“ไออาร์พีซี” แจงไตรมาส 1/63 ขาดทุน 8.9 พันล้านบาท เหตุราคาน้ำมันลดฉุดปริมาณขายลง และส่วนต่างราคาผลิตภัณฑ์ทั้งกลุ่มปิโตรเลียม และปิโตรเคมี ปรับตัวลดลงจากผลกระทบต่อเนื่องของสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน รวมถึงผลกระทบของการแพร่ระบาดจากโควิด-19 ทำให้ขาดทุนสต๊อกน้ำมัน 6.8 พันล้านบาท
นายนพดล ปิ่นสุภา กรรมการผู้จดัการใหญ่ บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) (IRPC) เปิดเผยว่า ไตรมาส 1 ปี 2563 บริษัทฯ มีผลการดำเนินงานขาดทุนสุทธิ 8,905 ล้านบาท เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 153 ล้านบาท
โดยไตรมาส 1/63 บริษัทฯ มีรายได้จากการขายสุทธิ 43,617 ล้านบาท ลดลงจากไตรมาส 1 ปี 2562 จำนวน 10,657 ล้านบาท หรือร้อยละ 20 จากราคาขายปรับตัวลดลงร้อยละ 14 ตามราคาน้ำมันดิบที่ปรับตัวลดลง และปริมาณขายปรับตัวลดลงร้อยละ 6 โดยโรงกลั่นน้ำมันใช้อัตราการกลั่นอยู่ที่ 188,000 บาร์เรลต่อวัน ลดลงร้อยละ 6 ทั้งนี้ หน่วยกำจัดกำมะถัน (Hyvahl) ของโรงงาน RDCC หยุดผลิตตามแผนเพื่อเปลี่ยนตัวเร่งปฏิกิริยา (Catalyst) เป็นเวลา 27 วัน
บริษัทฯ มีกำไรขั้นต้นจากการผลิตตามราคาตลาด (Market GIM) อยู่ที่ 3,665 ล้านบาท หรือ 6.82 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล เทียบกับช่วงเดียวกันปี 62 ลดลง 1,293 ล้านบาท เนื่องจากส่วนต่างราคาผลิตภัณฑ์ทั้งกลุ่มปิโตรเลียมและปิโตรเคมี ปรับตัวลดลงจากผลกระทบต่อเนื่องของสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน รวมถึงผลกระทบของการแพร่ระบาดจากโรคไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ทำให้บริษัทมีผลขาดทุนจากสต๊อกน้ำมันสุทธิ 6,811 ล้านบาท ประกอบด้วยขาดทุนจากสต๊อกน้ำมัน 4,461 ล้านบาท ขาดทุนจากการบันทึกค่าเผื่อการลดลงของสินค้าคงเหลือ (LCM) 2,673 ล้านบาท และกำไรจากการทำสัญญาป้องกันความเสี่ยงของราคาน้ำมันดิบและผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม (Oil Hedging) 323 ล้านบาท เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ที่มีกำไรจากสต๊อกน้ำมันสุทธิ 720 ล้านบาท
ส่งผลให้บริษัทฯ มีผลขาดทุนขั้นต้นจากการผลิตทางบัญชี (Accounting GIM) จำนวน 3,146 ล้านบาท หรือ 5.84 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล กำไรลดลง 8,824 ล้านบาท รายได้อื่นๆ มีจำนวน 439 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 4 ค่าใช้จ่ายดาเนินงานมีจำนวน 3,395 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 1 โดยบริษัทมีผลขาดทุนก่อนดอกเบี้ย ภาษีและค่าเสื่อมราคา (EBITDA) จำนวน 6,436 ล้านบาท กำไรลดลง 8.791 ล้านบาท เทียบกับไตรมาส1/62
ในไตรมาส 1/63 บริษัทฯ มีค่าเสื่อมราคา 2,227 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 211 ล้านบาท หรือร้อยละ 10 จากโครงการ ปรับปรุงและขยายงานที่แล้วเสร็จ เช่น โครงการ Catalyst Cooler ต้นทุนทางการเงินสุทธิจำนวน 464 ล้านบาท ลดลง ร้อยละ 2 และมีขาดทุนจากการทำสัญญาอนุพันธ์ทางการเงิน 558 ล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากการบันทึกขาดทุนที่เกิดขึ้นจริงของสัญญาแลกเปลี่ยนเงินต้นสกุลเงินบาทเป็นสกุลเงินเหรียญสหรัฐฯ (CCS) จำนวน 346 ล้านบาท และบันทึกขาดทุนจากการทำสัญญาแลกเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ยที่ยังไม่เกิดขึ้นจริง (IRS) จำนวน 217 ล้านบาท บริษัทบันทึกขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนจำนวน 500 ล้านบาท เทียบกับไตรมาส 1/62 ที่มีกำไรอยู่ที่ 127 ล้านบาท เนื่องจากค่าเงินบาทอ่อนค่า และบันทึกขาดทุนจาก Oil Hedging ที่ยังไม่เกิดขึ้นจริง (ตาม TFRS 9) จำนวน 993 ล้าน
สำหรับสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบในไตรมาส 2 ปีนี้ คาดว่ายังทรงตัวในระดับต่ำต่อเนื่องจากสิ้นไตรมาส 1 จะเป็นปัจจัยบวกส่งผลให้ต้นทุนทางการผลิตลดลง จากการได้รับประโยชน์จากราคาประกาศของ Saudi Aramco ที่มีส่วนลด (discount)ประมาณ 7 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ในเดือนพฤษภาคม ซึ่งในปัจจุบันสัดส่วนน้ำมันดิบที่ IRPC สั่งซื้อมาจาก Saudi Aramco มีประมาณร้อยละ 40 ของปริมาณการสั่งซื้อน้ำมันดิบทั้งหมด บริษัทฯ ได้มีการการบริหารต้นทุน และประสิทธิภาพการผลิตอย่างเคร่งครัด ทั้งนี้ เพื่อให้มั่นใจว่าบริษัทจะมีสภาพคล่องเพียงพอในการดำเนินธุรกิจท่ามกลางสถานการณ์ปัจจุบัน