xs
xsm
sm
md
lg

ตลาดหุ้น พ.ค.เตรียมรับมือความผันผวน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



บล.เอเซีย พลัสเปิดกลยุทธ์ลงทุนหุ้นเดือน พ.ค. เตือนเตรียมรับมือความผันผวน เหตุตัวเลข ศก. สะท้อนถึงผลกระทบจาก COVID-19 ชัดเจนขึ้น ขณะที่ Fund Flow จากนักลงทุนต่างชาติและสถาบันเริ่มแผ่ว ทำให้มูลค่าตลาดเริ่มตึงตัว แย้มมีโอกาสปรับกำไรต่อหุ้นปีนี้ลงอีกเป็นรอบที่ 4 หากกำไร บจ.โค้งแรกหดตัวแรง แนะนำลงทุนหุ้นปันผล RATCH, DCC, KBANK และหุ้นผลประกอบการโดดเด่น STA, IVL, COM7

ฝ่ายวิจัย บล.เอเซีย พลัสเปิดเผยถึงกลยุทธ์การลงทุนประจำเดือนพฤษภาคมนี้ ระบุว่า ขณะนี้ผลกระทบไวรัส COVID-19 ส่งผ่านไปถึงภาคเศรษฐกิจต่างๆ อย่างชัดเจน สะท้อนผ่านราคาสินค้าโภคภัณฑ์ โดยเฉพาะราคาน้ำมันดิบปรับฐานแรงเกือบ 70%ytd แกว่งตัวต่ำกว่า 20 เหรียญต่อบาร์เรล (ต่ำสุดในรอบ 21 ปี) เนื่องจากการระบาดทำให้หลายประเทศ Lockdown ฉุดรั้งความต้องการใช้น้ำมันโลก โดย IEA คาด Demand น้ำมันดิบโลกเดือน เม.ย.จะหายไป 30 ล้านบาร์เรล/วัน ขณะที่ฝั่ง Supply น้ำมันยังเผชิญกับปัญหาอุปทานส่วนเกิน แม้มติที่ประชุม OPEC และนอกกลุ่ม OPEC จะทยอยตัดการผลิตในเดือน พ.ค. 2563 ลงราว 15 ล้านบาร์เรล/วัน แต่ก็ไม่สามารถหักล้าง Demand ที่ลดลงแรงมากกว่าได้

ASPS ประเมินว่าจะกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (Oil exporter) โดยเฉพาะประเทศในแถบตะวันออกกลางที่พึ่งพารายได้จากการผลิตน้ำมันเกิน 50% ของ GDP และสหรัฐฯ ซึ่งเป็นผู้ผลิตน้ำมันจาก Shale oil ส่วนไทยคาดกระทบผ่านส่งออกสินค้าที่เกี่ยวข้องกับน้ำมัน เช่น น้ำมันสำเร็จรูป, เคมีภัณฑ์ ฯลฯ ราว 10% ของการส่งออกไทย

ส่วนดัชนีชี้นำภาคการผลิตและบริการ เช่น สหรัฐฯ, ยุโรป และญี่ปุ่น ชะลอตัวลงค่อนข้างแรงเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า (%mom) โดยเป็นที่สังเกตว่าดัชนี PMI ภาคบริการลดลงในอัตราที่มากกว่าดัชนี PMI ภาคการผลิต คือเดือน เม.ย. 2563 ดัชนี PMI ภาคบริการลดลงเฉลี่ย 40%mom ขณะที่ดัชนี PMI ภาคการผลิตลดลงเฉลี่ย 17%mom เนื่องจากมาตรการควบคุม COVID-19 ทำให้เกิดการเว้นระยะห่างทางสังคม (Social distancing) กระทบภาคบริการมากกว่า ฯลฯ

ส่วนในประเทศ แม้สถานการณ์ COVID-19 ดีขึ้น แต่ พ.ร.ก.ฉุกเฉินยังอยู่ โดยมีการผ่อนคลายข้อจำกัด เพื่อให้บางธุรกิจเริ่มทยอยกลับมาดำเนินการได้

Fund Flow มีแนวโน้มไหลออกต่อเนื่องเดือน พ.ค.-แรงซื้อแผ่ว


บทวิจัยเอเซีย พลัสระบุว่า นักลงทุนสถาบันฯ รับมือ Sell in May ได้แค่ไหนนับตั้งแต่ต้นปี 2563 ถึงปัจจุบัน เม็ดเงินต่างชาติทยอยไหลออกจากตลาดหุ้นในภูมิภาคสูงถึง 4.2 หมื่นล้านเหรียญ (ytd) โดย เป็นการขายสุทธิทุกประเทศ เริ่มจากไต้หวันถูกขายสุทธิกว่า 1.7 หมื่นล้านเหรียญ เกาหลีใต้ 1.7 หมื่นล้านเหรียญ ตามด้วยอินโดนีเซีย 1,204 ล้านเหรียญ ฟิลิปปินส์ 934 ล้านเหรียญ และไทยที่ยังคงขายสุทธิต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 กว่า 5.0 พันล้านเหรียญ หรือ 1.6 แสนล้านบาท เป็นต้น

และหากพิจารณาเฉพาะตลาดหุ้นไทย พบว่านักลงทุนต่างชาติยังลังเลการลงทุน ทั้งตลาดตราสารหนี้ และตลาดหุ้น ต่างชาติขายสุทธิกว่า 9.3 หมื่นล้านบาท (ytd) และ 1.04 แสนล้านบาท (ytd) ตามลำดับ ซึ่งเป็นแรงขายที่สูงเกินกว่าครึ่งหนึ่งของยอดขายทั้งปี 2561 ที่ต่างชาติขายสุทธิมากสุทธิเป็นประวัติการณ์กว่า 2.82 แสนล้านบาท

ส่วนแนวโน้ม Fund Flow ในเดือน พ.ค. 2563 ยังมีแนวโน้มที่จะไหลออกอย่างต่อเนื่องจากปัญหาการระบาดของไวรัส COVID-19 ในไทยที่ยังไม่นิ่ง รวมถึงเดือน พ.ค.มักเป็นเดือนที่เม็ดเงินลงทุนต่างชาติไหลออกจากหุ้นไทยมากที่สุดเฉลี่ยสูงถึง 1.65 หมื่นล้านบาท เนื่องจากเดือน พ.ค.เป็นช่วงที่ตลาดหุ้นไทยขึ้นเครื่องหมาย XD และจ่ายปันผลงบปี 2562 เกือบหมดแล้วกว่า 408 ใน 488 บริษัท (คิดเป็น 83% ของบริษัทที่ประกาศจ่ายปันผล) ทำให้นักลงทุนมีการโยกเงินกลับประเทศบางส่วน รวมถึงก่อนขึ้นเครื่องหมาย XD ยังได้มีการเก็งกำไรหุ้นแล้ว จึงไม่มีแรงซื้อที่เข้ามาหนุนตลาดเหมือนกับเดือนที่ผ่านๆ มา เปรียบเทียบจำนวนบริษัทที่จ่ายปันผลงวดปี

ขณะที่แรงซื้อจากนักลงทุนสถาบันฯ ที่เคยพยุงตลาดเสมอมา (ซื้อสุทธิ 4.5 หมื่นล้านบาท ytd) เริ่มชะลอลงในช่วงท้ายๆ ของเดือน เม.ย. 2563 จึงมีโอกาสรับมือ Sell in May ได้จำกัด เนื่องจากข้อมูลกองทุนรวมเพื่อส่งเสริมการออมระยะยาวเงื่อนไขพิเศษ (SSFX) ทั้งหมด 15 กองทุน ที่มีการอัปเดตข้อมูลกับทาง ตลาดหลักทรัพย์ ณ วันที่ 24 เม.ย. 2563 พบว่ายังไม่ได้รับการตอบรับจากนักลงทุนเท่าที่ควร เนื่องจากมียอดซื้อสะสมเพียง 9.5 ร้อยล้านบาทเท่านั้น

อีกทั้งมีข้อจำกัด คือ ต้องมีระยะเวลาการถือครองอย่างน้อย 10 ปีนับจากวันที่ซื้อ นานกว่าเงื่อนไขกองทุน LTF พอสมควร และยังสามารถซื้อได้เฉพาะช่วงเดือน เม.ย.-มิ.ย. 2563 เท่านั้น (ระยะเวลา 3 เดือน) ส่วนในเดือน พ.ค.นี้คาดว่าแรงซื้อกองทุน SSFX มีโอกาสแผ่วเหมือนเดือนที่ผ่านมา เนื่องจากยังเป็นช่วงที่นักลงทุนยังจำเป็นต้องรักษาสภาพคล่องทางการเงินเพื่อรับมือกับปัญหาโควิด รวมถึงดัชนีอยู่ในระดับที่สูงกว่าในเดือนที่ผ่านมามาก

สรุปเดือน พ.ค.ตลาดหุ้นยังมีโอกาสขาดแรงขับเคลื่อนสำคัญทั้งจากนักลงทุนต่างชาติ และนักลงทุนสถาบันฯ ส่วนเม็ดเงินจากกองทุน SSFX อาจไม่ช่วยหนุนตลาดมากอย่างที่นักลงทุนคาดหวัง ส่งผลให้ SET Index มีโอกาสขึ้นได้ค่อนข้างจำกัดในเดือนนี้

กำไร Q1/63 เสี่ยงหดตัวแรง อาจปรับกำไรต่อหุ้นปีนี้ลงรอบที่ 4


บทวิจัยระบุว่า ปัจจุบัน SET Index ฟื้นขึ้นเร็วราวครึ่งทางจากจุดต่ำสุดของปีที่ -39% เหลือ -19%ytd ซึ่งในยามที่ตลาดฯ ไร้ Fund Flow หนุน ต่อจากนี้คงต้องกลับมาให้น้ำหนักในเรื่องผลประกอบการหลัก เนื่องจากเริ่มเข้าสู่ช่วงประกาศ Earning Season งวด 1Q63 เริ่มจาก กลุ่มธนาพาณิชย์ มีกำไรสุทธิในงวด 1Q63 อยู่ที่ 4.4 หมื่นล้านบาท ลดลง 17%yoy เนื่องจากเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ต่อจากนี้เป็นการประกาศใน Real Sector หลายกลุ่มมีโอกาสปรับตัวลงแรงเกินกว่า -40%yoy คือ

กลุ่มโรงกลั่นและปิโตรเคมี ต้องเผชิญกับผลขาดทุนสุทธิ จากการบันทึกขาดทุนจากสต๊อกน้ำมันตามราคาน้ำมันดิบ ณ สิ้นงวด 1Q63 ที่ปรับตัวลดลงจากสิ้นงวด 4Q62 ราว 25-30 เหรียญต่อบาร์เรล รวมถึงค่าเงินบาทที่อ่อนค่ากว่า 2.5 บาท/เหรียญ

กลุ่มขนส่งทางอากาศ คาดลดลงอย่างมีนัยจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ผลกระทบหลักมาจากปริมาณความต้องการเดินทางที่ลดลง โดยเฉพาะช่วงที่มีการระบาดโรค COVID-19 อย่างหนัก สะท้อนจากจำนวนผู้ใช้บริการเส้นทางในประเทศ และเส้นทางต่างประเทศของ AOT ที่ลดลง 35.5%yoy และ 22.7% ตามลำดับ

ขณะที่สายการบินคาดว่าจะพลิกจากกำไรใน 1Q62 มาเป็นขาดทุนทุกราย รวมถึงหุ้นกลุ่มอื่นๆ ที่กำไรมีโอกาสลดลงทั้ง qoq และ yoy เช่นกัน คือ กลุ่มท่องเที่ยว, กลุ่มพลังงาน, กลุ่มอสังหาฯ ฯลฯ

ผลสำรวจเบื้องต้นจากการทำ Earning Preview ทั้งสิ้น 49 บริษัท (สัดส่วน 38% ของ Market Cap ทั้งตลาด) คาดว่าจะเห็นการลดลงของฐานกำไรสุทธิรวมของบริษัทจดทะเบียนอย่างมีนัยสำคัญจากงวด 1Q62 มีกำไรสุทธิรวม 1.20 แสนล้านบาท เหลือ 3.81 หมื่นล้านบาท (ลดลงเกือบ 70%) และต่อให้กำไรงวด 1Q63 ของบริษัทจดทะเบียนที่เหลือเท่ากับงวด 1Q62 จะส่งผลให้ภาพรวมกำไรบริษัทจดทะเบียนงวด 1Q63 อยู่ที่ 1.82 แสนล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนเพียง 23% ประมาณการทั้งปี

ซึ่งปกติแล้วไตรมาสแรกของปีกำไรจะมีสัดส่วนสูงสุดของปีราว 28% ของประมาณการทั้งปี บวกกับไตรมาสที่ 2 ปีนี้น่าจะเป็นจุดต่ำสุดของปี ดังนั้นทำให้ประมาณการกำไรในช่วง Q2-Q4 กว่า 5.98 แสนล้านบาท (สัดส่วน 77%) เป็นเรื่องที่ท้าทายมาก

ดังนั้น หากกำไรงวด 1Q63 หดตัวแรง อาจเปิดความเสี่ยงให้ฝ่ายวิจัยมีโอกาสปรับลดกำไรต่อหุ้นปี 2563 ลงเป็นรอบที่ 4

จัดพอร์ตรับมือตลาดผันผวน แนะหุ้นปันผลสูง ผลประกอบการโดดเด่น


บทวิจัยฯ ระบุว่า ความคาดหวังการกลับมาดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจถูกสะท้อนในตลาดหุ้นไปในระดับหนึ่งแล้ว บวกกับ Valuation ทางพื้นฐานเริ่มตึงตัว ซึ่งกำหนดบนคาดการณ์ EPS ของตลาดปี 2563 ที่ 72.62 บาท/หุ้น (ต่ำกว่า Consensus ที่ 75 บาท/หุ้น) และให้ Market Earning Yield Gap ที่ 5% จะให้ค่า PER เป้าหมายที่ 17.4 เท่า คิดเป็น SET Index เป้าหมายที่ 1,264 จุด เท่ากับว่าที่ระดับ SET Index ปัจจุบันไม่เหลือ Upside ทางพื้นฐานแล้ว

ดังนั้น กลยุทธ์การลงทุนในเดือน พ.ค. 2563 แนะจัดพอร์ตเตรียมรับความผันผวนของตลาด โดยเน้นเลือกลงทุนในหุ้นที่ผันผวนต่ำ ปันผลสูง อย่าง RATCH, KBANK และ DCC หุ้นที่ผลประกอบการโดดเด่นต่อจากนี้ STA, IVL, COM7 ขณะเดียวกันแนะนำหลีกเลี่ยงหุ้น Over Value อย่าง ERW และ DELTA Valuation


กำลังโหลดความคิดเห็น