ความขัดแย้ง “รัสเซีย-OPEC” กระทบราคาน้ำมัน ส่งผลต่อธุรกิจโรงกลั่น เหตุราคาน้ำมันสำเร็จรูปมีแนวโน้มตกต่ำ มีโอกาสบันทึกขาดทุนสต๊อก เพราะราคาปรับลงแรงและอุปสงค์น้ำมันซบเซาจากการระบาดใหญ่ทั่วโลกของเชื้อไวรัสโควิด-19 คาดผลการดำเนินงานผู้ประกอบการโรงกลั่นจะอ่อนแอครึ่งแรกปีนี้โดยเฉพาะไตรมาสแรก”
สืบเนื่องจากวิกฤตความขัดแย้งที่ปะทุลุกลามบานปลายกลายเป็นวิกฤตต่อกลุ่มผู้ประกอบการน้ำมันทั่วโลก โดยตั้งแต่วันที่ 10 มี.ค. 2563 ที่ผ่านมาบริษัทจดทะเบียนยักษ์ใหญ่ด้านการกลั่นและน้ำมันอย่าง Saudi Aramco แห่งประเทศซาอุดีอาระเบีย ประกาศจะเพิ่มเพดานการผลิตน้ำมันในเดือนเมษายนขึ้นแตะ 12.7 ล้านบาร์เรลต่อวัน หรือเพิ่มขึ้นถึง 27% ซึ่งจากการกระทำดังกล่าว นักวิเคราะห์เศรษฐกิจและการลงทุนหลายสำนักให้ความเห็นที่สอดคล้องกันว่า เป็นการตัดริบบิ้นเพื่อประกาศสงครามราคาการค้าในธุรกิจน้ำมันกับประเทศรัสเซีย เพื่อตอบโต้สวนกลับต่อการกระทำของรัสเซียที่ปฏิเสธข้อเสนอการปรับลดกำลังการผลิตน้ำมันลงมาที่ 1.5 ล้านบาร์เรล/วัน ของตน โดยฝั่งรัสเซียชี้แจงต่อ OPEC ว่า ข้อเสนอในการปรับลดกำลังการผลิตดังกล่าวเป็นเพราะต้องการที่จะเอื้อผลประโยชน์ให้แก่กลุ่มอุตสาหกรรมน้ำมันในสหรัฐอเมริกา
ความขัดแย้ง “รัสเซีย-OPEC” กระทบน้ำมัน
ศิวาลัย ขันธะชวนะ ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจ หรือ EIC แห่งธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ให้มุมมองถึงปมร้อนของความขัดแย้งดังกล่าวที่ส่งผลกระทบต่อธุรกิจน้ำมันทั่วโลกหลังรัสเซียฉีกสัญญาลดกำลังการผลิตกับ OPEC ว่า จากความขัดแย้งของรัสเซียและ OPEC เกิดขึ้นในการประชุมของกลุ่ม OPEC+1 ครั้งก่อนเมื่อเดือนมีนาคม 2563 โดยรัสเซียไม่ยอมรับข้อตกลงที่กำหนดให้ OPEC+ ลดปริมาณการผลิตน้ำมันลงอีกรวม 1.5 ล้านบาร์เรล/วัน เนื่องจากรัสเซียต้องการรักษาส่วนแบ่งการตลาด ส่งผลให้ซาอุดีอาระเบียประกาศสงครามราคาน้ำมัน ทำให้รัสเซียไม่ยอมรับข้อตกลงที่ให้ประเทศกลุ่ม OPEC ลดปริมาณการผลิตน้ำมันลงจำนวน 1 ล้านบาร์เรล/วัน และประเทศพันธมิตรลด 5 แสนบาร์เรล/วัน รวมทั้งสิ้น 1.5 ล้านบาร์เรล/วัน (คิดเป็นสัดส่วน 1.5% ของอุปทานน้ำมันทั่วโลก) จนถึงปลายเดือนมิถุนายน 2563 เนื่องจากต้องการรักษาส่วนแบ่งการตลาด และเห็นว่ากลยุทธ์การลดปริมาณการผลิตน้ำมันของ OPEC+ ที่ทำมาตั้งแต่ปี 2559 เพื่อช่วยพยุงราคา กลับทำให้สหรัฐฯ เพิ่มการขุดเจาะน้ำมันออกมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจากพฤติกรรมดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าไม่ยุติธรรมต่อรัสเซียที่ต้องลดปริมาณการผลิต
นอกจากนี้ การที่โครงการท่อส่งก๊าซ Nord Stream 2 (เส้นทางขนส่งก๊าซจากรัสเซียไปยังเยอรมนีและกระจายต่อไปยังประเทศอื่นในยุโรป ซึ่งจะทำให้รัสเซียมีบทบาทในยุโรปมากขึ้น) นอกจากนี้ การที่บริษัทน้ำมันยักษ์ใหญ่ของรัสเซียอย่าง Rosneft ได้ถูกคว่ำบาตรจากสหรัฐฯ ทำให้รัสเซียเกิดความไม่พอใจอย่างยิ่ง จึงต้องการทำให้ผู้ผลิตน้ำมันสหรัฐฯ ออกไปจากตลาดเมื่อราคาน้ำมันตกต่ำจนการผลิตน้ำมันของสหรัฐฯ ไม่คุ้มทุน ซึ่งราคาน้ำมันที่ปรับลดลงมากกว่า 45-50 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล จะทำให้ผู้ผลิต Shale Oil ของสหรัฐฯ ในแหล่งที่มีต้นทุนสูงเริ่มไม่คุ้มทุนและอาจต้องหยุดการผลิต
อย่างไรก็ดี หลังจากการเจรจาของ OPEC+ ล้มเหลว Saudi Aramco ประกาศลดราคาขายปลีกน้ำมันดิบเดือนเมษายน สำหรับน้ำมันดิบทุกเกรดที่ส่งไปขายยังทุกภูมิภาคของโลก นับเป็นราคาขายต่ำที่สุดในรอบ 20 ปี โดยราคาน้ำมันดิบ Arab Light ที่ส่งไปเอเชีย สหรัฐฯ และยุโรป ได้ลดระดับราคาลงตั้งแต่ 6, 7 และ 8 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล จากราคาเดือนมีนาคม ตามลำดับ ส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบ Brent ในวันที่ 9 มีนาคม 2020 ร่วงลงทันที 29% (DoD) ภายในวันเดียว จาก 45 เหลือ 32 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล ตอบรับ การปะทุของสงครามราคาน้ำมัน
จากการที่ราคาน้ำมันตกต่ำอย่างรุนแรงเนื่องจากสงครามราคาน้ำมัน และการแพร่ระบาดของ COVID-19 ทำให้ความต้องการน้ำมันลดลงเป็นจำนวนมาก ในที่สุด OPEC+ ต้องกลับมาร่วมมือกันลดการผลิตน้ำมันอีกครั้ง แต่ยังเป็นปริมาณที่น้อยกว่าการลดลงของอุปสงค์น้ำมันในการประชุมของกลุ่ม OPEC+ ล่าสุด เมื่อวันที่ 9 เมษายน 2020 ประเทศสมาชิกมีมติเห็นชอบร่วมกันลดปริมาณการผลิตน้ำมันดิบเป็นจำนวนมากที่สุดเป็นประวัติการณ์ที่ 9.7 ล้านบาร์เรล/วัน (คิดเป็นสัดส่วนราว 10% ของปริมาณการผลิตน้ำมันดิบทั่วโลก) ซึ่งจะเริ่มในวันที่ 1 พฤษภาคม 2563
นอกจากนี้ การประชุมของกลุ่ม G20 ในวันถัดมา สหรัฐฯ บราซิล และแคนาคา ตกลงจะลดปริมาณการผลิตน้ำมันที่ระดับ 3.7 ล้านบาร์เรล/วัน เพื่อช่วยกันลดระดับอุปทานน้ำมันส่วนเกินในตลาดลง แต่กระนั้นปริมาณการผลิตที่ลดลงดังกล่าวยังน้อยกว่าปริมาณความต้องการน้ำมันที่ลดลงถึง 30 ล้านบาร์เรล/วัน (คิดเป็น 30% ของความต้องการน้ำมันทั่วโลก) อันเนื่องมาจาก COVID-19 ที่ทำให้ประเทศต่างๆ ต้องปิดประเทศเพื่อยับยั้งการแพร่ระบาด เช่น สายการบินลดความถี่ หรือยกเลิกเที่ยวบิน, ผู้คนกักตัว, ทำงานที่บ้าน สะท้อนผลที่ตามมาคือ การค้าขายในประเทศและการส่งออกที่ทยอยซบเซามากขึ้นในช่วงเวลาดังกล่าว เนื่องจากกำลังซื้อได้มีการชะลอตัวลง ส่งผลกระทบต่อความต้องการใช้น้ำมันสำเร็จรูป อย่างเช่นน้ำมันเชื้อเพลิงเพื่ออากาศยานและน้ำมันเชื้อเพลิงในอุตสาหกรรมยานยนต์และขนส่ง เช่น เบนซิน และดีเซล
อย่างไรก็ดี ข้อตกลงการลดปริมาณการผลิตน้ำมันจาก OPEC+ และ G20 จึงไม่ได้ช่วยให้ราคาน้ำมันดิบปรับระดับสูงขึ้นแต่กลับทำให้ราคาน้ำมันลดลง เพราะตลาดค่อนข้างผิดหวังกับข้อตกลงที่ลดการผลิตน้ำมันน้อยเกินไป โดยราคาน้ำมันดิบ Brent วันที่ 16 เมษายน 2563 อยู่ที่ 22.3 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล ลดลง 15% ภายใน 1 สัปดาห์นับจากวันที่มีการประชุม OPEC+ ครั้งล่าสุด ซึ่งจากสถานการณ์ดังกล่าวกลับกลายเป็นว่ารัสเซียจำต้องกลับไปลดปริมาณการผลิตน้ำมันตามข้อตกลงเดิมและยังต้องเผชิญกับราคาน้ำมันที่ร่วงลงแรงจากวิกฤตการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 อีก ซึ่งส่งผลกระทบต่อภาระการขาดดุลการคลังของรัสเซียที่มี Fiscal Breakeven 2 อยู่ที่ 50 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล
ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยฯ มองว่าราคาน้ำมันดิบ Brent ปี 2563 น่าจะเคลื่อนไหวในกรอบเฉลี่ยช่วง 35 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล จากปัจจัยพื้นฐาน “อุปสงค์ลด อุปทานล้น” จะกดดันราคาน้ำมันดิบให้อยู่ในระดับต่ำ โดยในไตรมาส 2 ของปี 2563 คาดว่าราคาน้ำมันจะอยู่ที่ระดับต่ำสุดของปีเฉลี่ยที่ 20-25 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล จากความต้องการน้ำมันที่ลดลงเป็นจำนวนมาก สำหรับช่วงครึ่งปีหลังของปี 2563 คาดว่าราคาน้ำมันเริ่มปรับระดับสูงขึ้นได้ตามลำดับมาอยู่ที่เฉลี่ย 30-35 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล จากสมมติฐานสถานการณ์ COVID-19 ที่เริ่มควบคุมได้ทำให้ความต้องการน้ำมันกลับมาขยายตัวสูงขึ้น ในขณะเดียวกันราคาน้ำมันที่ยังอยู่ในระดับต่ำจะทำให้ผู้ผลิตบางรายที่มีต้นทุนสูงอย่างสหรัฐฯ ประสบภาวะขาดทุนไม่สามารถดำเนินการผลิตต่อได้ ทำให้การเพิ่มขึ้นของอุปทานน้ำมันชะลอลง
“ราคาน้ำมันดิบที่ปรับลดลงจะส่งผลกระทบต่อรายได้ของอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับน้ำมัน สำหรับธุรกิจพลังงานทดแทนและรถยนต์ไฟฟ้าจะมีความสามารถในการแข่งขันลดลง ขณะที่อุตสาหกรรมโลจิสติกส์จะได้รับอานิสงส์จากการประหยัดต้นทุนเชื้อเพลิง รายได้ของธุรกิจต้นน้ำอย่างบริษัทสำรวจและผลิตน้ำมันมีแนวโน้มลดลงจากปัจจัยด้านราคา สำหรับธุรกิจโรงกลั่นและปิโตรเคมีได้รับผลกระทบจากมูลค่าสินค้าคงคลังที่ลดลง (Stock Loss) แต่ในระยะสั้นค่าการกลั่น (Gross Refining Margin) และ Spread ของผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีอาจไม่ได้รับผลกระทบจากการลดลงของราคาน้ำมันดิบมากนัก เนื่องจากราคาสินค้าผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมและปิโตรเคมีลดลงช้ากว่าต้นทุน Feedstock”
ทั้งนี้ ค่าการกลั่น และ spread จะถูกกดดันจากความต้องการใช้น้ำมันและผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีที่ชะลอลงจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 และเศรษฐกิจซบเซา นอกจากนี้ ธุรกิจพลังงานทดแทน และรถยนต์ไฟฟ้าจะมีความสามารถในการแข่งขันลดลงเนื่องจากราคาน้ำมันถูก สำหรับราคาน้ำมันดิบที่ปรับลดลงจะส่งผลดีต่ออุตสาหกรรมโลจิสติกส์ที่มีต้นทุนน้ำมันเป็นสัดส่วนใหญ่ เช่น สายการบิน รถบรรทุก เรือบรรทุกสินค้าสามารถประหยัดต้นทุนค่าเชื้อเพลิงได้มากขึ้น แต่รายได้ของกลุ่มนี้จะได้รับผลกระทบรุนแรงจาก Demand ที่ลดลงเนื่องจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 เช่นกัน
ดังนั้น ข้อตกลงการลดปริมาณการผลิตน้ำมันจาก OPEC+ และ G20 จึงไม่ได้ช่วยให้ราคาน้ำมันดิบปรับระดับสูงขึ้น แต่กลับทำให้ราคาน้ำมันลดลงเพราะตลาดค่อนข้างผิดหวังกับข้อตกลงที่ลดการผลิตน้ำมันน้อยเกินไป โดยราคาน้ำมันดิบ Brent วันที่ 16 เมษายน 2020 อยู่ที่ 22.3 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล ลดลง 15% ภายใน 1 สัปดาห์นับจากวันที่มีการประชุม OPEC+ ครั้งล่าสุด และราคาน้ำมันดิบ Brent ล่าสุดเมื่อวันที่ 27 เมษายน 2020 ร่วงลงต่อมาอยู่ที่ 19 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล เนื่องจาก stock น้ำมันเพิ่มสูงขึ้นมากและคลังเก็บน้ำมันทั่วโลกใกล้จะเต็ม สถานการณ์กลายเป็นว่ารัสเซียต้องลดปริมาณการผลิตน้ำมันตามข้อตกลงและยังต้องเผชิญกับราคาน้ำมันที่ร่วงลงแรงอีก ซึ่งส่งผลกระทบต่อภาระการขาดดุลการคลังของรัสเซียที่มี fiscal breakeven2 อยู่ที่ 50 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล
ราคาน้ำมันทรุด ส่งผลต่ออุปสงค์ครึ่งหลังปีนี้
ชัยพัชร ธนวัฒโน นักวิเคราะห์การลงทุนปัจจัยพื้นฐาน ด้านหลักทรัพย์ บล.ไทยพาณิชย์ หรือ SCBS ให้มุมมองต่อวิกฤตกลุ่มธุรกิจน้ำมันขณะนี้ว่า จากเหตุการณที่เกิดขึ้นข้างต้น ราคาหุ้นโรงกลั่นน้ำมันไทยร่วงลงเฉลี่ย 29% ในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา จากการคาดการณ์ว่าจะมีขาดทุนสต๊อกน้ำมันจำนวนมากเพราะราคาน้ำมันปรับตัวลงแรง และอุปสงค์น้ำมันซบเซาจากการระบาดใหญ่ทั่วโลกของเชื้อไวรัสโควิด-19 ผลการดำเนินงานของผู้ประกอบการโรงกลั่นน้ำมันจะอ่อนแอต่อเนื่องอย่างน้อยในครึ่งแรกปีนี้ โดยเฉพาะในไตรมาสแรกนี้ ซึ่งเป็นไตรมาสที่จะต้องบันทึกขาดทุนสต๊อกจำนวนมาก โดยอิงกับสมมติฐานของ SCBS ว่าจะสามารถควบคุมการระบาดของโควิด-19 ได้ภายในเดือน ก.ค. ทำให้มองว่าแนวโน้มที่จะปรับประมาณการกำไรปี 2563 ของผู้ประกอบการโรงกลั่นน้ำมันไทยลดลง โดยส่วนใหญ่เป็นการปรับลงจากกำไรสุทธิสู่ขาดทุนสุทธิ
นอกจากนี้ยังปรับราคาเป้าหมายลดลง 9-50% โดยอิงกับวิธีประเมินมูลค่าที่ยึดหลักอนุรักษนิยมมากขึ้น คือ PBV ในช่วงที่ไม่มีความแน่นอน Top Pick คือ TOP เพราะมีต้นทุนที่สามารถแข่งขันได้และฐานะการเงินแข็งแกร่ง
กระทบผลงานโรงกลั่น
จากการที่ราคาน้ำมันร่วงลงมาแล้วเกือบ 40% นับตั้งแต่การเจรจาลดการผลิตของโอเปกเมื่อวันที่ 6 มี.ค. ล้มเหลว และลดลง 60% YTD สถานการณ์เช่นนี้จะทำให้ผู้ประกอบการโรงกลั่นน้ำมันได้รับผลกระทบระยะสั้นจากขาดทุน สต๊อกน้ำมัน
โดยราคาน้ำมัน ณ สิ้นปี 2562 อยู่ที่ 65-66 เหรียญต่อบาร์เรล ณ ราคาปัจจุบันที่ 27 เหรียญต่อบาร์เรล ขาดทุนสต๊อกน้ำมันจะอยู่ที่ 13 เหรียญต่อบาร์เรล ในไตรมาสแรกของปีนี้ สูงกว่า GRM เฉลี่ยระดับต่ำในปัจจุบันที่ 1 เหรียญต่อบาร์เรลอย่างมาก แม้เชื่อว่าราคาน้ำมันที่ลดลงจะกระตุ้นให้อุปสงค์ปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะน้ำมันเบนซิน เพราะอ่อนไหวต่อการเคลื่อนไหวของราคามากกว่าผลิตภัณฑ์ Middle Distillate และมีความสัมพันธ์กับเศรษฐกิจและปริมาณจราจรทางอากาศมากกว่า แต่ผลกระทบของโควิด-19 จะทำให้อุปสงค์ในช่วงนี้ชะลอตัวลง
“เรามองว่าผลกระทบของราคาน้ำมันที่ลดลงต่ออุปสงค์จะมีให้เห็นในครึ่งหลังของปีนี้ ถ้าราคาน้ำมันยังอยู่ในระดับต่ำ อุปสงค์ต่ำเท่ากับค่าการกลั่นอ่อนแอ ค่าการกลั่นอ้างอิงตลาดสิงคโปร์โดยเฉลี่ยปรับตัวลดลงอีก 20% จากไตรมาสก่อนสู่ 0.92 เหรียญต่อบาร์เรล ในไตรมาสที่ 1/63 โดยเกิดจาก Crack Spread ที่แคบลงของผลิตภัณฑ์ที่สำคัญทั้งหมด หลักๆ เป็นเชื้อเพลิงที่ใช้ในการขนส่ง คือ น้ำมันเบนซินและน้ำมันเครื่องบิน แม้ Crack Spread ของน้ำมันเตาที่สร้างแรงกดดันต่อค่าการกลั่นอย่างหนักในไตรมาส 4/62 ปรับตัวดีขึ้นมากเทียบระหว่างไตรมาสต่อไตรมาส สาเหตุมาจากการขนส่งที่ลดลงทั่วโลก เนื่องจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 ผลักดันให้ประเทศที่ได้รับผลกระทบประกาศปิดประเทศ”
ขณะเดียวกัน แนวโน้มที่อ่อนแอของค่าการกลั่นจะเกิดขึ้นต่อเนื่องในไตรมาส 2/63 เนื่องจากประเทศผู้บริโภคน้ำมันรายใหญ่ คือ สหรัฐฯ และอินเดีย ยังคงใช้มาตรการปิดประเทศเพื่อควบคุมการแพร่ระบาด ส่งผลต่อปัจจัยสนับสนุนค่าการกลั่นในไตรมาส 2/63 คือ การหยุดซ่อมบำรุงโรงกลั่นทั่วโลก ซึ่งโดยปกติแล้วจะเกิดขึ้นมากที่สุดไตรมาสที่ 2 นอกจากนี้ การที่อุปสงค์ที่อ่อนแอผิดปกติในปีนี้มีแนวโน้มที่จะกระตุ้นให้ผู้ประกอบการโรงกลั่นน้ำมันลดปริมาณน้ำมันดิบนำเข้ากลั่นลง หรือขยายระยะเวลาซ่อมบำรุงประจำปีเพื่อลดแรงกดดันในตลาดส่วนต่างที่แคบลงระหว่างราคาน้ำมันดิบที่มีกำมะถันต่ำกับราคาน้ำมันดิบที่มีกำมะถันสูงจะส่งผลดีต่อผู้ประกอบการโรงกลั่นน้ำมันไทย ซึ่งต้องการผลิตน้ำมันเตากำมะถันต่ำเพื่อสนับสนุนค่าการกลั่นโดยรวม
ปรับลดประมาณการกำไรและราคาเป้าหมาย
จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น SCBS จึงปรับประมาณการกำไรของผู้ประกอบการโรงกลั่นน้ำมันลงค่อนข้างมากเพื่อสะท้อนการคาดการณ์ว่าจะมีขาดทุนสต๊อกน้ำมันจำนวนมากและอุปสงค์น้ำมันกับค่าการกลั่นที่อ่อนแอ ขณะเดียวกัน ประมาณการกำไรของบริษัทผู้ประกอบการยังมีความเสี่ยง Downside โดยหากวิเคราะห์จาก PBV ที่ 0.8 เท่าในการประเมินมูลค่าของบริษัทเหล่านี้ซึ่งกำลังเผชิญกับสถานการณ์ท้าทายที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน
โดยมองว่า TOP เป็น Top Pick ของกลุ่มโรงกลั่นน้ำมัน แม้ราคาหุ้นปรับตัวลดลงมาแล้ว 28% นับตั้งแต่ราคาน้ำมันร่วงแรง แต่หุ้น TOP ปรับตัว Outperform หุ้นโรงกลั่นน้ำมันตัวอื่นๆ ที่ลดลง 32-37% ซึ่งช่วยยืนยันมุมมองเชิงบวกที่ตลาดมีต่อ TOP เกี่ยวกับความสามารถในการแข่งขันด้านต้นทุนและฐานะการเงินที่แข็งแกร่ง ผลการดำเนินงานของ TOP จะได้รับความคุ้มครองจากต้นทุนการดำเนินงานที่สามารถแข่งขันได้และกระแสเงินสดที่สม่ำเสมอจากธุรกิจโรงไฟฟ้า เชื่อว่า TOP จะ Outperform หุ้นโรงกลั่นน้ำมันตัวอื่นๆ เมื่อ Sentiment ตลาดต่อหุ้นที่เกี่ยวข้องกับสินค้าโภคภัณฑ์ปรับตัวดีขึ้นหลังจากสามารถควบคุมสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ได้
"TOP" อาจขาดทุน Q1 แตะ 1.57 หมื่นล้านบาท
ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.เอเชีย เวลท์ มองว่า ผลประกอบการหุ้นกลุ่มน้ำมันและโรงกลั่นในไตรมาสแรกปีนี้จะมีผลขาดทุนสุทธิถึง 15,700 ล้านบาท โดยพลิกจากกำไรสุทธิ 4.4 พันล้านบาท เทียบกับช่วงเดียวกัน คือไตรมาส 1/62 และกำไรสุทธิที่ 1.98 พันล้านบาท ช่วงไตรมาส 4/62 ซึ่งปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อผลประกอบการมาจาก 1. การรับรู้ Stock loss (รวม NRV) ที่มากถึง 1.3 หมื่นล้านบาท จากราคาน้ำมันดิบที่ปรับลดลง (2) การรับรู้ผลขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยน 2.45 พันล้านบาท ตามทิศทางของค่าเงินบาทที่อ่อนค่า และ (3) การดำเนินงานปกติได้รับผลกระทบจากค่าการกลั่น และส่วนต่างราคาผลิตภัณฑ์ที่ลดลง คาดบริษัทจะมี Market GIM อยู่ที่ 2.6 เหรียญต่อบาร์เรล โดย Margin ของกลุ่มธุรกิจหลักมองว่าบริษัทจะมีค่าการกลั่นไตรมาสแรกปีนี้อยู่ที่ 0.5 เหรียญต่อบาร์เรล ลดลงจาก 3.0 และ 2.7 เหรียญต่อบาร์เรล ในช่วงไตรมาส 1/62 และไตรมาส 4/62
โดยมีอัตราการกลั่นอยู่ที่ 111% ด้านธุรกิจอะโรเมติกส์ บริษัทมี Margin อยู่ที่ 1.6 เหรียญต่อบาร์เรล เพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัวจากไตรมาส 4/62 ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการฟื้นตัวของส่วนต่างราคาผลิตภัณฑ์ โดยในช่วงไตรมาส 1/63 บริษัทมีส่วนต่างพาราไซลีนและเบนซีนเพิ่มขึ้น 34% และ 278% จากไตรมาสก่อนตามลำดับ เป็นผลมาจากต้นทุนผลิต (ULG95) ที่ลดลง โดยบริษัทมีอัตราผลิตอยู่ที่ 80%
แนวโน้ม Q 2/63 ฟื้นตัว-รับรู้ Stock Loss ลด
ประเมินว่าผลประกอบการไตรมาส 1/63 จะเป็นจุดต่ำสุดของปี 2563 โดยในไตรมาส 2/63 มองว่าผลประกอบการจะฟื้นตัวจากไตรมาสก่อน เนื่องจากไม่มีการรับรู้ Stock Loss มากเหมือนไตรมาส 1/63 ที่ผ่านมาและการกลับรายการ NRV ด้านธุรกิจโรงกลั่น ซึ่งคาดหมายจะเห็นการฟื้นตัวของค่าการกลั่นจาก Crude Premium ที่ลดลง โดยปัจจุบัน Crude Premium (Arab Light) เฉลี่ยประมาณการไตรมาส 2/63 อยู่ที่ -5.2 เหรียญต่อบาร์เรล เทียบกับไตรมาส 1/63 ที่ 3.43 เหรียญต่อบาร์เรล
อย่างไรก็ตาม Demand ในประเทศที่ปรับลดลงจากมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของ Covid-19 ของภาครัฐฯ กระทบ Demand การใช้น้ำมันในประเทศ โดยเฉพาะน้ำมันเครื่องบินจากการประกาศหยุดบินของสายการบินในประเทศ ทำให้บริษัทมีแผนลดกำลังผลิตช่วงไตรมาส 2/63 อยู่ที่ 90%-95%
ดังนั้น จึงปรับลดผลประกอบการ บมจ.ไทยออยล์ หรือ TOP ปี 2563 เหลือ 3.3 พันล้านบาท ลดลง 47% เทียบปีก่อน โดยคาดว่าบริษัทฯ จะมีอัตราการกลั่นอยู่ที่ 95% จาก Demand ในประเทศที่ชะลอตัว โดยเฉพาะกลุ่มน้ำมันเบนซิน และน้ำมันอากาศยาน บนสมมติฐานค่าการกลั่น Market GRM และ Market GIM อยู่ที่ 2.2 และ 4.5 เหรียญต่อบาร์เรล นอกจากนี้คาดว่าสถานการณ์ Covid-19 จะกลับมาฟื้นตัวในช่วงครึ่งหลังของปี 63
ทั้งนี้ มองว่าราคาหุ้น TOP ที่ปรับลดลงกว่า 48% ในรอบ 3 เดือน สะท้อนความกังวลต่อภาพรวมผลประกอบการไตรมาส 1/63 ที่ได้รับกระทบจากราคาน้ำมันดิบ และค่าการกลั่นที่ลดลง ขณะที่ปัจจัยสนับสนุนการลงทุนระยะสั้นมาจากการประกาศปรับลดราคาส่งออกน้ำมันของซาอุฯ ครั้งที่ 2 ในรอบ 3 เดือน ส่งผลให้โรงกลั่นในประเทศมีต้นทุนกลั่นที่ลดลง อย่างไรก็ดี การปรับลดราคาเป้าหมายให้สอดคล้องกับประมาณการผลประกอบการใหม่ โดยราคาเป้าหมายใหม่อยู่ที่ 48 บาท (ประเมินจาก EV/EBITDA) โดยราคาเป้าหมายใหม่เทียบเท่ากับ 0.8xPBV
กลุ่มโรงกลั่น-น้ำมัน Q1 อาจขาดทุนกว่า 2.52 หมื่นล้านบาท
บล.ทิสโก้ เปิดเผยในบทวิเคราะห์หุ้นกลุ่มพลังงาน โดยประเมินว่าหุ้นกลุ่มโรงกลั่นและน้ำมันที่จะรายงานผลประกอบการไตรมาส 1/63 อาจขาดทุนจากผลการดำเนินงานที่อ่อนแอลงอย่างมีนัยสำคัญ ทั้งจากผลขาดทุนในสต๊อกและอัตราแลกเปลี่ยน ขณะเดียวกัน ราคาน้ำมันดิบดูไบปรับตัวลดลงกว่า 30 ดอลลาร์/บาร์เรล และค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลงเกือบ 3 บาท นับจากไตรมาส 4/62 ทำให้ผลประกอบการจะพลิกมาขาดทุนมากถึง 2.52 หมื่นล้านบาท โดยมองว่าหุ้นกลุ่มโรงกลั่นถึงจุดต่ำสุดแล้ว
ทั้งนี้ ภาพรวมจากผลกระทบที่เกิดขึ้นจะเห็นได้ว่าหุ้นกลุ่มโรงกลั่นจะได้รับผลกระทบสูงสุดในไตรมาส 1/63 โดยเฉพาะ TOP จะมีผลขาดทุนสูงสุดในกลุ่ม เนื่องจากปริมาณสต๊อกที่สูง, การดำเนินงานที่ต่ำ และพรีเมียมของน้ำมันดิบที่ลดลง 1.9 ดอลลาร์ จากไตรมาสก่อน แต่การดำเนินงานหลักจะดีขึ้นตามฤดูกาล จากค่าใช้จ่ายที่ลดลง และคาดว่าผลประกอบการจะกลับมาฟื้นตัวขึ้นใน1/63 จากผลขาดทุนในสต๊อกที่หายไป