“สนพ.” ส่งสัญญาณราคาน้ำมันดิบตลาดโลกทรงตัวระดับต่ำท่ามกลางความวิตกกังวลเกี่ยวกับอุปทานล้นตลาด จับตากลุ่มโอเปกพลัสประกาศพร้อมเดินหน้าลดกำลังการผลิตเดือน พ.ค.นี้ ขณะที่โควิด-19 ฉุดยอดการจำหน่ายน้ำมันปาล์มขวดลดไปถึง 30-40% ส่วนเอทานอลที่นำมาผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดมือช่วงเดือน มี.ค.-เม.ย.มีปริมาณกว่า 25 ล้านลิตร
นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เปิดเผยว่า สนพ.ได้ติดตามสถานการณ์ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในตลาดโลกในช่วงวันที่ 20-26 เมษายน 2563 ราคาน้ำมันดิบดูไบ และเวสต์เทกซัส เฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 17.60 เหรียญต่อบาร์เรล และ 3.23 เหรียญต่อบาร์เรล ปรับตัวลดลงจากสัปดาห์ที่แล้ว 3.18 เหรียญต่อบาร์เรล และ 16.88 เหรียญต่อบาร์เรล ตามลำดับ ซึ่งถือเป็นระดับราคาน้ำมันดิบที่ยังคงมีทิศทางที่ทรงตัวระดับต่ำ เนื่องจากตลาดยังกังวลกับปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ที่ปรับสูงขึ้นต่อเนื่อง หลังความต้องการใช้น้ำมันตลาดโลกชะลอตัวลงจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19
ทั้งนี้ ราคาตลาดโลกดังกล่าวเมื่อสะท้อนมายังราคาขายปลีกของไทยพบว่าค่าเงินบาทของไทยแข็งค่าขึ้นจากสัปดาห์ที่แล้ว 0.21 บาทต่อเหรียญสหรัฐ มาอยู่ที่ระดับเฉลี่ย 32.6315 บาทต่อเหรียญสหรัฐ ต้นทุนน้ำมันเบนซินลดลง 0.16 บาทต่อลิตร ในขณะที่ต้นทุนน้ำมันดีเซลลดลง 1.22 บาทต่อลิตร ทำให้ค่าการตลาดของน้ำมันเบนซิน น้ำมันแก๊สโซฮอล์ และน้ำมันดีเซล เฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 2.11 บาทต่อลิตร และค่าการกลั่นเฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 1.25 บาทต่อลิตร
“กลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมันและพันธมิตรหรือกลุ่มโอเปกพลัส (OPEC+) ประกาศพร้อมร่วมเดินหน้าลดกำลังการผลิต โดยจะเริ่มขึ้นในเดือน พ.ค. 63 ตามข้อตกลงในการประชุมฉุกเฉินในช่วง 12 เม.ย. 63 ที่ผ่านมา ทั้งยังเตรียมประชุมฉุกเฉินอีกครั้งในช่วงต้นเดือน พ.ค. อย่างไรก็ดี ซาอุฯ เริ่มลดปริมาณการผลิตน้ำมันลงสู่เป้าหมายการผลิตตามข้อตกลง OPEC+ ที่ระดับ 8.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน เช่นเดียวกับรัสเซียที่ประกาศพร้อมลดกำลังการผลิตและส่งออกน้ำมันดิบลงตามข้อตกลงเช่นกัน นอกจากนั้น ตลาดได้รับปัจจัยบวกจากการที่สหรัฐฯ ประกาศแนวทางทยอยเปิดเศรษฐกิจเพื่อให้ประชาชนกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติ ดังนั้นคงจะต้องติดตามใกล้ชิด” นายวัฒนพงษ์กล่าว
อย่างไรก็ตาม แม้ว่ากลุ่มโอเปกพลัสจะบรรลุข้อตกลงการปรับลดการผลิตน้ำมันดิบในช่วงต้นเดือนที่ผ่านมา แต่ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้น้ำมันทั่วโลกที่ปรับตัวลดลงอย่างมากจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 โดยสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ (EIA) รายงานปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ประจำสัปดาห์สิ้นสุด 17 เม.ย. 63 ปรับตัวเพิ่มขึ้น 15 ล้านบาร์เรล ขณะที่ปริมาณน้ำมันเบนซินคงคลังสหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นราว 1 ล้านบาร์เรล ต่ำกว่าคาดการณ์
นอกจากนี้ สนพ.ได้ติดตามสถานการณ์ราคาน้ำมันชีวภาพ ในช่วงวันที่ 27 เมษายน-3 พฤษภาคม 63 มียอดการจำหน่ายน้ำมันปาล์มขวดลดไปถึง 30-40% จากที่ผลิตเดือนละ 1.2 แสนตัน ปัจจุบันเหลือแค่ 6-7 หมื่นตัน ส่วนเอทานอลที่นำมาผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดมือเดือน มี.ค.-เม.ย. มีปริมาณกว่า 25 ล้านลิตร
โดยราคาเอทานอลอ้างอิงเดือนเมษายน 2563 อยู่ที่ 23.28 บาทต่อลิตร ปรับเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 0.67 บาทต่อลิตร จากปัจจัยที่เกี่ยวข้องทั้งราคามันสำปะหลังที่ปรับสูงขึ้น จากผลผลิตที่ออกสู่ตลาดลดลงจากปัญหาภัยแล้ง และโรคใบด่าง ในขณะที่ความต้องการมันสำปะหลังภายในประเทศก็มีแนวโน้มปรับตัวมากขึ้น ขณะที่ราคากากน้ำตาลที่ปรับสูงขึ้นจากผลผลิตที่ลดลงจากปัญหาภัยแล้ง รวมทั้งปริมาณความต้องการใช้ในการขอนำเอทานอลไปทำเป็นแอลกอฮอล์ในการทำความสะอาดและแอลกอฮอล์เจลในช่วงสถานการณ์โควิด-19