริหารและควบคุมงานก่อสร้าง 1,065 ล้านบาท ค่า Provisional Sum 1,428 ล้านบาท ใช้เวลาก่อสร้างประมาณ 3 ปีครึ่ง
แนวเส้นทางเริ่มจากท่าอากาศยานภูเก็ต ก่อสร้างเป็นทางยกระดับบน ทล.4031 จากนั้นลดระดับลงสู่ระดับดินที่ ทล.4026 และปรับโครงสร้างยกระดับอีกครั้งเพื่อข้ามทางแยกสนามบินและอุโมงค์ทางลอด ทางแยกสนามบิน เลี้ยวขวาแล้วจึงลดระดับสู่ระดับดินบน ทล.402 เพื่อเข้าสู่เมืองภูเก็ตโดยแนวเส้นทางช่วงที่ผ่านอำเภอถลางจะลดระดับเป็นทางลอดใต้ดิน ระยะทางประมาณ 3 กม. ก่อนจะปรับกลับขึ้นสู่ระดับดิน ผ่านอนุสาวรีย์ท้าวเทพกระษัตรี-ท้าวศรีสุนทร ต่อมาก่อนเส้นทางทางเข้าสู่แยกบางคูจะลดระดับเป็นทางลอดใต้ดินผ่านทางแยกบางคู (แยกบายพาส) ก่อนกลับขึ้นสู่ระดับดิน เข้าสู่สถานีขนส่ง ผ่านเข้าเทศบาลเมืองภูเก็ต ถนนภูเก็ต และข้ามสะพานเทพศริสินธุ์ (คลองเกาะผี) เข้าสู่ถนนเจ้าฟ้าตะวันออก และไปสิ้นสุดเส้นทางใกล้กับท่าเรือฉลอง บริเวณห้าแยกฉลอง มี 21 สถานี


กำลังโหลดความคิดเห็น