xs
xsm
sm
md
lg

บล.เอเซีย พลัสมอง SET เดือน พ.ค.มีโอกาสปรับฐาน ให้กรอบ 1,188-1,323 จุด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ASPS มอง SET เดือน พ.ค.มีโอกาสปรับฐาน ให้กรอบ 1,188-1,323 จุด จากความเสี่ยงกำไร บจ.หดตัว-Fund Flow ขายต่อเนื่อง

นายเทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม รองกรรมการผู้อำนวยการ สายงานวิจัย บล.เอเซีย พลัส (ASPS) เปิดเผยถึงทิศทางการลงทุนในเดือน พ.ค. 63 โดยระบุว่า ดัชนี SET Index มีโอกาสสูงที่จะปรับฐาน โดยมองกรอบดัชนีที่ 1,188-1,323 จุด หลังมองมีโอกาส downside มากกว่า upside เนื่องจากยังมีความเสี่ยงจากกำไรบริษัทจดทะเบียน (บจ.) งวดไตรมาส 1/63 หดตัวแรง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นบริษัทขนาดใหญ่ ประกอบกับช่วงไตรมาส 2/63 หลายฝ่ายมองว่ากำไรน่าจะลดลงมากกว่าไตรมาส 1 ดังนั้น จึงมีโอกาสปรับประมาณการผลการดำเนินงานในปีนี้ลงอีก จากเดิมคาดกำไรบริษัทจดทะเบียนที่ 7.8 แสนล้านบาท

นอกจากนี้ ทิศทาง Fund Flow ในช่วงต้นปีถึงปัจจุบันมีแรงขายต่อเนื่องกว่า 1.6 แสนล้านบาท ขณะที่เดือน พ.ค. ซึ่งปกติตลาดหุ้นมักเผชิญกับแรงเทขายหลังจากการจ่ายเงินปันผลเริ่มหมดลง โดยตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบันมีการประกาศจ่ายปันผลแล้ว 408 บริษัท จากทั้งหมด 488 บริษัท เท่ากับว่าเดือน พ.ค.เหลือเพียง 79 บริษัทที่จะมีการจ่ายเงินปันผล ดังนั้น นักลงทุนที่เข้ามาเก็งกำไรเงินปันผลมีโอกาสโยกเงินกลับประเทศ

ขณะที่แรงซื้อจากสถาบันเริ่มลดลงในช่วงที่ผ่านมา และเม็ดเงินลงทุนจากกองทุนรวมเพื่อการออมกองพิเศษ (SSFX) อาจไม่ช่วยหนุนตลาดอย่างที่นักลงทุนคาดหวังมากนัก เนื่องจากมียอดซื้อสะสม ณ 24 เม.ย. 63 น้อยมาก หรือไม่ถึง 1 พันล้านบาท

ส่วน Valuation ทางพื้นฐานเริ่มตึงตัว ซึ่งกำหนดบนคาดการณ์กำไรสุทธิ/หุ้น (EPS) ของตลาดปี 63 ที่ 72.62 บาท/หุ้น (ต่ำกว่า Consensus ที่ 75 บาท/หุ้น) และให้ Market Earning Yield Gap ที่ 5% จะให้ค่า PER เป้าหมายที่ 17.4 เท่า คิดเป็น SET Index เป้าหมายที่ 1,264 จุด เท่ากับว่าที่ระดับ SET Index ปัจจุบันไม่เหลือ Upside ทางพื้นฐานแล้ว แต่หากมีการลดดอกเบี้ยนโยบายอีก 0.25% มีโอกาสขยายได้ 1,321 จุด แต่ท่าทีนโยบายทางการเงินแม้จะผ่อนคลาย แต่คาดว่ายังเน้นอัดฉีดเม็ดเงินรูปแบบอื่นมากกว่า

แนะนำกลยุทธ์การลงทุนในเดือน พ.ค. 63 แนะจัดพอร์ตเตรียมรับความผันผวนของตลาด โดยเน้นเลือกลงทุนในหุ้นที่ผันผวนต่ำ ปันผลสูง โดยแนะนำ DCC เติบโตสวนกระแสบริษัทอื่นๆ ที่ผลประกอบการหดตัว, STA ความต้องการของถุงมือยางปรับตัวขึ้นมากในช่วงการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19, RATCH เป็นหุ้น Defensive และปันผลสม่ำเสมอ, IVL ช่วงไตรมาส 2 เป็นช่วงไฮซีซันธุรกิจ, COM7 ระบายสินค้าออกในช่วงที่ผ่านมาอย่างต่อเนื่อง รองรับสินค้าใหม่ๆ ที่จะเริ่มจำหน่ายหลังโควิด-19 คลี่คลาย และเทคโนโลยี 5G, KBANK ราคาปรับฐานลงมามากเกินไป พร้อมกันนี้แนะนำให้หลีกเลี่ยงหุ้น Over Value อย่าง ERW และ DELTA

นายเทิดศักดิ์กล่าวว่า นักลงทุนยังคงให้ความสนใจกับประเด็นของการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ปัจจุบันหลายประเทศได้ผ่านจุดพีกไปแล้ว เช่น สหรัฐ เยอรมนี อังกฤษ และประเทศอื่นๆ ในสหภาพยุโรป ระยะต่อไปคือ การกลับมาเปิดประเทศให้ระบบเศรษฐกิจสามารถขับเคลื่อนต่อไปได้ ซึ่งดัชนีตลาดหุ้นทั่วโลกก็ได้เริ่มตอบรับไปบ้างแล้ว โดยได้ปรับเพิ่มขึ้นมาจากจุดต่ำสุด สำหรับภาพรวมเศรษฐกิจทั่วโลกคาดว่าในช่วงครึ่งแรกปีนี้คาดว่าจะไม่ดีนัก เพราะได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 โดยกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) คาดการณ์แนวโน้มเศรษฐกิจโลก (World GDP) ปี 63 ติดลบราว 3% เมื่อเทียบกับปีก่อน แต่ยังมีบางประเทศเศรษฐกิจสามารถเติบโตได้ เช่น เวียดนาม อินโดนีเซีย จีน ฟิลิปปินส์ และอินเดีย ส่วนประเทศไทยคาดว่าจะติดลบสูงถึง 6.7% ก่อนที่ในปี 64 จะฟื้นตัว 6.1% ในส่วนของประเทศไทย การกลับมาเริ่มผ่อนคลายมาตรการควบคุมสถานการณ์ในประเทศ หลังจากพบตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่ทรงตัวอยู่ในระดับต่ำต่อเนื่อง โดยให้ภาคธุรกิจเริ่มทยอยกลับมาดำเนินการปกติ แต่คงไม่ช่วยให้เศรษฐกิจในประเทศฟื้นตัวได้มากนัก เพราะการเว้นระยะห่างของผู้บริโภคที่ยังคงต้องมีอยู่ และการใช้ พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินที่ยังคงมีอยู่ ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจคงจะฟื้นตัวแบบค่อยเป็นค่อยไป ขณะที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) เตรียมประกาศตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ไตรมาส 1/63 ในวันที่ 18 พ.ค.นี้ เบื้องต้นฝ่ายวิจัยประเมินว่าตัวเลข GDP ของไทยมีโอกาสกลับมาติดลบ ในทิศทางเดียวกับประเทศอื่นๆ ที่มีการประกาศตัวเลข GDP ออกมาก่อนหน้านี้

หลังจากนี้ยังคงต้องติดตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล โดยให้น้ำหนักอยู่ที่การออกพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ทางการเงิน 3 ฉบับ ได้แก่ พ.ร.ก.กู้เงินเพื่อการเยียวยาและดูแลเศรษฐกิจ วงเงิน 1 ล้านล้านบาท, พ.ร.ก.ให้อำนาจธนาคารแห่งประเทศไทยออกซอฟต์โลนเพื่อดูแลภาคธุรกิจโดยเฉพาะ คือ SMEs วงเงิน 5 แสนล้านบาท และ พ.ร.ก.ดูแลเสถียรภาพภาคการเงิน วงเงิน 4 แสนล้านบาท ด้วยการตั้งกองทุนรวม Corporate Bond Liquidity Stabilization Fund (BSF) ซึ่งเป็นแหล่งเงินทุนในการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ดูแลทุกภาคส่วน ซึ่งในเดือน พ.ค.ให้น้ำหนักการอัดฉีดเงินให้ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิดจำนวน 5,000 บาท/ราย ซึ่งต้องจับตาดูว่าเม็ดเงินดังกล่าวจะเพียงพอหรือไม่ และแหล่งเงินทุนมาจากไหน ซึ่งหากทยอยออกมาอย่างต่อเนื่องคาดจะมีผลดีต่อเศรษฐกิจ


กำลังโหลดความคิดเห็น