ปตท.ขาดทุนไตรมาส 1/63 กว่า 1.5 พันล้านบาท เนื่องจากได้รับผลกระทบจากกลุ่มธุรกิจปิโตรเคมีและการกลั่นขาดทุนสต๊อกน้ำมัน รวมทั้งกลุ่มธุรกิจก๊าซฯ E&P และธุรกิจน้ำมันมีรายได้ลดลงจากราคาน้ำมันดิบลด ผลพวงการแพร่ระบาด COVID-19
นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ผลการดำเนินงานไตรมาส 1/2563 ปตท.ขาดทุนสุทธิ 1,554 ล้านบาท ลดลง 30,866 ล้านบาทเมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 29,312 ล้านบาท
ปตท.มีกำไรก่อนหักดอกเบี้ยค่าเสื่อมและภาษี (EBITDA) ลดลง 48,138 ล้านบาท หรือร้อยละ 59.8 เมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ปี 2562 สาเหตุหลักจากกลุ่มธุรกิจปิโตรเคมีและการกลั่นที่มีขาดทุนจากสต๊อกน้ำมันใน 1/2563 ตามราคาน้ำมันดิบที่ปรับลดลงอย่างมาก โดยกำไรขั้นต้นจากการกลั่นซึ่งไม่รวมผลกระทบจากสต๊อกน้ำมัน Market GRM ปรับลดลงตามส่วนต่างราคาน้ำมันอากาศยาน น้ำมันดีเซลและน้ำมันเตาที่มีกำมะถันสูงกับน้ำมันดิบที่ลดลง อีกทั้งส่วนต่างราคาผลิตภัณฑ์กับวัตถุดิบของผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีส่วนใหญ่ปรับตัวลดลง
นอกจากนี้ กลุ่มธุรกิจก๊าซธรรมชาติมีผลการดำเนินงานลดลง โดยหลักจากธุรกิจโรงแยกก๊าซฯ เนื่องจากราคาขายและปริมาณขายที่ลดลง และธุรกิจจัดหาและจัดจำหน่ายก๊าซฯ เนื่องจากราคาขายอ้างอิงราคาน้ำมันเตาที่ลดลง สำหรับกลุ่มธุรกิจน้ำมันมีผลการดำเนินงานลดลงจากขาดทุนสต๊อกน้ำมันที่เพิ่มขึ้นและ ปริมาณขายที่ลดลงจากผลกระทบของ COVID-19
อย่างไรก็ตาม ผลการดำเนินงานของกลุ่มเทคโนโลยีและวิศวกรรมปรับตัวดีขึ้นจากการเข้าซื้อ บมจ.โกลว์ พลังงาน (GLOW) ของ บมจ.โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ (GPSC) ในเดือนมีนาคม 2562 ในขณะเดียวกันธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียมมีผลการดำเนินงานเพิ่มขึ้นจากรายได้ขายที่เพิ่มขึ้น โดยหลักจากโครงการมาเลเซีย และกลุ่มพาร์เท็กซ์ (Partex) ส่งผลให้ ปตท. และบริษัทย่อยในไตรมาส 1/2563 ขาดทุนสุทธิ โดยมีกำไรสุทธิลดลงจำนวนประมาณ 30,866 ล้านบาท หรือลดลงมากกว่าร้อยละ 100.0 จากในไตรมาส1/2562 จำนวน 29,312 ล้านบาท ตาม EBITDA ที่ลดลงและค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายที่เพิ่มขึ้นของธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียม และธุรกิจเทคโนโลยีและวิศวกรรมที่เพิ่มขึ้นจากการเข้าซื้อกิจการดังกล่าวข้างต้น รวมถึงในไตรมาส 1/2563 มีขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนจากเงินกู้สกุลต่างประเทศและค่าใช้จ่ายภาษีเงินได้ที่เพิ่มขึ้นตามค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเงินเหรียญสหรัฐ แม้ว่ามีกำไรจากตราสารอนุพันธ์จะเพิ่มขึ้น
เนื่องด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 และสงครามราคาน้ำมันได้ส่งผลกระทบต่อทุกภาคอุตสาหกรรม รวมถึงอุตสาหกรรมพลังงาน และผลการดำเนินงานของกลุ่ม ปตท.เช่นกัน อย่างไรก็ตาม กลุ่ม ปตท.ได้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และมีการบริหารจัดการและออกมาตรการต่างๆ โดยการจัดตั้ง PTT Group Vital Center เพื่อวางแผนทั้งระยะสั้นและระยะยาว โดยมีมาตรการระยะสั้น ได้แก่ การบริหารจัดการค่าใช้จ่ายผ่านนโยบาย “ลด-ละ-เลื่อน” ซึ่งในไตรมาส 1 นี้กลุ่ม ปตท.สามารถลดค่าใช้จ่ายใน การดำเนินงานในส่วนนี้จากไตรมาส 4/2562 ประมาณ 3,600 ล้านบาท ความร่วมมือในการทำ PTT Group Optimization เพื่อบริหารอุปสงค์ อุปทาน ปริมาณสินค้าคงคลังให้เกิดประโยชน์สูงสุด รวมทั้งการบริหารสภาพคล่องและรักษาความแข็งแกร่งทางด้านการเงิน
หากเปรียบเทียบผลประกอบการในไตรมาส 1/2563 ปตท. และบริษัทย่อยมีรายได้จากการขายจำนวน 483,567 ล้านบาท ลดลงจากไตรมาส 4/2562 จำนวน 76,539 ล้านบาท หรือร้อยละ 13.7 จากเกือบทุกกลุ่มธุรกิจ ทั้งจากราคาขายเฉลี่ยและปริมาณขายเฉลี่ยที่ลดลง โดยมีกำไรก่อนหักดอกเบี้ย ค่าเสื่อมและภาษี (EBITDA) ในไตรมาส 1/2563 มีจำนวน 32,385 ล้านบาท ลดลง 34,563 ล้านบาท หรือร้อยละ 51.6 โดยหลักจากกลุ่มธุรกิจปิโตรเคมีและการกลั่นที่ลดลง เนื่องจากมีขาดทุนจากสต๊อกน้ำมันประมาณ 32,000 ล้านบาท ตามราคาน้ำมันดิบที่ปรับลดลงมากจากสิ้นไตรมาส 4/2562 ที่ 67.3 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 23.4 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ณ สิ้นไตรมาส 1/2563 เนื่องจากสภาวะอุปทานล้นตลาดจากการที่กลุ่มโอเปกและพันธมิตรไม่สามารถบรรลุข้อตกลงในการปรับลดกำลังการผลิตได้ ประกอบกับความต้องการใช้ผลิตภัณฑ์น้ำมันสำเร็จรูปและผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีลดลงจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจเนื่องจากการแพร่ระบาด COVID-19 นำไปสู่มาตรการปิดเมืองในหลายประเทศ ขณะที่ในไตรมาส 4/2562 มีกำไรจากสต๊อกน้ำมันจำนวนประมาณ 1,300 ล้านบาท ประกอบกับกำไรขั้นต้นจาก Market GRM ลดลงจากส่วนต่างราคาน้ำมันสำเร็จรูปกับน้ำมันดิบตามราคาน้ำมันดิบที่ลดลง และส่วนต่างราคาปิโตรเคมีสายโอเลฟินส์กับวัตถุดิบปรับลดลง แม้ส่วนต่างราคาผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีสายอะโรเมติกส์กับวัตถุดิบจะปรับตัวเพิ่มขึ้น รวมถึงปริมาณขายที่ลดลง
ในส่วนผลการดำเนินงานของธุรกิจสํารวจและผลิตปิโตรเลียมปรับลดลงจากปริมาณขายและราคาขายเฉลี่ยที่ลดลง แม้ว่าจะมีค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานลดลงตามปริมาณการขายที่ลดลง สำหรับผลการดำเนินงานของกลุ่มธุรกิจก๊าซธรรมชาติปรับลดลง โดยหลักจากธุรกิจโรงแยกก๊าซฯ ตามปริมาณการขายที่ลดลงเนื่องจากใน 1/2563 โรงแยกก๊าซฯ และลูกค้าโรงปิโตรเคมีมีปิดซ่อมบำรุงตามแผน และจากธุรกิจจัดหาและจัดจำหน่ายก๊าซฯ เนื่องจากราคาขายอ้างอิงราคาน้ำมันเตาในกลุ่มลูกค้าอุตสาหกรรมลดลง กลุ่มธุรกิจเทคโนโลยีและวิศวกรรมที่ผลการดำเนินงานปรับตัวดีขึ้น โดยหลักจาก GPSC ที่มีรายได้ค่าความพร้อมจ่ายของโรงไฟฟ้า IPP ที่เพิ่มขึ้นและต้นทุนวัตถุดิบของโรงไฟฟ้า SPP ที่ลดลง ธุรกิจถ่านหินมีผลการดำเนินงานที่ดีขึ้นตามต้นทุนที่ลดลง รวมถึงผลการดำเนินงานกลุ่มธุรกิจน้ำมันที่ดีขึ้นจากค่าใช้จ่ายดำเนินงานที่ลดลง