ปตท.แจงไตรมาส 3/2563 มีผลกำไรสุทธิ 1.41 หมื่นล้านบาท ลดลง 30% จากช่วงเดียวกันปีก่อน ส่วนงวด 9 เดือนแรกปีนี้กำไรสุทธิ 2.46 หมื่นล้านบาท ลดลง 67% จากช่วงเดียวกันปีก่อน
นางสาวพรรณนลิน มหาวงศ์ธิกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารการเงิน บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ผลการดำเนินงานไตรมาส 3/2563 ปตท.มีกำไรสุทธิ 14,120.18 ล้านบาท ลดลง 30% เมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 20,254.48 ล้านบาท
ส่วนงวด 9 เดือนแรกปี 2563 บริษัทมีกำไรสุทธิ 24,619.11 ล้านบาท ลดลง 67% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 75,504.69 ล้านบาท
ทั้งนี้ ในไตรมาส 3 ปี 2563 ปตท. และบริษัทย่อยมีรายได้ลดลงจํานวน 154,838 ล้านบาท หรือร้อยละ 28.8 จากทุกกลุ่มธุรกิจ ทั้งจากราคาขายเฉลี่ยและปริมาณขายเฉลี่ยที่ลดลง และ EBITDA ลดลง 232 ล้านบาท หรือร้อยละ 0.3 สาเหตุหลักจากกลุ่มธุรกิจก๊าซธรรมชาติที่มีผลการดําเนินงานลดลง โดยหลักจากธุรกิจโรงแยกก๊าซฯ เนื่องจากปริมาณขายที่ลดลงจากผลกระทบ COVID-19 และการปิดซ่อมบํารุงตามแผนในไตรมาส 3/2563 ขณะที่ไม่มีการปิดซ่อมบํารุงในไตรมาส 3/2562 ราคาขายที่ลดลงตามราคา ปิโตรเคมีอ้างอิงในตลาดโลกที่ลดลง และธุรกิจจัดหาและจัดจําหน่ายก๊าซฯ เนื่องจากปริมาณขายและราคาขายอ้างอิงราคาน้ำมันเตาเฉลี่ยลดลง
รวมถึงธุรกิจสํารวจและผลิตปิโตรเลียมที่มีผลการดําเนินงานลดลงจากราคาขายที่ลดลงตามราคาน้ำมันดิบ และปริมาณขายที่ปรับตัวลดลง แม้ในไตรมาสนี้จะมีปริมาณขายที่เพิ่มขึ้นของกลุ่มพาร์เท็กซ์ (Partex) ซึ่งรับรู้ผลการดําเนินงานจากการเข้าซื้อธุรกิจตั้งแต่ไตรมาส 4 ปี 2562
อย่างไรก็ตาม กลุ่มธุรกิจปิโตรเคมีและการกลั่นมี EBITDA เพิ่มขึ้นจากกําไรสต๊อกน้ำมันในไตรมาส 3/2563 แม้ว่า Market GRM ปรับลดลงจาก 3.6 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรลในไตรมาส 2/2562 เป็น -0.4 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรลในไตรมาส 3/2563 ตามส่วนต่างราคาผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมกับน้ำมันดิบที่ลดลง อีกทั้งส่วนต่างราคาผลิตภัณฑ์กับวัตถุดิบของผลิตภัณฑ์สายอะโรเมติกส์ปรับตัวลดลง ในขณะที่ส่วนต่างราคาของสายโอเลฟินส์ปรับเพิ่มขึ้น
นอกจากนี้ ผลการดําเนินงานของกลุ่มธุรกิจน้ำมันปรับเพิ่มขึ้นจากกําไรขั้นต้นที่เพิ่มขึ้นจากกําไรสต๊อกน้ำมัน ขณะที่ปริมาณขายลดลงเล็กน้อย ส่งผลให้ ปตท.และบริษัทย่อยมีกําไรสุทธิลดลงจํานวน 6,135 ล้านบาท หรือร้อยละ 30.3 ตาม EBITDA ที่ลดลงและมีขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนจากเงินกู้สกุลต่างประเทศที่เพิ่มขึ้นตามค่าเงินบาทอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเงินเหรียญสหรัฐ ในขณะที่ค่าเงินบาทแข็งค่าในไตรมาส 3/2562 ประกอบกับมีเงินกู้ยืมสกุลต่างประเทศเพิ่มสูงขึ้น แม้ว่าภาษีเงินได้ลดลงตามผลการดําเนินงานที่ลดลง อย่างไรก็ตาม ในไตรมาส 3/2563 มีการรับรู้ขาดทุนจากการด้อยค่าสินทรัพย์จำนวน 1,397 ล้านบาท โดยหลักจากธุรกิจถ่านหินตามราคาถ่านหินที่ลดลง ขณะที่ในไตรมาส 3/2562 มีการรับรู้ค่าชดเชยพนักงานเพิ่มเติมตามประกาศคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธของ ปตท. จํานวน 1,069 ล้านบาท
นางสาวพรรณนลินกล่าวถึงผลการดําเนินงาน 9 เดือนแรกของปี 2563 ว่า ปตท. และบริษัทย่อยมีรายได้จากการขายจํานวน 1,208,491 ล้านบาท ลดลงจากช่วง 9 เดือนแรกของปี 2562 จํานวน 451,142 ล้านบาท หรือร้อยละ 27.2 จากเกือบทุกกลุ่มธุรกิจ ตามราคาขายเฉลี่ยและปริมาณขายเฉลี่ยที่ลดลง ยกเว้นกลุ่มธุรกิจเทคโนโลยีและวิศวกรรมมีรายได้จากการขายเพิ่มขึ้นเนื่องจากการเข้าซื้อ GLOW ของ GPSC ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2562
ใน 9 เดือนแรกปี 2563 ปตท. และบริษัทย่อยมี EBITDA จํานวน 154,058 ล้านบาท ลดลง 67,966 ล้านบาท หรือร้อยละ 30.6 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน สาเหตุหลักจากกลุ่มธุรกิจปิโตรเคมีและการกลั่นที่มีขาดทุนจากสต๊อกน้ำมันใน 9 เดือนแรกปี 2563 จํานวนประมาณ 24,500 ล้านบาท ตามราคาน้ำมันดิบที่ปรับลดลงอย่างมาก
ประกอบกับความต้องการใช้ผลิตภัณฑ์น้ำมันสําเร็จรูปและผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีลดลงจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจ เนื่องจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 ในขณะที่ 9 เดือนแรกปี 2562 มีกําไรสต๊อกน้ำมันประมาณ 1,500 ล้านบาท โดย Market GRM ปรับลดลงจาก 2.8 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรลในช่วงเดียวกันปีก่อนเป็น 0.6 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรลใน 9 เดือนแรกปีนี้ และส่วนต่างราคาผลิตภัณฑ์กับวัตถุดิบของผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีทั้งสายโอเลฟินส์และอะโรเมติกส์ส่วนใหญ่ปรับลดลงโดยเฉพาะพาราไซลีน (PX)
นอกจากนี้ กลุ่มธุรกิจก๊าซธรรมชาติมีผลการดําเนินงานลดลง โดยหลักจากธุรกิจโรงแยกก๊าซฯ เนื่องจากราคาขายที่ลดลงตามราคาปิโตรเคมีอ้างอิงในตลาดโลกที่ลดลงและปริมาณขายที่ลดลงจากผลกระทบ COVID-19 และจากธุรกิจจัดหาและจัดจําหน่ายก๊าซฯ เนื่องจากปริมาณขายลดลง และราคาขายเฉลี่ยที่อ้างอิงต้นทุนก๊าซฯ และราคาน้ำมันเตาที่ลดลง ขณะที่ผลการดําเนินงานของธุรกิจสํารวจและผลิตปิโตรเลียมปรับลดลงตามราคาขายเฉลี่ยที่ปรับตัวลง แม้ปริมาณขายจะเพิ่มขึ้น
สําหรับกลุ่มธุรกิจน้ำมันมีผลการดําเนินงานลดลงเช่นกัน สาเหตุหลักจากปริมาณขายและราคาขายที่ลดลงจากผลกระทบของ COVID-19 อย่างไรก็ตาม ผลการดําเนินงานของกลุ่มเทคโนโลยีและวิศวกรรมปรับตัวดีขึ้นจากการเข้าซื้อ GLOW ของ GPSC ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2562 ทำให้ ปตท. และบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิจํานวน 24,619 ล้านบาท ลดลง 50,886 ล้านบาท หรือร้อยละ 67.4 จากช่วงเดียวกันของปีก่อนตาม EBITDA ที่ลดลง และจากค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจําหน่ายที่เพิ่มขึ้นของธุรกิจสํารวจและผลิตปิโตรเลียม และของธุรกิจเทคโนโลยีและวิศวกรรมที่เพิ่มขึ้นจากการเข้าซื้อกิจการดังกล่าวข้างต้น