xs
xsm
sm
md
lg

เบรกแอร์พอร์ตลิงก์ลดค่าตั๋ว “ศักดิ์สยาม” สั่งหาทางลดต้นทุนก่อน ชี้ 3 เดือน ทำขาดทุนเพิ่ม 2.7 ล้าน

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“ศักดิ์สยาม” เบรกแอร์พอร์ตลิงก์ลดค่าโดยสาร หลังพบขาดทุนเพิ่ม 3 เดือน 2.7 ล้านบาท สั่งหาทางลดต้นทุนและพิสูจน์ก่อนว่า จูงใจหันไปเดินทางช่วงเวลาอื่นจริง ให้เวลา 2 สัปดาห์ หากไม่ขาดทุน คาดจะเริ่มลดเป็นของขวัญปีใหม่ แต่ขาดทุนเพิ่มไม่ควรทำ

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ภายหลังประชุมมอบนโยบายให้กับคณะกรรมการและผู้บริหาร บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด ซึ่งเป็นผู้ให้บริการรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ ว่า ขณะนี้มีการตั้งคณะกรรมการ (บอร์ด) แอร์พอร์ตลิงก์ชุดใหม่ โดยมี นายระพี ผ่องบุพกิจ เป็นประธาน ซึ่งได้รายงานถึงปัญหาต่างๆ ของแอร์พอร์ตลิงก์ที่จะต้องดำเนินการแก้ไข เช่น ภารกิจที่จำกัด ทำให้การหารายได้มีข้อจำกัดไปด้วย ซึ่งได้ให้ รฟท.และแอร์พอร์ตลิงก์ไปหารือร่วมกันว่าจะสามารถคลายล็อกได้อย่างไรบ้าง

สำหรับมาตรการลดค่าโดยสารแอร์พอร์ตลิงก์เพื่อช่วยลดค่าครองชีพให้ประชาชนนั้น ซึ่งคณะกรรมการ (บอร์ด) การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ได้อนุมัติให้ดำเนินการแล้วแต่เนื่องก่อนหน้านี้ แอร์พอร์ตลิงก์ได้มีการปรับลดค่าโดยสาร แต่พบว่าต้องประสบปัญหาขาดทุนวันละ 30,000 บาท หรือประมาณ 900,000 บาทต่อเดือน ดังนั้น หากจะดำเนินมาตรการลดค่าโดยสาร จะต้องไม่เป็นการสร้างภาระขาดทุนเพิ่ม

เช่น ตรวจสอบต้นทุนดำเนินการ ว่า มีจุดใดที่สามารถปรับลดลงได้อีกบ้าง นอกจากนี้ จะต้องนำสมมติฐานในการลดค่าโดยสาร ซึ่งแอร์พอร์ตลิงก์ระบุว่า เพื่อกระจายการเดินทางของผู้โดยสารในช่วงเวลาเร่งด่วนออกไปใช้บริการในเวลาอื่นๆ ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีตัวเลขสถิติที่ยืนยันได้ว่า การลดค่าโดยสารลง ทำให้ผู้โดยสารไปใช้บริการช่วงนอกเวลาเร่งด่วนเพิ่มขึ้น ดังนั้นจึงให้นำสมมติฐานไปพิสูจน์ ว่า มีการกระจายผู้โดยสาร และมีรายได้เพิ่มขึ้นหรือไม่ ให้เก็บสถิติประมาณ 2 สัปดาห์ หากตัวเลขผู้โดยสารนอกเวลาเร่งด่วนเพิ่มและส่งผลต่อรายได้ที่เพิ่มขึ้นและภาพรวม ไม่ขาดทุนเหมือนที่ผ่านมา ก็สามารถประกาศการลดค่าโดยสารได้ ซึ่งอาจจะเป็นของขวัญปีใหม่ให้ประชาชนด้วย แต่หากทำแล้วไม่เป็นไปตามสมมติฐาน และต้องรับภาระขาดทุนเพิ่ม ไม่ควรลดราคา

“แอร์พอร์ตลิงก์ต้องนำสมมติฐานไปทดสอบ เก็บสถิติ หากลดราคาแล้วขาดทุนจะทำไปทำไม ซึ่งล่าสุดเมื่อเดือน ต.ค. พบว่า แอร์พอร์ตลิงก์มีปัญหาสภาพล่องทำให้จ่ายเงินพนักงานล่าช้า ซึ่งก็แปลกใจที่เกิดขึ้นได้อย่างไร ทั้งที่แอร์พอร์ตลิงก์รับค่าจ้าง จาก รฟท.”

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของการเดินรถนั้น แอร์พอร์ตลิงก์รายงานว่า ปัจจุบัน ได้มีการซ่อมบำรุงรถไฟฟ้า จะสามารถใช้งานได้ครบทั้ง 9 ขบวน ทำให้สามารถให้บริการได้ตามตารางการเดินรถปกติ และมีสถิติการเดินรถตรงตามตารางเวลามากกว่า 99%

นอกจากนี้ ประธานบอร์ดแอร์พอร์ตลิงก์ ยังได้เสนอแนวทางในการดำเนินการระบบตั๋วร่วม พัฒนาระบบการใช้บัตรข้ามระบบ ในรูปแบบ Interoperability กับ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ที่เป็นผู้ดำเนินการรถไฟฟ้า MRT สายสีม่วง 2 สายนำร่องก่อน ซึ่งให้ทั้ง 2 หน่วยงานไปหารือร่วมกัน ทั้งนี้ กรณีพัฒนาตั๋วร่วม ใช้ข้ามระบบนั้น เกี่ยวข้อง 4 ฝ่าย คือ รฟม.(สายสีม่วง), บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM ผู้ใหบริการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน, บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTS ผู้ให้บริการรถไฟฟ้าสีเขียว และ แอร์พอร์ตลิงก์ ซึ่งทราบว่ายังติดปัญหาเรื่องภาระค่าปรับปรุงระบบ และการเขียนซอฟต์แวร์ ซึ่งเห็นว่า เรื่องนี้ไม่น่ายาก เพราะสามารถนำประโยชน์ที่แต่ละฝ่ายจะได้รับหารออกมา ใครได้ประโยชน์มาก ให้เป็นผู้รับภาระลงทุนมากไปตามสัดส่วน เป็นธรรมที่สุด

รายงานข่าวแจ้งว่า มาตรการลดค่าโดยสารรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์ ที่ดำเนินการมาก่อนหน้านี้ จะมีการลดราคา ช่วงนอกเวลาเร่งด่วน (Off Peak Hour) ‪วันจันทร์-วันศุกร์ ใน 3 ช่วงเวลา ได้แก่ 05.30-07.00 น., ‪10.00-17.00 น. และ 20.00-24.00 น. ให้แก่ผู้โดยสารที่ถือบัตรสมาร์ทพาสประเภทบุคคลทั่วไป ‬(Adult Card) จากอัตราค่าโดยสารปกติ 15-45 บาท เหลือ 15-25 บาท โดยจะคิดอัตราค่าโดยสารสถานีแรก 15 บาท สถานีที่สอง 20 บาท และสถานีที่ 3 เป็นต้นไป คิดค่าโดยสาร 25 บาท ซึ่งมาตรการเดิมสิ้นสุดไปเมื่อ 30 มิ.ย. 2563


กำลังโหลดความคิดเห็น