ไทยออยล์คาดไตรมาส 2/63 ฟื้นตัวขึ้น เหตุมีกำไรสต๊อกน้ำมัน-มาร์จิ้นการกลั่นดีขึ้น พร้อมหารือกลุ่มปตท.ร่วมมือและศึกษาความเป็นไปได้โครงการ Beyond CFP เพื่อต่อยอดสู่ปิโตรเคมี
นายวิรัตน์ เอื้อนฤมิต ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) (TOP) เปิดเผยว่า แนวโน้มการดำเนินธุรกิจบริษัทในไตรมาส 2/2563 มีทิศทางที่ดีขึ้นกว่าไตรมาสแรกที่มีผลขาดทุนสุทธิ 1.38 หมื่นล้านบาท ปัจจุบันราคาน้ำมันดิบปรับตัวขึ้นมาอยู่ที่ 40 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล สูงขึ้นจากสิ้นไตรมาส 1 ที่ 33 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ทำให้ไตรมาส 2 นี้มีกำไรจากสต๊อกน้ำมัน รวมทั้งมีกำไรขั้นต้นจากการผลิตของกลุ่ม (GIM) ปรับตัวเพิ่มขึ้นทั้งในส่วนธุรกิจการกลั่นและบริษัทลูก
แม้ว่าไตรมาส 2/2563 โรงกลั่นไทยออยล์จะใช้กำลังการกลั่นลดลงจากไตรมาสแรกเล็กน้อยมาอยู่ที่ 95-97% เนื่องจากความต้องการใช้น้ำมันที่ลดลง แต่โรงกลั่นกลับมีมาร์จิ้นที่ดีขึ้นจากการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ ทำให้ความต้องการและราคาผลิตภัณฑ์เริ่มดีขึ้น ประกอบกับต้นทุนน้ำมันดิบที่ต่ำจากการที่ซาอุดีอาระเบียประกาศราคาขายน้ำมันอย่างเป็นทางการ (OSP) สำหรับน้ำมันดิบทุกเกรดแบบมีส่วนลด ส่วนบริษัทลูกก็มีมาร์จิ้นที่ดีทั้งในส่วนของการผลิตพาราไซลีน (PX) และการผลิตสาร Linear Alkyl Benzene (LAB) จากต้นทุนที่ลดลงตามราคาน้ำมัน
นายวิรัตน์กล่าวอีกว่า การที่กระทรวงพลังงานเริ่มใช้หลักเกณฑ์ใหม่ในการคำนวณราคาหน้าโรงกลั่นน้ำมันเชื้อเพลิงตั้งแต่เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ส่งผลต่อราคาหน้าโรงกลั่นลดลงเฉลี่ย 0.50 บาท/ลิตรนั้น ในส่วนของโรงกลั่นไทยออยล์ก็ได้รับผลกระทบบ้าง เพราะความเป็นจริงราคาน้ำมันในประเทศเป็นตลาดเสรี ซึ่งราคาขายของแต่ละหน้าโรงกลั่นจะแตกต่างกัน
อีกทั้งในไตรมาส 2/63 ไทยออยล์ปรับสัดส่วนการผลิตน้ำมันอากาศยาน (เจ็ต) จากเดิมมีสัดส่วน 20% ของกำลังการกลั่นของโรงกลั่นเหลือเพียง 7-10% โดยหันไปผลิตน้ำมันดีเซล และบางส่วนใช้เป็นวัตถุดิบในธุรกิจปิโตรเคมีแทน
นายวิรัตน์กล่าวถึงความคืบหน้าโครงการพลังงานสะอาด (CFP) มูลค่า 4.8 พันล้านเหรียญสหรัฐว่า โครงการดังกล่าวอยู่ระหว่างดำเนินโครงการ คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2566 ทำให้โรงกลั่นไทยออยล์มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นและขยายกำลังการกลั่นน้ำมันจากเดิม 2.75 แสนบาร์เรล/วัน เป็น 4 แสนบาร์เรล/วัน บริษัทยังอยู่ระหว่างการศึกษาต่อยอดไปสู่ธุรกิจปิโตรเคมีได้เพิ่มขึ้น (Beyond CFP) โดยเฉพาะในสายโอเลฟินส์ที่มี Value Chain ค่อนข้างยาวเมื่อเทียบกับสายอะโรเมติกส์ที่ไทยออยล์มีอยู่ในปัจจุบัน
โครงการ CFP จะมีผลพลอยได้ที่เป็นแนฟทา (naphtha) ออกมาค่อนข้างมาก ซึ่งจะนำไปต่อยอดในโครงการ Beyond CFP โดยจะมี Heavy naphtha ราว 9 แสนตัน/ปี ซึ่งจะใช้เป็นวัตถุดิบในสายอะโรเมติกส์ และ Light naphtha ราว 7 แสนตัน/ปี ซึ่งจะใช้เป็นวัตถุดิบในสายโอเลฟินส์ และมีก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) ออกมา 6 แสนตัน/ปี ซึ่งหากไทยออยล์ไม่นำผลพลอยได้เหล่านี้ไปต่อยอดธุรกิจปิโตรเคมีก็สามารถจำหน่ายออกไปยังตลาดได้
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันไทยออยล์อยู่ระหว่างหารือร่วมกับกลุ่ม ปตท.เพื่อร่วมกันดำเนินการโครงการ Beyond CFP เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มผลิตภัณฑ์ แต่หากช่วงเวลาไม่เหมาะสมก็อาจจะร่วมมือกับผู้ประกอบการรายอื่นแทน โดยมองการตั้งโรงงานในระดับ World Scale อย่างกำลังการผลิตโพลีเอทิลีน (PE) ควรอยู่ที่ 1.2 ล้านตัน/ปี และ PX อยู่ที่ 1.5 ล้านตัน/ปี จากปัจจุบันที่ไทยออยล์มีการผลิต PX อยู่แล้วในระดับ 5 แสนตัน/ปี โดยจะศึกษาตลาดควบคู่กันไปด้วย